แนวคิดนักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลปี 2024

แนวคิดนักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลปี 2024

สองอาทิตย์ก่อน ราชวิทยาลัยวิทยาศาสตร์สวีเดน ประกาศชื่อสามนักเศรษฐศาสตร์ที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ปีนี้ ได้แก่ ดารอน อาเซโมกลู (Daron Acemoglu) ไซมอน จอห์นสัน (Simon Johnson) และ เจมส์ โรบินสัน (James Robinson)

จากงานศึกษาว่าทําไมความมั่งคั่งของประเทศจึงแตกต่างกัน โดยชี้ว่าความแตกต่างเป็นผลจากความแตกต่างของสถาบัน (Institutions) หมายถึงวิธีที่สังคมถูกจัดตั้งขึ้นโดยเฉพาะ องค์กรและระบบในภาครัฐที่แต่ละประเทศมี ซึ่งไม่ใช่เรื่องใหม่

แต่ที่ใหม่และมีผลต่อรางวัลปีนี้คือวิธีการศึกษา ทั้งในเชิงประจักษ์ (Empirical) และทฤษฎีที่นําเสนอ ที่นํามาสู่ข้อสรุปดังกล่าว นี่คือประเด็นที่จะเขียนวันนี้

 ความแตกต่างของการเติบโตและความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจเป็นปัญหาสําคัญของการพัฒนาประเทศ และนักเศรษฐศาสตร์ที่ผ่านมาให้ความสําคัญมากกับเรื่องนี้

แต่ที่นักเศรษฐศาสตร์ทั้งสามคนได้รางวัลโนเบลปีนี้ ซึ่งถือเป็นเกียรติสูงสุด คือการตอกยํ้าความสําคัญของปัจจัยสถาบันในภาครัฐในการนําประเทศไปสู่ความมั่งคั่ง

โดยนําเสนอผลวิจัยเชิงประจักษ์ที่พิสูจน์ความสำคัญของความสัมพันธ์ดังกล่าวจากข้อมูลประวัติศาสตร์ รวมถึงเสนอทฤษฎีว่าทําไมบางประเทศทำได้ คือมีสถาบันภาครัฐที่ดีที่นำประเทศไปสู่ความมั่งคั่ง แต่บางประเทศทําไม่ได้ ซึ่งน่าสนใจมาก

สถาบันในความหมายทางเศรษฐศาสตร์ หมายถึงระบบและองค์กรในภาครัฐ ซึ่งรวมระบบการเมืองและระบบราชการ ที่ทำหน้าที่ออกกฎหมาย วางนโยบาย ออกกฎระเบียบ และบริหารประเทศ ซึ่งทั้งหมดสำคัญต่อการเติบโตและความมั่งคั่งของเศรษฐกิจ

คือถ้าระบบและองค์กรในภาครัฐดี ผู้มีอํานาจทําหน้าที่เข้มแข็ง สร้างแรงจูงใจทางเศรษฐกิจได้ถูกต้อง เศรษฐกิจก็จะเติบโต คนส่วนใหญ่ได้ประโยชน์ และประเทศมั่งคั่ง ซึ่งระบบที่ดีนี้งานวิจัยเรียกว่าระบบเปิดกว้างหรือ Inclusive

ตรงกันข้าม ระบบที่ไม่ดี คือระบบที่ไม่เอื้อต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ ทำให้คนส่วนใหญ่ไม่ได้ประโยชน์ ความยากจนมีมาก เพราะผู้มีอํานาจมุ่งแต่จะอาศัยระบบในภาครัฐที่ตนจัดตั้งขึ้นกอบโกยและหาประโยชน์ ซึ่งงานวิจัยเรียกระบบนี้ว่าระบบ Extractive หรือตักตวง

การเติบโตของเศรษฐกิจที่พูดถึงหมายถึงการเติบโตของระบบทุนนิยม ซึ่งปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญคือการปกป้องสิทธิในทรัพย์สิน (Property right) การสะสมทุน และการแข่งขัน

ดังนั้น สถาบันในภาครัฐที่ดีที่เอื้อต่อการเติบโตของเศรษฐกิจจะต้องทําสิ่งเหล่านี้ให้เกิดขึ้น โดยการออกกฎหมายที่จําเป็น บังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มแข็งเป็นธรรม สร้างระบบตลาดที่เน้นการแข่งขัน ไม่ผูกขาด มีระบบการเงินที่เอื้อต่อการระดมทุน

ระบบการเมืองเปิดกว้างและสามารถตรวจสอบการใช้อํานาจของผู้มีอํานาจได้ นี่คือระบบสถาบันในภาครัฐที่ดี (Inclusive) ที่นำประเทศไปสู่ความมั่งคั่ง

คําถามคือ เราจะพิสูจน์ได้อย่างไรว่าสถาบันที่ดีอย่างที่พูดถึงจะนําประเทศไปสู่ความมั่งคั่ง และสถาบันที่ดีนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร นี่คือสองคําถามที่คําตอบนำไปสู่รางวัลโนเบลทางเศรษฐศาสตร์ปีนี้

ในการทดสอบความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันภาครัฐกับความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ ผู้รับรางวัลโนเบลใช้เหตุการณ์ในประวัติศาสตร์คือการล่าอาณานิคมของประเทศในยุโรปเมื่อห้าร้อยปีก่อนเป็นกรณีศึกษา

โดยแกะรอยผลที่เกิดขึ้นจากการล่าอาณานิคม ว่าประเทศเจ้าอาณานิคมได้เลือกที่จะเปลี่ยนการบริหารจัดการของภาครัฐในประเทศที่เป็นอาณานิคมอย่างไร โดยเฉพาะสถาบันภาครัฐที่เกี่ยวกับการจัดสรรทรัพยากรเศรษฐกิจ

และตามดูความแตกต่างของสถาบันภาครัฐที่เลือกใช้ในแต่ละพื้นที่อาณานิคมว่า นำมาสู่ความแตกต่างในความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศอย่างไรถึงปัจจุบัน เป็นวิธีการหาคําตอบที่แยบยล และขอสรุปวิธีการหาคําตอบอย่างง่ายๆ ดังนี้

เมื่อยึดประเทศได้ คําถามที่ประเทศเจ้าอาณานิคมต้องตอบคือ จะอยู่สั้นหรืออยู่ยาว "อยู่สั้น" คือมุ่งกอบโกยทรัพยากรที่อาณานิคมมีแล้วถอนกลับ

"อยู่ยาว" คือทําอาณานิคมให้เป็นพื้นที่อยู่อาศัยและทํามาหากินของคนจากประเทศตนที่ต้องการอพยพมาสร้างชีวิตสร้างประเทศใหม่เหมือนบ้านที่สองเพื่อสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ

ซึ่งปัจจัยตัดสินว่าจะอยู่สั้นหรืออยู่ยาวคือเชื้อโรคที่มีในพื้นที่ และความหนาแน่นของประชากรท้องถิ่นรวมถึงการต่อต้าน ผลคือประเทศเจ้าอาณานิคมเลือกอยู่ยาวในประเทศที่ปลอดภัยจากเชื้อโรค และจำนวนคนท้องถิ่นมีน้อย เช่น อเมริกา แคนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และเลือกอยู่สั้นในประเทศที่มีความเสี่ยงจากเชื้อโรคสูงและจํานวนคนท้องถิ่นมีมาก เช่น อินเดียและเม็กซิโก

สิ่งที่เกิดขึ้นคือในอาณานิคมที่เลือกอยู่ยาว ประเทศเจ้าอาณานิคมจะนำระบบสถาบันในภาครัฐที่ดี (Inclusive) มาใช้เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ผู้คนอพยพเข้ามาอยู่ มาลงทุนและสร้างชีวิตใหม่

ขณะเดียวกันผู้อพยพก็ต้องการมีส่วนร่วมทางการเมืองในประเทศใหม่เพื่อป้องกันผู้มีอํานาจไม่ให้ใช้อํานาจเพื่อตนเองที่จะทําให้ประเทศใหม่เสียหาย ระบบสถาบันภาครัฐที่ดีและการเมืองแบบประชาธิปไตยจึงถูกปลูกฝังไว้ตั้งแต่ต้นและอยู่คู่มากับการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศถึงปัจจุบัน

ในอาณานิคมที่เลือกอยู่สั้น ระบบสถาบันภาครัฐแบบตักตวง (Extractive) จะถูกนําใช้เป็นเครื่องมือควบคุมคนท้องถิ่น ตักตวงและผ่องถ่ายทรัพยากรและผลประโยชน์กลับสู่ประเทศเจ้าอาณานิคม โดยทําร่วมกับชนชั้นนำของท้องถิ่น

ทําให้อาณานิคมเหล่านี้ในที่สุดยากจน ไม่พัฒนา กระบวนการนี้ส่งผลให้อาณานิคมที่เคยรุ่งเรืองกลายมาเป็นประเทศยากจน และอาณานิคมที่ยากจนในอดีตกลายมาเป็นประเทศที่ร่ำรวยในปัจจุบัน โชคลาภที่กลับทางนี้เป็นผลโดยตรงจากระบบสถาบันภาครัฐที่แตกต่าง

เพื่อสนับสนุนข้อสรุปข้างต้น ผู้รับรางวัลโนเบลได้วิจัยทางเศรษฐมิติ ใช้ตัวเลขการตายของผู้อพยพในช่วงอาณานิคมเป็นตัวแปรแทนระบบสถาบันที่ดีในอดีต

และชี้ว่ามีความสัมพันธ์เชิงบวกกับระดับจีดีพีของประเทศในปัจจุบัน คือระบบสถาบันภาครัฐที่ดีในอดีตนํามาสู่ความรุ่งเรืองของประเทศในปัจจุบัน เป็นผลวิจัยที่ย้ำถึงความสําคัญของสถาบันภาครัฐในการเติบโตของประเทศ

ต่อคําถามว่าทำไมสถาบันภาครัฐแบบ Inclusive จึงไม่เกิดขึ้นกว้างขวาง ผู้รับรางวัลโนเบลเสนอทฤษฎีว่า ระบบสถาบันภาครัฐแบบ Extractive ให้ประโยชน์ผู้มีอํานาจและชนชั้นนําจึงไม่อยากเปลี่ยน ไม่ต้องการแชร์อํานาจเพราะกลัวเสียการควบคุม ไม่ต้องการปฏิรูปเพราะกลัวสูญเสีย

แต่การแชร์หรือลงจากอํานาจจะเกิดขึ้นในที่สุด เพราะจํานวนคนที่ต้องการการเปลี่ยนแปลงในสังคมมีมาก ทําให้ชนชั้นนําไม่มีทางเลือกอื่น ระบบสถาบันภาครัฐแบบ Inclusive จึงเกิดขึ้นในที่สุด

นี่คือแนวคิดของนักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลปีนี้

แนวคิดนักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลปี 2024

คอลัมน์ เศรษฐศาสตร์บัณฑิต

ดร.บัณฑิต นิจถาวร

ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล

[email protected]