สังคมนิยมแนวอิสระนิยม (Libertarian Socialism)

สังคมนิยมแนวอิสระนิยม (Libertarian Socialism)

Libertarianism คติอิสระนิยม ก้าวหน้ากว่าคติเสรีนิยม ในแง่การเน้นเรื่องเสรีภาพส่วนบุคคล และปฏิเสธการแทรกแซงของรัฐบาล แนวคิดอิสระนิยมมีทั้งที่เอนไปทางซ้ายแบบสังคมนิยม และเอนไปทางฝ่ายขวาแบบปัจเจกนิยม ที่ยังเชื่อถือในระบบทุนนิยมซึ่งเชื่อว่าคือระบบตลาดเสรี

แต่อิสระนิยมที่ไปทางซ้ายคือพวกสังคมนิยมและโดยเฉพาะพวกสังคมนิยมแนวอนาคิสม์ (ประชาชนจัดการตนเอง) ปฏิเสธไม่ยอมรับอิสระนิยมของฝ่ายขวา เพราะเห็นว่าเสรีภาพเป็นเรื่องของคนทั้งสังคม ไม่ใช่แค่ปัจเจกชนชนชั้นกลาง

พวกสังคมนิยมแนวอนาคิสม์หรือสังคมนิยมแบบอิสระนิยม เห็นต่างจากพวกมาร์กซิสต์เน้นให้ชนชั้นกรรมาชีพยึดอำนาจรัฐ พวกเขาเห็นว่าการคงมีรัฐไว้จะทำให้เกิดอำนาจรัฐ ชนชั้นปกครองกลุ่มใหม่ ที่จะไม่ทำให้สังคมเกิดความเสมอภาคและเสรีภาพได้อย่างแท้จริง

พวกสังคมนิยมอนาคิสต์เสนอว่า ประชาชนควรจัดการเรื่องเศรษฐกิจการเมืองสังคมด้วยตนเองผ่านองค์กรประชาชนรูปแบบต่างๆ และเครือข่ายสหพันธ์องค์กรประชาชน โดยไม่ต้องมีรัฐบาลกลาง

สังคมนิยมแนวอิสระนิยม (Libertarian Socialist) เน้นเรื่องเสรีภาพส่วนบุคคลคู่กันไปกับความเสมอภาค พรรคสังคมนิยมแบบประชาธิปไตยในยุโรปเหนือมีแนวคิด/นโยบายค่อนไปในทางนี้

พวกสังคมนิยมแนวอิสระนิยมเห็นว่าการจะสร้างเสรีภาพสำหรับทุกคนได้ ต้องมีการเปลี่ยนแปลงทางระบบเศรษฐกิจเพื่อสร้างความเสมอภาคทางสังคมควบคู่กันไปด้วย

อย่างน้อยเรื่องความเสมอภาคทางโอกาสและความเสมอภาคในเชิงเปรียบเทียบ คือไม่มีความยากจน ความเหลื่อมล้ำต่ำสูงมากเกินไปอย่างในระบบทุนนิยม ซึ่งโดยโครงสร้างเองคือ ผู้สร้างปัญหานี้

การที่ยุโรปตะวันตกปฏิวัติทางความคิดเป็นเสรีนิยมมาแทนที่จารีตนิยมได้ก่อนประเทศอื่นๆ ตั้งแต่ศตวรรษที่ 17-18 ทำให้ยุโรปพัฒนาทุนนิยมอุตสาหกรรม เศรษฐกิจ สังคม พัฒนาเจริญก้าวหน้ากว่าประเทศอื่นๆ ในหลายเรื่อง

แต่ระบบเสรีนิยมทางเศรษฐกิจของยุโรปและสหรัฐอเมริกา (ที่แผ่ขยายไปจากยุโรป) นำไปสู่ลัทธิล่าเมืองขึ้น ลัทธิจักรวรรดินิยม ที่กดขีดขูดรีดประเทศอื่นๆ และทำลายระบบนิเวศของโลกทั้งโลก สร้างความไม่สมดุล ความขัดแย้ง สงคราม ปัญหาเหลื่อมล้ำต่ำสูง ปัญหาทางสังคม ปัญหาการทำลายสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศ ฯลฯ ตามมามากมายในขณะเดียวกัน

สังคมนิยมแนวอิสระนิยม รุ่นหลังมักจะรวมแนวคิดกลุ่มต่างๆ เช่น Feminism (สิทธิสตรีนิยม) Ecologism, Enviromentalism การอนุรักษ์และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม Pluralism คติพหุนิยม ที่นิยมความหลากหลาย ฯลฯ

ที่เอ่ยมาเข้าไว้ในแนวคิด นโยบายของพวกตนด้วย หรือเป็นพันธมิตรกัน เช่น พรรคกรีน ในบางประเทศที่เน้นเรื่องอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม มักเป็นพวกฝ่ายสังคมนิยมประชาธิปไตยด้วย เป็นพวก Left Green

Libertarian Socialism สังคมนิยมแนวอิสระนิยม เสนอให้คนงานและประชาชนเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตร่วมกัน จัดการตนเองร่วมกันในรูปแบบสหกรณ์และสมาคม องค์กรภาคเอกชนต่างๆ ต่างจากสังคมนิยมแบบรัฐเป็นเจ้าของ (พวกมาร์กซิสต์ เลนินนิสต์) ซึ่งมีลักษณะอำนาจนิยม (Authoritarian)

ที่ทำให้สังคมนิยมแบบอดีตสหภาพโซเวียตรุสเซียและประเทศสังคมนิยมแบบวางแผนจากส่วนกลางอื่นๆ คงมีความไม่เสมอภาค ความไม่มีเสรีภาพ (ส่วนบุคคล) และในที่สุดก็นำไปสู่ความล้มเหลว กลายเป็นระบบทุนนิยมโดยรัฐและต่อมาเป็นทุนนิยมเอกชนไป

สังคมนิยมแบบอิสระนิยม ที่คัดค้านทั้งระบบรัฐส่วนกลางและระบบทุนนิยมอุตสาหกรรมผูกขาด ทั้งทุนนิยมเอกชน/และทุนนิยมโดยรัฐเน้นเรื่องการกระจายอำนาจ ทรัพยากร และประชาธิปไตยทางตรงในแนวราบ

การบริหารจัดการและช่วยเหลือกันและกันของคนงานและประชาชนอาชีพต่างๆ ไม่ได้ปฏิเสธเรื่องทรัพย์สินส่วนตัวที่จำเป็น แต่ปฏิเสธเรื่องการครอบครองทรัพย์สินส่วนบุคคลเฉพาะทรัพย์สินที่ใช้เป็นปัจจัยการผลิตที่นำไปสู่การเอาเปรียบคนอื่นได้

            พวกสังคมนิยมแบบอิสระนิยมคัดค้านทุนนิยม และเห็นว่าควรให้ส่วนรวมเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต เพื่อความเป็นธรรมทางสังคมแต่สนับสนุนเรื่องเสรีภาพของปัจเจกชนด้วย พวกเขาเชื่อว่ามนุษย์มีธรรมชาติที่จะร่วมมือกันและทำเพื่อสังคมส่วนรวมหรือสามารถได้รับการศึกษาให้มีจิตสำนึกเช่นนั้นได้

พวกเขาจึงเชื่อว่าเราสามารถบริหารจัดองค์กรทางสังคมแบบประชาชนจัดการตนเองให้คนในสังคมอยู่ร่วมกันอย่างสันติและมีประสิทธิภาพโดยความเข้าใจ/จิตสำนึก โดยไม่จำเป็นต้องใช้อำนาจบังคับของรัฐ แม้จะเป็นรัฐแบบสังคมนิยมก็ตาม

สังคมอนาคตว่าจะเป็นสังคมที่ปราศจากการกดขี่ขูดรีดและความไม่เสมอภาค และจะเป็นสังคมที่ “มีเหตุผล” หรือ “ธรรมชาติ” มากกว่าสังคมใดที่เกิดปรากฏอยู่ โดยจะมีการกระจายผลผลิตอย่างยุติธรรม ประชาชนจะมีสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลอย่างเต็มที่ ได้รับการศึกษาที่ทำให้พวกเขามีจิตสำนึกในการร่วมมือกันเพื่อส่วนรวม โดยไม่จำเป็นต้องมีรัฐบาล

โครพอตกิ้น เสนอแนวทาง Communism แบบอนาคิสต์ หรือคติประชาคมนิยม แบบประชาชนจัดการตนเอง สินค้าทางวัตถุทุกอย่างจะต้องเป็นกรรมสิทธิ์ร่วมกันของประชาคม (คอมมูน) และประชาคมระดับท้องถิ่นจะเป็นผู้จัดสรรว่าจะสนองความต้องการของสมาชิกอย่างไร

            พวกอนาคิสต์เคยจัดตั้งชุมชน/สังคมตามแนวคิดของพวกเขาได้บางพื้นที่ได้แต่อยู่แค่ช่วงสั้นๆ เพราะถูกปราบปรามอย่างรุนแรง เช่น ในยูเครนในช่วงปฏิวัติสังคมนิยมรุสเซียในปี 1917 แต่ต่อมาถูกพรรคบอลเชวิครุสเซียปราบในปี 1921 ในบาร์เซโลน่าและเขตใกล้เคียงในสเปนช่วงการปฏิวัติสเปนหรือสงครามกลางเมือง ปี ค.ศ. 1936-1939

พวกสังคมนิยมแนวมาร์กซิสต์เลนินนิสต์ปฏิวัติได้สำเร็จ ในสหภาพโซเวียตรุสเซียและประเทศอื่นๆ แต่ต่อมาระบบสังคมนิยมแบบวางแผนจากส่วนกลางโดยรัฐบาลกลางของพวกเขาต่างล้มเหลว เปลี่ยนแปลงไปเป็นระบบทุนนิยมหรือบางแห่งผสมกับระบบทุนนิยมโดยรัฐแทน

ขณะที่สังคมนิยมแบบใช้อำนาจรัฐส่วนกลางสูงล้มเหลว สังคมนิยมแบบประชาชนจัดการตนเองแนวอนาคิสต์ยังไม่ได้ทดลองใช้ได้นานพอ พวกเขาถือว่าสังคมนิยมที่แท้ยังไม่แพ้ส่วนที่แพ้ เป็นเรื่องเฉพาะกรณีของการลองถูกลองผิดของบางประเทศเท่านั้นด้วย

แนวคิดอนาคิสต์แบบประชาชนจัดการตนเองอย่างเป็นประชาธิปไตยแนวราบ ยังคงให้แรงบันดาลใจต่อทฤษฎีและภาคปฏิวัติของขบวนการเรียกร้องสิทธิสตรี (Feminist) สมัยใหม่ และพวกต่อต้านทุนนิยมโลก (Global Capitalism) ในยุคปัจจุบัน.