พลังที่ทำให้มนุษย์เจริญก้าวหน้าคือภาษาและวรรณกรรม
ภาษาและเรื่องเล่า คือสิ่งที่ทำให้เผ่าพันธุ์ของเรามนุษย์เจริญก้าวหน้ากว่าสัตว์ชนิดพันธุ์อื่นๆ มาตั้งแต่ยุคโบราณอย่างน้อยสองแสนปีมาแล้ว
เพราะมนุษย์สามารถพัฒนาภาษาที่ช่วยสื่อสารในการใช้ชีวิตและทำงานร่วมกันเป็นหมู่เหล่า การป้องกันตัวจากสัตว์ที่ใหญ่กว่า ดุร้ายกว่า และการล่าสัตว์เพื่อมาเป็นอาหารได้
ขณะที่การเล่าเรื่อง การสวด การร้องเพลงต่างๆ ช่วยส่งเสริมการสร้างรักใคร่กลมเกลียวในหมู่คณะ การเรียนรู้จากกันและกัน ได้รับความสงบสุขทางจิตใจ การปลอบประโลมในยามทุกข์ยาก ความสงสัย คับข้องใจ
การพัฒนาภาษาเขียนของมนุษย์ที่อาจเริ่มเมื่อราว 1 หมื่นปีที่แล้ว ยิ่งทำให้มนุษย์สามารถสะสมและถ่ายทอดความรู้ ความคิดอ่าน ความรู้สึก ที่เป็นประโยชน์ทั้งในการดำเนินชีวิตทางเศรษฐกิจ และต่อชีวิตจิตใจและทางสังคมวัฒนธรรม
ทั้งเรื่องการจดบันทึกเรื่องฤดูกาล การทำการเกษตร การทำบัญชีเรื่องพืชผล การแลกเปลี่ยนค้าขาย พิธีกรรมและแนวคิดการดำเนินชีวิต การใช้ยาสมุนไพร การให้การศึกษาแก่เด็กและเยาวชน
การเรียนรู้เทคโนโลยีและทักษะในการดำเนินชีวิต การวิจัยค้นคว้า การเติบโตทางด้านศิลปวิทยาการและอารยธรรมทุกแขนง ทั้งหมดนี้ทำให้สังคมมนุษย์วิวัฒนาการทางด้านสังคมวัฒนธรรมเหนือกว่าสัตว์ชนิดพันธุ์อื่นอย่างมาก
วรรณกรรม ซึ่งเริ่มจากเรื่องเล่า นิทานปรัมปรา เทพปกรณัม บทกวี บทละคร ที่ต่อมาพัฒนาเป็นเรื่องสั้นและนวนิยาย ไม่เพียงแต่เป็นเรื่องแต่งเพื่อสื่อสารสนองความบันเทิงด้านความคิดจิตใจ อารมณ์ ที่มนุษย์เราต้องการนอกเหนือไปจากเรื่องปัจจัยสี่ในการดำรงชีวิต
วรรณกรรมยังช่วยให้มนุษย์เข้าใจคนอื่น เห็นใจคนอื่น มีความรู้สึกว่าเราต่างเป็นสมาชิกในสังคมเดียวกัน มีชะตากรรมไม่แตกต่างกัน เราควรจะเอาใจเขามาใส่ใจเรา ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน มากกว่าที่จะทำร้ายเอาเปรียบกันและกัน ทำให้คนอื่นเกิดความทุกข์ยาก
ตัวอย่างศิลปวรรณกรรมที่มีบทบาทสำคัญต่อพัฒนาการของมนุษยชาติมาก คือ วรรณกรรมทั้งบทละคร กวี ปรัชญา สังคมศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ของนักคิดนักเขียนชาวกรีกโบราณยุค 2-3 พันปีที่แล้ว
ในโลกตะวันออกเอง จีน อินเดีย เปอร์เซียต่างมีพัฒนาการทางด้านศิลปวิทยาการและวรรณกรรมมาก และมีอิทธิพลต่อประเทศในเอเชียอื่นๆ ทั้งชาวยุโรป ชาวอาหรับ ต่างก็มีการหยิบยืมเรียนรู้แลกเปลี่ยนวิทยาการและเทคโนโลยีจากจีนและอินเดียด้วย
กล่าวโดยรวมก็คือประเทศหรือสังคมที่มีประชาชนหรืออย่างน้อยชนชั้นนำเอาใจใส่เรื่องการเรียน การอ่านมาก กลายเป็นสังคมที่เจริญรุ่งเรืองได้มาก
การปฏิวัติที่สำคัญของมนุษย์ เช่น การปฏิวัติวิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรมในศตวรรษที่ 16-17 การปฏิวัติประชาธิปไตยแบบทุนนิยมในสหรัฐและฝรั่งเศสในศตวรรษที่ 18 มีที่มาจากการเผยแพร่ความรู้และความคิดผ่านตัวหนังสือและการบรรยายหนังสือ
ทั้งบทความ บทละคร นิยาย ของนักเขียนที่สำคัญหลายคน มีบทบาทอย่างสูงในการช่วยให้คนเข้าใจและร่วมสนับสนุนการปฏิวัติประชาธิปไตยแบบทุนนิยมทั้งในอเมริกา ฝรั่งเศส และที่อื่นๆ
ในศตวรรษที่ 20 ระบบทุนนิยมอุตสาหกรรมมีทั้งด้านความเจริญก้าวหน้าทางวัตถุ และด้านเอาเปรียบประชาชนชนคนงาน เอาเปรียบประเทศโลกที่สาม และระบบธรรมชาติสิ่งแวดล้อม
หนังสือของนักคิดและสังคมนิยมอนาคิสต์ ที่คัดค้านระบบทุนนิยม มีบทบาทอย่างสำคัญต่อการปฏิวัติสังคมนิยมในบางประเทศ และทำให้ประเทศทุนนิยมอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ต้องปฏิรูประบบเศรษฐกิจสังคมในประเทศตนให้มีความเสมอภาค เป็นประชาธิปไตยเพิ่มขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการปฏิวัติสังคมนิยมในประเทศของตน
แม้การปฏิวัติทางสังคมทั้งหลายที่ผ่านมาในรอบ 300 ปีที่แล้ว จะมีทั้งด้านเจริญก้าวหน้า และด้านที่สร้างปัญหาความเหลื่อมล้ำต่ำสูง การกดขี่ขูดรีดแรงงานและทรัพยากรธรรมชาติ
แต่มนุษย์เราผู้ได้ประโยชน์จากภาษาและวรรณกรรมก็ได้บทเรียนบางอย่างและพยายามแสวงหาคำตอบกันต่อไป เช่น ตอนนี้นักคิดแนวอนุรักษ์ฟื้นฟูระบบนิเวศก็พยายามหาทางออกให้โลกพ้นจากวิกฤตอยู่
ในประเทศไทย การปฏิวัติประชาธิปไตย 2475 การต่อต้านญี่ปุ่นของขบวนการเสรีไทยในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 การเผยแพร่แนวคิดเรื่องวรรณกรรมเพื่อชีวิต เพื่อสังคม ของนักเขียน นักหนังสือพิมพ์หลายยุคมีบทบาทที่สำคัญ
ในเหตุการณ์เรียกร้องประชาธิปไตย 14 ตุลาคม 2516 ผู้นำนักศึกษาคนเดือนตุลารุ่นแรกๆ ส่วนใหญ่เริ่มมาจากนักอ่าน นักเขียน นักทำหนังสือ ผู้เข้าร่วมสนับสนุนการเรียกร้องประชาธิปไตยไม่ต่ำกว่า 5 แสนคนในยุคนั้นมาจากกลุ่มคนที่สนใจอ่านและฟังเรื่องปัญหาของชีวิตและสังคม
จริงอยู่ที่อาจมีผู้ผลิตวรรณกรรมบางชิ้น เพื่อมุ่งปกปักษ์รักษาสถาบันดั้งเดิมที่ล้าหลังได้ เช่น งานของนักเขียนฝ่ายขวาบางคนในยุคก่อน 6 ตุลาคม 2516 ที่ปลุกระดมให้ประชาชนบางส่วนเกิดความกลัว ความเกลียดชังนักศึกษาอย่างสุดโต่งเกินความจริง
แต่นั่นก็เป็นเรื่องเฉพาะสถานการณ์ และภายหลังจากเหตุการณ์นั้นผ่านพ้นไปแล้ว ผู้คนก็เริ่มรู้เท่าทันงานเขียนประเภทปฏิกิริยาล้าหลังเพิ่มขึ้น
มองในประวัติศาสตร์ระยะยาวแล้ว ภาษาและวรรณกรรมมีส่วนเปิดประตูให้คนเข้าใจคิดในเชิงก้าวหน้าโดยเปรียบเทียบได้เพิ่มขึ้นมากกว่า ถึงประเทศไทยหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 มาจนถึงปัจจุบันยังคงจะมีปัญหามากมาย
แต่กล่าวโดยเปรียบแล้วก็มีความเป็นประชาธิปไตยหรือประชาชนมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกมากกว่าในยุคราชาธิปไตยและยุคเผด็จการทหารจอมพลสฤษดิ์-จอมพลถนอม ช่วง 2501-2516
กล่าวโดยสรุปคือ ภาษาและวรรณกรรมเป็นทั้งเครื่องมือและเป็นศิลปวัฒนธรรมที่สำคัญในการพัฒนาความเจริญก้าวหน้าของมนุษย์ โดยเฉพาะในเรื่องทางด้านความรู้ ความคิดอ่าน ความเชื่อ และจิตวิญญาณ
เราควรตระหนักถึงความสำคัญของเรื่องนี้ และช่วยกันส่งเสริมให้คนทั้งสังคมได้รักการอ่าน การเล่าเรื่อง การเขียน การคิดอย่างวิเคราะห์ สร้างสรรค์
เพื่อที่ประชาชนส่วนใหญ่จะได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคมไทยให้เป็นประชาธิปไตย เป็นธรรม เจริญก้าวหน้า เพื่อคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืนมากขึ้นกว่าในยุคปัจจุบัน.