เรื่องเล่าเพื่อการเปลี่ยนแปลง | บวร ปภัสราทร
ถ้าต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใดๆ ขึ้นมา คงทราบกันดีแล้วว่ามีสามหนทางใหญ่ๆ ที่ใช้สร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้น อยากให้ใครเปลี่ยนไปอย่างไร ก็เอากำลังไปขู่คุกคามให้เขายอมเปลี่ยนแปลงตามที่เราต้องการ ซึ่งโลกในปัจจุบันมองว่าจะเถื่อนไปหน่อย
ผู้บริหารที่เหมือนยาหมดอายุมักจะชื่นชมหนทางการสร้างการเปลี่ยนแปลงด้วยการใช้กำลัง แต่ถ้าเป็นผู้บริหารกระเป๋าหนักมักจะใช้เงินตราเป็นอำนาจ อยากให้เปลี่ยนอย่างไรก็เอาเงินทองเป็นมนตราเสกเป่าการเปลี่ยนแปลงได้ตามชอบใจ ซึ่งถ้าใช้กันเป็นประจำ คงมีโอกาสหมดกระเป๋าได้สักวันหนึ่ง
พอมาถึงยุคเครือข่ายสังคมเฟื่องฟู ผู้คนพากันเล่าเรื่องราวสารพัด บางเรื่องมีฤทธิ์ช่วยทำให้คนอื่นติดอกติดใจ ยอมปรับเปลี่ยนไปตามเรื่องราวที่บอกกล่าวโดยสมัครใจ การเปลี่ยนแปลงที่อยากให้เกิดขึ้นจึงกลายเป็นหนทางที่มีศักยภาพโดดเด่นกว่าการใช้กำลัง และการหว่านรางวัล
เครดิตของคนเล่าเรื่องมีความสำคัญมากในการที่จะสร้างความผูกพันของผู้คนเข้ากับสาระสำคัญของเรื่องเล่านั้น เมื่อมีความผูกพัน การให้ความร่วมมือในการสร้างการเปลี่ยนแปลงก็ตามมาด้วยความเต็มใจ
ถ้าบอกได้ชัดๆ ว่ากว่าจะมาเป็นเรื่องเล่าเรื่องนี้ คนเล่าทำอะไรมาบ้าง ผู้นำที่เป็นคนเล่าเรื่องนี้มีคำพูดที่น่าเชื่อถือมากแค่ไหน เคยโกหกให้คนจับได้มากแค่ไหน ถ้าปูมหลังไม่ดี อย่าพยายามใช้เรื่องเล่าเป็นเครื่องมือในการสร้างการเปลี่ยนแปลง เพราะเรื่องเล่าเกี่ยวกับอนาคตที่เล่าโดยคนโกหก เป็นได้เพียงละครอีกฉากหนึ่งเท่านั้น ไม่ส่งผลให้เกิดแรงบันดาลใจใดๆ ขึ้นมาได้
(ภาพถ่ายโดย Till Daling)
แต่ไม่ใช่ทุกเรื่องที่เล่าจะมีคนติดอกติดใจ บางคนไลฟ์เฟซบุ๊กเล่าเรื่องงาน มีคนติดตามเป็นแสน ในขณะที่บางคนเล่าเรื่องแบบบังคับให้ดูผ่านทุกช่องโทรทัศน์กลับแทบไม่มีคนติดตาม เล่าอะไรไปคนก็ไม่ใส่ใจ เรื่องเล่าแทบทั้งหมดกลายเป็นเรื่องตลกร้าย ผู้คนพากันนินทาไปต่างๆ นานา
เรื่องเล่าที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้นั้นขึ้นต้นด้วยการสร้างความรู้สึกว่าเรื่องเล่านั้นเป็นเรื่องของทุกคน เป็นเรื่องที่ทุกคนเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ขึ้นต้นเรื่องด้วยการแสดงความเป็นพวกเดียวกัน ขึ้นต้นเรื่องด้วยการแสดงให้เห็นว่ามีความเข้าอกเข้าใจความเป็นมาเป็นไปของผู้คนที่เกี่ยวข้องเป็นอย่างดี ใครๆ ก็ชอบฟังเรื่องเล่าที่ตนเองรู้สึกมีส่วนร่วม ไม่มีใครอยากฟังเรื่องเล่าที่เป็นเรื่องเฉพาะตัวของคนเล่า ไม่ว่าคนนั้นจะเป็นใครก็ตาม
การเลือกเรื่องเล่าที่ต้องการให้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลง อาจเริ่มต้นด้วยเรื่องการเปลี่ยนแปลงที่ได้เกิดขึ้นแล้วในบ้านอื่นเมืองอื่น ซึ่งจะเล่าเรื่องได้จะต้องเสาะหาความรู้เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนั้นเป็นอย่างดี พยายามโยงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนั้น เข้ากับบริบทที่พบเจออยู่ เพื่อให้คนเปิดใจยอมรับฟัง
พยายามใช้เรื่องเล่านั้นบอกความสำคัญของบทบาทของแต่ละคน คนเราจะตั้งอกตั้งใจฟังเรื่องเล่าก็ต่อเมื่อรู้สึกว่าตนเองเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงนั้น ใช้เรื่องเล่าชี้แนะให้เห็นว่าแต่ละคนจะช่วยได้อย่างไร และจะดีขึ้นอย่างไรเมื่อการเปลี่ยนแปลงตามเรื่องเล่านั้นเกิดขึ้น
(ภาพถ่ายโดย Matheus Bertelli)
เล่าเรื่องให้เข้าใจได้ง่าย หลีกเลี่ยงเรื่องราวทางเทคนิคที่เข้าใจได้ยาก เล่าอย่างมีอารมณ์ร่วมกับคนรับฟัง ไม่ใช่เล่าแบบสั่งสอนสั่งการ แต่เล่าเหมือนคุยกันในร้านกาแฟ แสดงอารมณ์ไปตามสาระที่เล่าออกไป
ถ้าเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับความล้มเหลวที่ผ่านมาของคนเล่า พยายามอย่าให้กลายเป็นการแก้ตัว อย่าให้กลายเป็นเรื่องทุกข์มากเกินไป แต่เลี่ยงไปเน้นให้เป็นบทเรียนสำหรับคนอื่น หลีกเลี่ยงเรื่องเล่าที่เจาะจงไปที่ความล้มเหลวใดๆ ของคนอื่น เล่าเรื่องความล้มเหลวของคนอื่นไม่ได้สร้างแรงบันดาลใจให้ใคร
เติมเต็มสีสันของเรื่องเล่าด้วยการกล่าวถึงเหตุการณ์ทั้งดีทั้งแย่ที่เคยพบมา ถ้าเป็นไปได้ควรเป็นเรื่องเล่าที่มีความต่อเนื่องไปตามเวลาที่เกิดเหตุการณ์เหล่านั้น เล่าเสมือนหนึ่งว่าคนรับฟังเป็นผู้ร่วมเดินทางในชีวิตที่ผ่านมา ซึ่งอาจสร้างแรงบันดาลใจ แรงจูงใจให้เดินหน้าไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่คาดหวังได้
อย่าไปหวังว่าแค่เรื่องเล่าแค่สองสามเรื่องจะสร้างแรงบันดาลใจให้คนติดตาม จนส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใดๆ อย่างทันอกทันใจ แต่ให้เน้นการกระทำอย่างต่อเนื่องและคงเส้นคงวา แล้วเฝ้าดูระดับความผูกพันที่เกิดขึ้นกับเรื่องที่เล่ากันไปว่าเพิ่มขึ้นหรือไม่
พร้อมๆ กับที่รับฟังเรื่องเล่าของคนอื่นไปด้วย เผื่อว่าจะได้อะไรมาเติมเต็มความผูกพัน อย่าผูกขาดการเล่าเรื่องไว้ที่ตนเองเพียงข้างเดียว เขาฟังเราเล่าได้ เราก็ต้องพร้อมที่จะฟังเขาเช่นเดียวกัน
คอลัมน์ : ก้าวไกลวิสัยทัศน์
รศ.ดร.บวร ปภัสราทร
คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี