5 ข้อเสนอ ถึงผู้นำคนใหม่ ปฏิรูป 'การศึกษา' อย่างไรให้เกิดขึ้นได้จริง
ภาคีเครือข่ายเพื่อการศึกษาไทย เสนอ 5 ข้อเสนอ เพื่อก้าวข้ามความท้าทาย 'การศึกษาไทย' ผลักดันสู่ นโยบายการศึกษากับพรรคการเมือง ฟื้นชีวิตเรียนรู้ใหม่ หนุนเด็กไทยก้าวทันโลก สร้างเด็กสมรรถนะสูง รับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต
Key Point :
- การศึกษาไทยมีปัญหาโดยภาพรวม หยั่งรากลึกมาตั้งแต่ก่อนโควิด-19 เด็กไทยยังไม่มีความรู้พื้นฐานพอใช้งานจริง การสอบ PISA ในปี 2018 พบว่า เด็กไทยกว่า 57% ไม่สามารถอ่านจับใจความได้
- เมื่อโควิด-19 ระบาด เหมือนเป็นการตอกย้ำแผลเก่า การปิดโรงเรียนทำให้การเรียนไม่ต่อเนื่อง โดยเฉพาะเด็กอนุบาลมีทักษะคำนวณและความจำเพื่อใช้งานลดลง อีกทั้ง มีเด็กยากจนเสี่ยงหลุดออกจากระบบเพิ่ม
- การจะปฏิรูปการศึกษา จึงต้องเริ่มจากนโยบาย โดย ภาคีเพื่อการศึกษาไทย เสนอ 5 ข้อเสนอ ก้าวข้ามความท้าทาย 'การศึกษาไทย' สำหรับพรรคการเมืองที่จะก้าวเข้ามาเป็นผู้นำในอนาคต เพื่อหนุนเด็กไทยให้ก้าวทันโลก
เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2566 ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวในเวทีนโยบายการศึกษากับพรรคการเมือง ชวนพรรคร่วมคิด ฟื้นชีวิตเรียนรู้ใหม่ หนุนเด็กไทยก้าวทันโลก โดยระบุว่า เรื่องการศึกษาเป็นเรื่องที่ต้องถกกันระยะยาว เพราะการสร้างคนต้องใช้เวลา เพราะฉะนั้น ข้อเสนอจากภาคีเพื่อการศึกษาไทย Thailand Education Partnership (TEP) ซึ่งมีองค์กรสมาชิกจำนวนมาก และได้พูดคุยกับประชาชน พ่อแม่ ครู ผู้อำนวยการ ตลอดจนเด็กๆ หากพรรคการเมืองเห็นด้วยในนโยบายดังกล่าวและนำไปปรับใช้ ประเทศไทยจะมีโอกาสปฏิรูปการศึกษาไทยได้ดีขึ้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ร่างกม.ปฏิรูปการศึกษา เกือบสะดุด หลัง "ฝ่ายค้าน" เสนอญัตติให้ถอน แต่แพ้โหวต
- การปฏิรูปการศึกษาโดยภาคประชาชน | วิทยากร เชียงกูล
- ปฏิรูปการเรียนรู้ให้ประชาชนฉลาดขึ้นได้อย่างไร | วิทยากร เชียงกูล
“การศึกษาไทยมีปัญหามานานหยั่งรากลึกพอสมควรก่อนโควิด-19 และที่สำคัญ คือ ปัญหาการศึกษาไทยโดยรวม เด็กไทยยังไม่มีความรู้พื้นฐานพอใช้งานจริง โดยการสอบ PISA ในปี 2018 พบว่า เด็กไทยกว่า 57% ไม่สามารถอ่านจับใจความได้ , 52.7% ไม่สามารถนำความรู้คณิตศาสตร์มาประยุกต์ใช้ในสถานการณ์ที่ไม่ซับซ้อน และ กว่า 44.5% ไม่สามารถใช้ความรู้วิทยาศาสตร์มาอธิบายปรากฎการณ์ที่คุ้นเคยและไม่ซับซ้อน”
ยิ่งไปกว่านั้น นอกจากคุณภาพโดยรวมไม่สูงแล้ว ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษายังสูงขึ้น ทักษะการอ่านระหว่างเด็กในครอบครัวรายได้สูงกับเด็กในครอบครัวรายได้ต่ำต่างกันมากขึ้น โดยคะแนนทักษะการอ่าน พบว่า
- ในปี 2558 ห่างกันกว่า 8% และ
- ในปี 2561 ห่างกัน 12%
หากเป็นแบบนี้โอกาสจะสร้างสังคมไทยให้มีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ดี และเหลื่อมล้ำต่ำก็จะเกิดขึ้นได้ยาก
โควิด-19 ตอกย้ำแผลเก่า
ขณะเดียวกัน เมื่อเกิดโควิด-19 ระบาด กระทบซ้ำตอกย้ำแผลเก่า เด็กมีผลการเรียนลดลงอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาปฐมวัย และอนุบาลที่การเรียนรู้แทบจะหดหายไป ข้อมูลจากสำนักงานสภาการศึกษา สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ้งภากรณ์ และ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) พบว่า
- เด็กไทยสูญเสียการเรียนรู้จากการปิดโรงเรียน
- เวลาเรียนน้อยลง เรียนไม่ต่อเนื่อง
- เด็กมีผลการเรียนลดลง
- เด็กอนุบาลมีทักษะคำนวณและความจำเพื่อใช้งานลดลง
อีกหนึ่งปัญหาที่พบในช่วงโควิด-19 ยังพบว่า มีเด็กยากจนเสี่ยงหลุดออกจากระบบเพิ่ม โดยระหว่างปีการศึกษา 2563 – 2564 เด็กยากจนพิเศษ (รายได้ครัวเรือนเฉลี่ยต่ำกว่า 1,200 บาทต่อเดือน) เพิ่มขึ้น 2.5 แสนคน และ รายได้ครัวเรือนเฉลี่ยลดลงจาก 1.159 บาทต่อเดือนเหลือ 1,094 บาทต่อเดือน เป็นสัญญาณที่ชี้ว่าน่าเป็นห่วงอย่างยิ่งในระบบการศึกษาไทย
เด็กไทยต้องมีสมรรถนะสูงขึ้น
ดร.สมเกียรติ กล่าวต่อไปว่า จำเป็นอย่างยิ่งที่เด็กไทยะจต้องมีสมรรถนะสูงขึ้น ความท้าทายหลายอย่างเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ‘วิกฤตสภาพภูมิอากาศ’ ส่งผลต่อการทำงานและอาชีพในอนาคต แรงงานกลางแจ้งเผชิญความร้อนจัด ผลผลิตเกษตรผันผวน และอาชีพเดิมหาย อาชีพใหม่เกิด ในสังคมคาร์บอนต่ำ อีกทั้ง ‘พัฒนาการของ AI’ ทำให้การทำงานเปลี่ยน
"สิ่งเหล่านี้ ทำให้เกิดอาชีพใหม่ ไม่ว่าจะเป็นช่างซ่อมรถ EV สถาปัตย์รักษ์โลก ดังนั้น เด็กไทยต้องปรับตัว สร้างทักษะใหม่ ด้วยการคิดขั้นสูง มีความคิดสร้างสรรค์ การสื่อสาร การทำงานร่วมกับเทคโนโลยี รวมถึง ต้องมีจิตใจแห่งการเติบโต เรียนรู้ต่อเนื่อง เรียนรู้เร็วขึ้น หากไม่มีการปฏิรูปครั้งใหญ่ ทำให้หลักสูตรในมหาวิทยาลัยล้าหลังได้"
4 ความท้าทาย ปฏิรูปการศึกษาไทย
สำหรับความท้าทายในระบบการปฏิรูปการศึกษาไทย มีทั้งหมด 4 เรื่อง ได้แก่
1. หลักสูตรล้าสมัย โดยพื้นฐานไม่เอื้อต่อการสร้างสมรรถนะ
2. โครงสร้างพื้นฐานประชากรทำให้เกิดโรงเรียนขนาดเล็กเพิ่มขึ้น เกิดโจทย์ใหญ่คือ ครูไม่พอ ไม่ครบวิชา ต้นทุนการจัดการศึกษาสูง ไม่สามารถนำเอาทรัพยากรที่มีอยู่บริหารจัดการให้คุณภาพการศึกษาสูงขึ้นได้
3. สิทธิเสรีภาพนักเรียนไทยยังถูกละเมิด ในโรงเรียนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่เดิมอาจจะมีปัญหาอยู่แล้ว แต่สังคมไม่ได้สนใจเท่าที่ควร แต่เมื่อสังคมเปลี่ยน การเลี้ยงดูของพ่อแม่เปลี่ยน พ่อแม่มีแนวคิดเสรีนิยมเพิ่มขึ้น ในขณะที่การศึกษายังออกไปในแนวอนุรักษ์นิยม ทำให้เกิดความขัดแย้งขึ้นได้
4. หากจะเปลี่ยนทั้งสามเรื่องข้างต้น แปลว่าการศึกษาไทยจะต้องเปลี่ยนวัฒนธรรมในการคิด การศึกษา การทำงาน ต้องกล้าทดลองทำสิ่งใหม่ หากยังยึดติดกับสิ่งเก่าจะไม่สามารถก้าวข้ามความท้าทายได้
สิ่งที่ต้องเปลี่ยนเพื่อก้าวข้ามความท้าทาย
1. หลักสูตร
การปฏิรูปการศึกษาจะไม่สามารถทำได้ หากไม่มีการปรับแก้หลักสูตรให้เป็นหลักสูตรทันสมัยพอ ต้องสร้างสมรรถนะ สร้างความสามารถในการใช้ได้ให้ต่อยอดในอนาคต เพราะหลักสูตรเดิมไม่ได้เน้นสมรรถนะ แม้จะมีการปรับเล็กๆ น้อย มาต่อเนื่องแต่ก็ไม่ตอบโจทย์
"และที่สำคัญ คือ ไม่ปรับโครงสร้างเวลาในการเรียนรู้ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญ ประเทศไทยเสียโอกาสมามากพอสมควรจากหลักสูตรที่ล้าสมัย แม้จะพยายามปรับหลักสูตรพอสมควร แต่เมื่อจะนำมาใช้แต่ก็ถูกขัดขวาง ดังนั้น ทำอย่างไรให้ปรับตัวหลักสูตรใหม่ให้ได้ โดยที่ฝ่ายการเมืองเป็นผู้นำ"
2. โรงเรียนขนาดเล็กเพิ่มขึ้น ครูไม่พอ
อัตราเด็กเกิดใหม่ลดลง จากปีละกว่า 1 ล้านคน เหลือเพียง 5 แสนคน โครงสร้างประชากรนักเรียนรลดลง ใน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) นักเรียนลดลงไปกว่า 7 แสนคนในระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา
ขณะเดียวกัน โรงเรียนขนาดกลางและใหญ่ กลายเป็นโรงเรียนขนาดเล็กกว่า 2,246 แห่ง และ โรงเรียนขนาดเล็ก มีต้นทุนการจัดการศึกษาสูงกว่า นอกจากนี้ โรงเรียนประถมศึกษา ขยายโอกาส ขยาดเล็กส่วนใหญ่ มีครูไม่พอ แม้จะเกลี่ยครูจากโรงเรียนที่มีครูเกินก็ยังขาดอีกกว่า 2.2 หมื่นคน
“ธนาคารโลก เสนอแนวทางบริหารจัดการโรงเรียนเล็ก โดยการควบรวมโรงเรียนเล็กและพัฒนาเครือข่ายโรงเรียนที่อยู่ใกล้กัน จัดสรรงบเพิ่มให้โรงเรียนห่างไกลที่ควบรวมไม่ได้ ดังนั้น ถ้าทำได้ คุณภาพการศึกษาจะดีขึ้น และรัฐประหยัดงบลงได้ ความต้องการครูจะลดลงกว่า 2 หมื่นคน มีครูครบชั้น เอื้อให้จัดการเรียนรู้ได้ดีขึ้น และประหยัดงบปีละ 695 ล้านบาท”
3. สิทธิเสรีภาพนักเรียนยังถูกละเมิด
ที่ผ่านมา กระทรวงศึกษาธิการ ได้ประกาศห้ามลงโทษรุนแรง แต่ครูยังทำ การถูกละเมิดสิทธิ กลั่นแกล้ง ส่งผลต่อการเรียนรู้ ทั้งด้านทักษะพื้นฐานของเด็กลดลง เช่น เด็กที่ถูกกลั่นแกล้งมีทักษะการอ่านต่ำกว่าเด็กที่ไม่ถูกกลั่นแกล้ง และการใช้ความรุนแรง ห้ามเด็กตั้งคำถาม ส่งผลต่อกระบวนการพัฒนาทักษะการคิดขั้นสูง และมุมมองต่อสังคม หากจะปฏิรูปการศึกษาไทย ต้องมีโรงเรียนที่ปลอดภัย
4. ปรับวัฒนธรรมให้กล้าทำสิ่งใหม่
ต้องปรับวัฒนธรรมการศึกษา ให้เกิดการกล้าทำสิ่งใหม่ เกิดการเรียนรู้ต่างๆ ได้ ที่ผ่านมา มีบทเรียนจากพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ซึ่งเป็นแซนด์บ็อกซ์ ในการทดลองสิ่งใหม่ๆ ในระบบการศึกษา เกิดสัญญาณบวกหลายด้านหลังจากทำมา 3 ปี ไม่ว่าจะเป็นคนในพื้นที่ตื่นตัว เข้ามามีส่วนร่วมทางการศึกษา ครูและผู้อำนวยการเข้าใจบทบาทและความต้องการของตน นักเรียนมีความสุขกับการเรียนรู้มากขึ้น จังหวัดเข้ามาร่วมเพิ่มขึ้นเป็น 19 จังหวัด
นอกจากนี้ ยังพบพื้นที่และโรงเรียนบางส่วน 'ไม่กล้า' โดยปฏิเสธโครงการที่ไม่ตรงเป้าหมายของโรงเรียน ซื้อหนังสือนอกบัญชีเพื่อสอนแบบใหม่ และ ทาบทามผู้อำนวยการที่โรงเรียนต้องการ ดังนั้น ต้องเสริมแรงให้เกิดวัฒนธรรม 'กล้าทำสิ่งใหม่' ให้เกิดขึ้นจริง กล้าตั้งคำถาม กับสิ่งที่เคยปฏิบัติมา กล้าทดลองสร้างนวัตกรรมใหม่ และเรียนรู้จากความสำเร็จและล้มเหลว
5 ข้อเสนอเพื่อก้าวข้ามความท้าทาย การศึกษาไทย
ดังนั้น ภาคีเพื่อการศึกษาไทย นำเสนอ 5 ข้อเสนอ พรรคการเมือง เพื่อก้าวข้ามความท้าทาย ดังนี้
1. ปรับหลักสูตรแกนกลางให้สำเร็จใน 3 ปี
- ออกแบบให้อิงสมรรถนะ
- เปิดให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม
- อย่าให้ถูกยับยั้งเพราะกลุ่มผลประโยชน์
อยากจะเห็นรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ อยากจะเห็นรัฐบาลใหม่ ขึ้นมาประกาศจะนำหลักสูตรใหม่ ที่อ้างอิงกับฐานสมรรถนะ เพื่อให้นักเรียนเรียนรู้และเกิดสมรรถนะได้ภายในเวลา 3 ปี โดยสามารถนำร่างหลักสูตรฐานสมรรถนะมาปรับใช้ ทดลองในพื้นที่นวัตกรรม ใช้คูปองครู ช่วยพัฒนาครู โดยการออกแบบการสอนจากเหตุการณ์จริง/ลงมือทำได้ ออกแบบการสอนให้ชุมชนโดยเด็กมีส่วนร่วม และ ประเมินเพื่อพัฒนาได้ อยากจะเห็นรัฐบาลนำนโยบายนี้ออกมาชัดเจน เปิดแนวร่วมที่อยากจะผลักดันการศึกษาให้ดีขึ้น และอย่าชะลอการปรับเปลี่ยนที่สำคัญ จากการถูกขัดขวางโดยกลุ่มผลประโยชน์
2. กำหนดเป้าหมายและแผนบริหารโรงเรียนเล็กที่ชัดเจน
การบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็ก โดยอาจเริ่มจากข้อเสนอของธนาคารโลก หากบริหารจัดการให้ดีจะเหลือทรัพยากรเพิ่มขึ้น รวมถึงสร้างแรงจูงใจให้ครูย้ายไปโรงเรียนฮับ หรือ โรงเรียนเล็กห่างไกล เช่น การเลื่อนวิทยฐานะ เป็นต้น และยอมให้ท้องถิ่นบริหารทรัพย์สินของโรงเรียนที่ถูกยุบ ควบรวม ไปใช้ประโยชน์ตามความต้องการ
3. ทบทวน-ยกเลิกโครงการที่ไม่ตอบโจทย์การพัฒนาเด็กและครู
เป็นสิ่งที่รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการคนใหม่สามารถทำได้ทันที โดยเปิดให้ทุกภาคส่วน และชวนผู้อำนวยการ ครู ทบทวนและยกเลิกโครงการ นำครูกลับสู่ห้องเรียน และนำงบที่ได้มากระจายสู่โรงเรียนและผู้เรียนมากขึ้น
4. ประกาศนโยบายไม่ยอมรับความรุนแรงในโรงเรียน
โดยรณรงค์ให้ผู้เกี่ยวข้องเข้าใจเรื่องสิทธิเสรีภาพเด็ก สื่อสารให้ผู้ปกครอง/เด็กรู้แนวทางการปกป้องตนเอง รวมถึง บูรณาการมาตรการเดิมที่มีอยู่แล้ว เสริมกลไกเพิ่มเติม มีกลไกลตรวจสอบเหตุ ร้องเรียน ประเมินความปลอดภัยในโรงเรียนเป็นดัชนีชี้วัด ก็จะช่วยให้โรงเรียนทรานฟอร์มได้เร็วขึ้น โดยกระทรวงศึกษาธิการ มีโครงการต่างๆ ที่สามารถนำมาต่อยอดได้อยู่แล้ว
5. สร้างตัวอย่างให้ผู้บริหารมีวัฒนธรรมการทำงานใหม่
เปิดกว้างรับฟัง กล้าทดลอง ไม่สั่งการโดยไม่เข้าใจผลกระทบที่เกิดขึ้นในโรงเรียน ลงหน้างานรับฟังปัญหาให้กำลังใจ ให้การสนับสนุน อีกทั้ง เสริมแรงครูให้กล้าทำสิ่งใหม่ จัดให้มีพื้นที่แลกเปลี่ยน และเผยแพร่นวัตกรรม สื่อสารให้สังคมได้รับรู้ และสุดท้าย คือ การส่งเสริมให้เรียนรู้จากข้อผิดพลาด
"ข้อนี้จะเป็นรูปธรรมได้หากรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ และผู้นำการศึกษา ผู้นำรัฐบาลต้องประกาศท่าที และทำให้เป็นตัวอย่างว่ามีวิธีการทำงานในรูปแบบใหม่ หากทำสิ่งเหล่านี้ได้ การปฏิรูปการศึกษาไทยก็เกิดขึ้นได้"
เด็กคุณภาพ สังคมคุณภาพ
ด้าน รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สภาพัฒนาการเศษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า สังคมเราจะเปลี่ยนแปลงได้ ไม่ได้เปลี่ยนแปลงด้วยกติกาอย่างเดียว แต่เปลี่ยนแปลงด้วยคน คน คือ หัวใจของการเปลี่ยนแปลง หากกฎกติกาดี แต่คนไม่ทำก็ไม่มีประโยชน์ ดังนั้น จะทำอย่างไรให้สังคมมีคนที่มีคุณภาพเพิ่มขึ้น และสิ่งสำคัญ คือ การศึกษา หัวใจสุดท้าย คือ ทำอย่างไรให้เด็กมีคุณภาพและสังคมไทยมีคุณภาพ
"พรรคการเมือง ทำหน้าที่กำหนดนโยบาย และเลือกคนที่สามารถนำนโยบายที่พรรคกำหนดไปใช้ประโยชน์ได้ และพวกเราเลือกพรรคเพื่อให้ทำให้นโยบายที่เราคิดว่าถูกต้องไปสู่การปฏิบัติ ขณะนี้ ประกาศเลือกตั้งอย่างเป็นทางการยังไม่ออก ดังนั้น ยังสามารถปรับแก้นโยบายต่างๆ ได้"
สิ่งสำคัญ คือ การเรียนรู้ รับฟังความคิดเห็น และคิดว่าพรรคการเมืองก็คงรับฟังเสียงของพวกเราและนำไปปรับใช้ สุดท้าย สิ่งสำคัญ ที่จะต้องมีการพูดกัน คือ การจัดสรรงบประมาณ ลำดับความสำคัญที่จะให้ วิธีการแบบใหม่ที่จะแก้ไขโครงสร้างที่เป็น ปัญหาต่างๆ ที่มีมีอะไรบ้าง รวมถึงลงไปถึงเรื่องหลักสูตรสมรรถนะ ที่ทำให้คนทำเป็น และมีทัศนคติที่ถูกต้อง
ผลักดันหลักสูตรสมรรถนะ
รศ.ดร.วรากรณ์ กล่าวต่อไปว่า เรื่องของหลักสูตรสมรรถนะ คงต้องพูดคุยกันเยอะ เพราะหลายประเทศทำไปแล้ว ประเทศไทยชัดเจนมากว่าเราไม่ได้เป็นหลักสูตรสมรรถนะ แต่เป็นหลักสูตรความรู้มานาน เช่น เราเรียนภาษาอังกฤษมานาน แต่ไม่สามารถนำไปใช้ได้ แต่เราสามารถสะกดได้ถูกต้อง เพราะเรามีหลักสูตรความรู้แต่ไม่มีหลักสูตรของการนำไปใช้
"ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องพูดถึงเรื่องหลักสูตรและสมรรถนะ นอกจากนี้ อยากจะเห็นความคิด นวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อยกระดับประเทศ ต้องช่วยผลักดันกันต่อไป ด้วยคนกลุ่มเล็กๆ คนละไม้คนละมือ การปฏิรูปจะสำเร็จได้ อยู่ที่คน หากคนไม่เปลี่ยนแปลงก็ไม่มีประโยชน์ เพราะในที่สุด ก็หนีการปฏิรูปยกระดับคุณภาพคนไปไม่ได้"