การศึกษาแบบอิสรเสรีแนวอนาคิสต์ | วิทยากร เชียงกูล
นักปฏิรูปการศึกษาแนวอิสรเสรี (Libertarian) และแนวอนาคิสต์ ที่เน้นให้ประชาชนจัดการตนเองโดยไม่พึ่งรัฐ มีแนวคิดเรื่องการศึกษาที่ก้าวหน้า เช่น ส่งเสริมให้ผู้เรียนมีอิสรเสรีในการเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ และพัฒนาจิตสำนึกรับผิดชอบด้วย
พวกอนาคิสต์มองเรื่องการจัดการศึกษา เป็นส่วนที่สำคัญของการปฏิวัติสังคมแบบกระจายอำนาจ ทรัพยากร ให้ประชาชนหน่วยผลิตย่อยๆ จัดการตนเองอย่างเป็นระบบ
นักคิดอนาคิสต์ เช่น บูคานิน โครพอตกิน มองว่าระบบการจัดการศึกษาขึ้นอยู่กับบริบททางสังคม ในสังคมเจ้าขุนมูลนายและทุนนิยมการศึกษาจะครอบงำให้คนเชื่อฟังระบบอำนาจเก่า เน้นแต่เรื่องวิชาชีพและจัดการศึกษาให้คนรวยกับคนจนแตกต่างกัน เกิดความเหลื่อมล้ำทางชนชั้นในสังคมมากขึ้น
โครพอตกิน เสนอว่าเราต้องทำทั้ง 2 อย่างคือ ปฏิวัติระบบเศรษฐกิจสังคมให้เป็นธรรมตามแนวคิดสังคมนิยมแบบอนาคิสต์ (การปกครองตนเองของประชาชนในหน่วยต่างๆ แล้ว) และปฏิวัติทางการศึกษาให้คนเข้าใจสังคมแบบใหม่ ให้คนได้เรียนรู้ทั้งการใช้แรงงานกายและแรงงานสมองควบคู่ไป คือไม่ใช่แค่พัฒนาวิชาชีพ แต่ต้องพัฒนาภูมิปัญญาด้วย
Francisco Ferrer (1859-1909) นักการศึกษาชาวสเปน ได้ก่อตั้งโรงเรียนสมัยใหม่ Modern School ในปี ค.ศ.1901 (ร้อยกว่าปีแล้ว) มีเป้าหมายในการจัดการศึกษาให้ชนชั้นคนงานได้รู้จักคิดอย่างมีเหตุผล ศึกษาเรื่องต่างๆ ในเชิงโลกฆราวาส ในบรรยากาศที่อิสรเสรี ไม่มีการบังคับ
ตรงกันข้ามกับโรงเรียนรัฐบาลสเปนที่ควบคุมโดยศาสนจักรคาทอลิกในยุคนั้น ที่เน้นเรื่องการประพฤติตามหลักศาสนา เน้นระเบียบวินัย การลงโทษ สอนให้คนท่องจำแบบลัทธิคัมภีร์ ให้เชื่อฟังรัฐและศาสนจักร เชื่อฟังสิทธิอำนาจของการจัดองค์กรสังคมแบบลดหลั่นกันเป็นชั้น
Ferrer ส่งเสริมให้การฝึกอบรมครูแนวใหม่ ครูเป็นนักเสรีนิยมแบบใจกว้าง เป็นผู้ชี้แนะให้ผู้เรียนได้ฝึกการคิด การตัดสินใจ การเข้าใจ มีจิตสำนึกด้วยตัวของเขาเอง เข้าใจเรื่องความเป็นธรรม ความเป็นอิสรเสรีและความจำเป็นของการใช้ชีวิตแบบช่วยเหลือกันและกันเพื่อประโยชน์ของกลุ่มด้วย
ปรัชญาการศึกษาของ Ferrer เน้นเรื่องความมีเหตุผล ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ การพึ่งตนเองได้ และการสังเกต วิจัยอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ (หาหลักฐาน พยาน และมีเหตุผล) เน้นการเรียนรู้จากการทดลองจากชีวิตจริง จากประสบการณ์ การออกไปสัมผัสชีวิตจริงมากกว่าการอ่านตามตำรา ผสมผสานการเรียนรู้เรื่องการทำงานด้วยมือควบคู่ไปกับการทำงานด้วยสมอง
Ferrer มองว่าเด็กมีธรรมชาติที่ดีที่อยากรู้อยากเห็น คิดสร้างสรรค์ได้ เราควรส่งเสริมให้พวกเขามีเสรีภาพในการเรียนรู้ด้วยตนเอง ครูเป็นผู้อำนวยความสะดวกด้วยความรัก ความอบอุ่น เปิดให้พวกนักเรียนเรียนรู้ที่จะคิดตัดสินใจรับผิดชอบ มีวินัยด้วยตัวของพวกเขาเองอย่างเข้าใจถึงเรื่องเสรีภาพ ความรับผิดชอบ เหตุผลความจำเป็นเพื่อประโยชน์ของกลุ่มหรือส่วนรวม
โรงเรียนแนวใหม่ของเขาละเว้นเรื่องการสอบ การลงโทษ และการให้รางวัลแบบดั้งเดิม ซึ่งเขามองว่าเป็นการทำให้เด็กได้คะแนนดีเหลิงและเด็กที่ได้คะแนนต่ำสูญเสียความภูมิใจในตัวเอง และเป็นเรื่องที่ครูใช้อำนาจแบบบีบคั้นเด็กในทางลบมากกว่าที่จะส่งเสริมในทางบวกให้เด็กเรียนรู้และพัฒนาตัวเขาเอง
ครูเป็นเพียงผู้ชี้แนะ การทดสอบถ้าจะมีต้องเพื่อประโยชน์ในการดูและการพัฒนาของเด็กแต่ละคนไม่ใช่เพื่อการแข่งขันแบบแพ้คัดออก
ตอนที่จัดตั้งโรงเรียนแนวใหม่ Ferrer ประกาศว่า “ผมจะสอนพวกเขาเฉพาะความจริงอย่างพื้นๆ ผมจะไม่ใส่แนวคิดอุดมการณ์ใดเขาไปในหัวของพวกเขา ผมจะไม่ปิดบังซ่อนเร้นข้อเท็จจริงใดๆ เลย ผมจะไม่สอนว่าเขาควรจะคิดอะไร แต่จะสอนว่าเขาควรจะฝึกคิดอย่างไร”
พวกอนาคิสต์มองว่า โรงเรียนแบบใหม่ที่เน้นเรื่องเสรีภาพของผู้เรียนและการเรียนเรื่องชีวิตจริงในโลก นอกจากจะลดอิทธิพล การครอบงำอุดมการณ์ของชนชั้นสูงจากศาสนจักรและรัฐแล้ว ยังจะทำให้ประชาชนฉลาดขึ้นอย่างรู้จักคิดอย่างมีเหตุผล
และประชาชนจะคิดสร้างสรรค์ ทำงานเพื่อส่วนรวมได้ดีขึ้นด้วย เป็นพลเมืองที่ฉลาด เอาการเอางาน เข้าใจเรื่องการสร้างสังคมแบบประชาชนจัดการตนเองทั้งเพื่อประโยชน์ส่วนตัวและประโยชน์ส่วนรวม
โรงเรียนแนวใหม่ที่เมืองบาร์เซโลนาของ Ferrer เปิดได้เพียงราว 4-5 ปี (ปี 1901-1906) เพราะถูกศาสนจักรและรัฐบาลหัวเก่าต่อต้าน แต่เขาเขียนหนังสือและเชิญปัญญาชนนักเขียนทั่วยุโรปช่วยกันเขียนตำราเรียนและหนังสือให้ความรู้แนวใหม่ด้วย
แนวคิดของเขาได้แพร่หลายทั้งในสเปน (ราว 120 โรงเรียน) ฝรั่งเศส อังกฤษ อิตาลี และไปไกลถึงสหรัฐและบราซิล เกิดขบวนการ Ferrer ที่เน้นการจัดการศึกษาหรือโรงเรียนแนวใหม่ที่เน้นเรื่องเหตุผล ศักดิ์ศรีมนุษย์ การเรียนรู้และพึ่งตนเอง และการสังเกตอย่างเป็นวิทยาศาสตร์
ที่นิวยอร์กและสเกลตัน สหรัฐ โรงเรียนแนวนี้ที่ดำเนินการโดยฝ่ายซ้ายและพวกอนาคิสต์ ดำเนินการอยู่ถึง 42 ปี (ปี 1911-1953)
Ferrer เป็นนักการศึกษาหัวก้าวหน้ารุ่นแรกๆ ที่มีอิทธิพลต่อนักการศึกษาหัวก้าวหน้ารุ่นต่อๆ มาอีกหลายคน รวมทั้งอิวาน อิลลิช ผู้เขียนเรื่อง Deschooling (เลิกระบบโรงเรียนแบบเก่า) เอ.เอส.นิลส์ ผู้ก่อตั้งโรงเรียนซัมเมอร์ฮิลล์ในอังกฤษก็มีแนวคิดเรื่องการศึกษาในแนวอิสรเสรีในทำนองคล้ายกัน
แม้ว่านักการศึกษาหัวก้าวหน้าเหล่านี้ จะไม่ใช่พวกนักปฏิวัติอนาคิสต์ แต่นักคิด นักการศึกษา แบบเสรีประชาธิปไตยก้าวหน้าหลายคนได้เสนอแนวทางการปฏิรูปการศึกษา ปฏิรูปโรงเรียนมาในแนวใกล้เคียงกันกับพวกอนาคิสต์
“เป็นเรื่องจำเป็นที่เราควรตระหนักว่า การจัดการศึกษาสำหรับเด็กไม่ใช่เรื่องเดียวกับวิธีการฝึกฝนให้เด็กรู้จักการอยู่ร่วมกันเป็นฝูง ถ้าหากการศึกษาควรจะเป็นสิ่งที่มีความหมายอย่างใดอย่างหนึ่ง การศึกษาต้องเน้นการเติบโตและการพัฒนาอย่างเป็นอิสระ ทั้งพลังภายในตัวของเด็กและแนวโน้มของพวกเขาแต่ละคน
ด้วยวิธีการจัดการศึกษาแบบนี้เท่านั้น เราจึงหวังที่จะสร้างปัจเจกชนที่เป็นอิสระ และสังคมที่เป็นอิสระ ที่จะไม่มีสิ่งใดมากีดขวางและบีบบังคับการเจริญงอกงามของมนุษย์ได้”
เอ็มมา โกลด์แมน (1869-1940)
นักปฏิวัติและนักสิทธิสตรีแนวอนาคิสต์ชาวอเมริกันเชื้อสายลิทัวเนีย