10 ตัวแปรลุ้น‘ดีล’หลังซักฟอก นโยบายร้อน เกมลับต่อรอง ระเบิดเวลา

10 ตัวแปรลุ้น‘ดีล’หลังซักฟอก  นโยบายร้อน เกมลับต่อรอง ระเบิดเวลา

เกมดุลอำนาจในเวลานี้ ทำไปทำมาศึกนอกที่ต้องระแวดระวัง อาจไม่สู้ศึกในพรรคร่วมรัฐบาล ที่ประมาทไม่ได้เช่นกัน

KEY

POINTS

  • ตัวเลขจากศึกซักฟอกครั้งนี้ 

ทุบสถิติสูงสุดในรอบ 20 ปี เมื่อสภาผู้แทนราษฎรมีมติ 319 ต่อ162 เสียง ให้ความไว้วางใจ “แพทองธาร ชินวัตร” บริหารราชการแผ่นดินต่อไป ถือเป็น“นายกรัฐมนตรี”ที่ได้คะแนนโหวตจากพรรคร่วมรัฐบาลรวม 11 พรรค ในศึกซักฟอกเดี่ยวเท่าที่เคยมีมา

ไล่เช็กคะแนนรายพรรค พบว่าในส่วนของ“พรรคร่วมรัฐบาล” ไม่มีแตกแถว มีเพียง 4 เสียงจากพรรคประชาธิปัตย์ คือ ชวน หลีกภัย บัญญัติ บรรทัดฐาน จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ สรรเพชญ บุญญามณี ที่ “งดออกเสียง” ซึ่งไม่ได้เหนือความคาดหมาย เพราะแสดงท่าทีเช่นนี้มาโดยตลอด รวมกับอีก 1 ประธานสภาฯ และ 2 รองประธานสภาฯ ที่ลงมติ “งดออกเสียง” ตามธรรมเนียมปฏิบัติของการทำหน้าที่ประธานควบคุมการประชุม

โดยมี “7 เสียง สส.ฝ่ายค้าน” พลิกขั้วมาสนับสนุน เพิ่มคะแนนเข้ามา คือ กาญจนา จังหวะ สส.ชัยภูมิ พรรคพลังประชารัฐ ที่ชัดเจนแล้วว่าเตรียมย้ายไปสังกัดพรรคกล้าธรรม รวมทั้ง “ปูอัด”ไชยามพวาน มั่นเพียรจิตต์ สส.กทม.พรรคก้าวหน้า ที่เรียบร้อยโรงเรียน “ผู้กอง”   

ส่วนอีก 5 เสียง มาจาก“พรรคไทยสร้างไทย” ประกอบด้วย ฐากร ตัณฑสิทธิ์ สส.บัญชีรายชื่อ รำพูล ตันติวณิชชานนท์ สส.อุบลราชธานี สุภาพร สลับศรี สส.ยโสธร และหรั่ง ธุระพล สส.อุดรธานี

10 ตัวแปรลุ้น‘ดีล’หลังซักฟอก  นโยบายร้อน เกมลับต่อรอง ระเบิดเวลา

ตัวเลขจากศึกซักฟอกครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นถึง“เกมการเมือง” ที่ส่อแวว เปิดฉากต่อรองรอบใหม่ ท่ามกลางสารพัดวาะร้อนที่รออยู่เบื้องหน้า 

โดยเฉพาะการ “ปรับ ครม.” ที่ถูกคาดการณ์ว่า อาจมีขึ้นหลังจากนี้ จากสัญญาณที่ “ผู้กอง"แห่งพรรคกล้าธรรม โปรโมตว่า “7 เสียง สส.งูเห่า” ที่โหวตหนุนรัฐบาล ถือเป็นผลงานชิ้นโบว์แดงของตนเอง  

โดยเฉพาะ “กาญจนา” ที่ปรากฎตัวร่วมเฟรม ร.อ.ธรรมนัส พรมหมเผ่า ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรค เป็นระยะ ขณะที่ สส.“ปูอัด” ได้มีแกนนำพรรคกล้าธรรม ให้เหตุผลว่า “ให้โอกาส เพราะน้องสำนึกผิดแล้ว” 

เมื่อเป้าหมายของ “พรรคกล้าธรรม” คือการอัปไซส์ ไต่ชั้นไปที่พรรค 30+ แซงหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งมี 21 เสียงหนุนรัฐบาล จากทั้งหมด 25 คน 

เมื่อตัวเลขเปลี่ยน สมการการเมืองอาจเปลี่ยน จึงต้องจับตาไปที่เกม “ต่อรอง-ต่างตอบแทน” ด้วยโควตารัฐมนตรี ว่าจะเป็นเงื่อนไขในการตัดสินใจของ “ผู้นำหลังม่าน” และ“นายน้อย”หรือไม่

10 ตัวแปรลุ้น‘ดีล’หลังซักฟอก  นโยบายร้อน เกมลับต่อรอง ระเบิดเวลา

จับอาการ จากคำสัมภาษณ์ของ “นายกฯอิ๊งค์” ทั้ง “ก่อน-หลัง” โหวตญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ ได้แสดงจุดยืนชัดเจนว่า "พรรคร่วมรัฐบาลไม่มีเสียงงูเห่า ไม่ต้องการให้มีภาพงูเห่า" 

เมื่อนักข่าวถามย้ำว่า เขาจะเอามาต่อรองเก้าอี้ใน ครม.หรือไม่ นายกฯ ยืนยันว่า "ไม่มีการต่อรองเกิดขึ้นทั้งนั้น อย่างที่เคยบอกไปแล้ว การปรับครม.เป็นอำนาจของนายกฯ และยังไม่มีแพลนปรับ ครม.เพราะยังรู้สึกว่า การทำงานกำลังต่อเนื่องได้ดี"

ถอดรหัสนายกฯ“ไม่เอางูเห่า” 

ในมุม “การเมือง” จึงมีการถอดรหัส อ่านใจนายกฯ ที่พูดในประเด็นปรับครม.“ไม่ต้องการให้มีภาพงูเห่า” อาจเป็นเพราะ การหาเสียงเลือกตั้งปี 2566 พรรคเพื่อไทยเคยชูแคมเปญ “ไล่หนู-ตีงูเห่า” ฟาดพรรคภูมิใจไทย ที่เวลานั้นยังเป็นศัตรูคู่อาฆาตทางการเมือง เพราะเป็นพรรคที่เดินสายดูด สส.ในเวลานั้น 

หากผู้นำรัฐบาล และผู้นำพรรคเพื่อไทย ออกแอ็กชั่นย้อนแย้งกับจุดยืนเดิม ด้วยการสนับสนุนการดูด สส.งูเห่า มาเติมเสียงรัฐบาล อาจไม่พ้นถูกขุดไปถึงไวรัลพรรคเพื่อไทยในอดีตก็เป็นได้

อีกเงื่อนไขสำคัญ ที่น่าสนใจที่ ครม.เพิ่งได้คำตอบ กรณียื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความเรื่องคุณสมบัติรัฐมนตรี “ต้องมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์” โดยศาลมีมติ 8 ต่อ 1 ตีตกคำร้องที่ ครม.ยื่นขอให้วินิจฉัยประเด็นนี้ ด้วยเหตุผลที่ว่า ไม่เข้าหลักเกณฑ์ให้ศาลรับวินิจฉัย เพราะเป็นอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาของผู้นำรัฐบาลเอง 

 เมื่อไม่มีหลักให้พิง จึงเป็นความเสี่ยง ที่นายกฯอิ๊งค์ ระมัดระวังอย่างยิ่งเพื่อไม่ให้ซ้ำรอยอดีตนายกฯ เศรษฐา เมื่อเป็นเช่นนี้ ย่อมเป็นไปได้ว่า จะไม่ดึงผู้ที่ถูกสังคมตั้งคำถามเรื่องคุณสมบัติ เข้ามาเป็นจุดอ่อนของรัฐบาล 

เมื่อไม่มีองค์กรใดชี้ชัด ถึงนิยาม “ต้องมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์” ว่ามีขอบเขตแค่ไหน เงื่อนไขนี้ จึงเป็นอุปสรรคขวากหนามของนักการเมืองที่หวังเข้าสู่ตำแหน่งรัฐมนตรีในการปรับครม.หลังศึกซักฟอกครั้งนี้  

ดังนั้น นายกฯอาจใช้มาตรฐานเดิมในการฟอร์ม ครม."แพทองธาร 1" พิจารณาคุณสมบัติรัฐมนตรี หากต้องมีการปรับครั้งต่อไป

10 ตัวแปรลุ้น‘ดีล’หลังซักฟอก  นโยบายร้อน เกมลับต่อรอง ระเบิดเวลา

สารพัดปมร้อน“พท.-ภท.ฮีลใจ?”

ขณะที่ “พรรคร่วมรัฐบาล” ที่ยังต้องจับมือกันไปต่อ แม้จะเกิดแรงกระเพื่อมก่อนหน้านี้ แต่ศึกซักฟอกดูเหมือนว่าจะถูกตัดจบ เมื่อคะแนนโหวตไว้วางใจ “นายกฯอิ๊งค์” ไม่มีแตกแถว

ไม่ว่าจะเป็น "พรรครวมไทยสร้างชาติ" ที่คุมกระทรวงพลังงาน ซึ่งเคยออกมาตอบโต้ เรื่องการซื้อไฟฟ้าว่า เป็นผลต่อเนื่องมาจากอดีต รัฐบาลนี้ยังไม่มีการลงนามสัญญา และไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง แน่นอนว่า ย่อมส่งผลบวกต่อ “นายกฯอิ๊งค์”

แม้แต่ “พรรคภูมิใจไทย” ที่นอกจากจะไม่แตกแถวแล้ว ยังได้เห็นช็อตหวานกลางสภาฯ ของ “เสี่ยหนู” อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.มหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ที่โชว์บทฮีลใจ “แพทองธาร สู้ๆ” ระหว่างชี้แจงประเด็น ดีลต่อรองแลกเปลี่ยน ปมที่ดิน “อัลไพน์-เขากระโดง” ที่โยงเกมการเมืองระหว่าง “2 นาย” 

แถมยังมีแอ็กชั่นของ “กรมที่ดิน” ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของพรรคสีน้ำเงิน ออกมาแถลงป้อง“นายกฯอิ๊งค์” ว่าได้รับโอนหุ้นของบริษัท อัลไพน์ฯ มาจากผู้ถือหุ้นเดิม ก่อนเข้ารับตำแหน่ง และการโอนดังกล่าว เป็นไปตามกระบวนการทางกฎหมาย นายกฯไม่ได้สั่งการ หรือกระทำการใดๆ ที่เป็นการแทรกแซง หรือชะลอการเพิกถอนที่ดินดังกล่าว

“บทฮีลใจ”ที่ดูเหมือน จะมีการรับส่งเป็นลำดับ ย่อมถูกจับตาถึงฉากเคลียร์ใจระหว่าง“2 ผู้มากบารมี” คือ“ทักษิณ ชินวัตร” นายใหญ่เพื่อไทย และ“เนวิน ชิดชอบ”นายใหญ่สีน้ำเงิน เมื่อ 2 มี.ค.ที่ผ่านมา โดยมี “แพทองธาร”และ“อนุทิน”ร่วมวงอยู่ด้วย 

ว่ากันว่า ในวันนั้น “ทักษิณ”ส่งสัญญาณ “ครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้าย ขอให้พูดคุยกันตรงๆ อย่าตุกติก”

ฉะนั้นสัญญาณนี้ อาจมีหลายปมร้อน เป็นเงื่อนไขการเคลียร์ ที่โยงเกมการเมือง ไม่ว่าจะเป็นประเด็นที่ดิน“อัลไพน์-เขากระโดง”

นอกจากนี้ ยังมีประเด็น “โพยฮั้ว สว.” หลังกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ รับเป็นคดีพิเศษ เฉพาะเรื่องฟอกเงิน รวมทั้งออกข้อบังคับสำคัญ 2 ฉบับ เนื้อหาสำคัญในเรื่องการคุ้มครองพยาน

แม้เบื้องหน้า “นายกฯอิ๊งค์” พยายามย้ำว่า เป็นคนละส่วนกับการทำงานของรัฐบาล แต่เบื้องลึก ก็มีข้อสังเกต การ “ล้างกระดาน” รีเซ็ตดุลอำนาจสีน้ำเงิน หวังเปลี่ยนสี สว.แบบกลายๆ

 ต้องไม่ลืมว่า นอกจากฝ่ายค้าน ฝั่งตรวจสอบรัฐบาลแล้ว ยังมีฝั่ง สว.นำโดย พล.ต.ต.ฉัตรวรรษ แสงเพชร สว.สายสีน้ำเงินเข้ม และสว.รวม 92 คน ที่ยื่นคำร้องต่อประธานวุฒิสภา เพื่อร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ให้วินิจฉัยคุณสมบัติ "ภูมิธรรม เวชยชัย“ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม และ ”พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง" รมว.ยุติธรรม  ในฐานะประธานและกรรมการ กคพ.ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 ซึ่งล่าสุดศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับประเด็นดังกล่าวไว้พิจารณา 

เป็นการสะท้อนฉากเอาคืนกันไปมาระหว่าง“แดง-น้ำเงิน”

หรือประเด็น "กฎหมายเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์" และ “การพนันออนไลน์” ถูกกฎหมาย ท่ามกลางสัญญาณต่อรอง แบ่งขุมทรัพย์ ที่ว่ากันว่า การพูดคุยระหว่าง “2 นาย” ครั้งล่าสุด  เป็นสาเหตุของการชะลอนำเรื่องดังกล่าว เข้าสู่วาระประชุมครม.เมื่อวันที่ 10 มี .ค.ที่ผ่านมา เพื่อรอให้ผ่านพ้นศึกซักฟอกไปก่อน

10 ตัวแปรลุ้น‘ดีล’หลังซักฟอก  นโยบายร้อน เกมลับต่อรอง ระเบิดเวลา

ไหนจะเรื่องการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันโมโตจีพี ที่ “เมืองหลวงค่ายน้ำเงิน” จากเกมกีฬาถูกโยงไปยังปมการเมืองระหว่าง “2 นายใหญ่” โดยมีการเปรียบเทียบ การจัดแข่ง"โมโตจีพี" ของค่ายสีน้ำเงิน และ “F1” ที่ต่อเนื่องมาจากรัฐบาลเศรษฐา ที่เดินทางไปเยือนเยอรมัน และฝรั่งเศส ช่วงต้นเดือน มี.ค.ปีที่แล้ว

หรือ “วาระแก้รัฐธรรมนูญ” ที่แม้ล่าสุด ที่ประชุมร่วมรัฐสภาจะมีมติ 304 ต่อ 150 เสียง เห็นชอบให้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความอำนาจตัวเองในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ 

ท่ามกลางแรงกระเพื่อมในขั้วรัฐบาล แม้จะจบที่การเคลียร์กันภายใน โดยเฉพาะภูมิใจไทย ที่โหวตหนุนญัตติเพื่อไทย แต่ไม่ได้หมายรวมไปถึงการโหวตร่างรัฐธรรมนูญ หากมีการแก้ไขในอนาคต 

จะว่าไปแล้ว “คลื่นลม” ระหว่าง “เพื่อไทย” และ“ภูมิใจไทย” ที่สงบลงชั่วคราว ส่วนหนึ่งอาจมาจากศึกซักฟอก หรือแค่สไตล์ “น.หนู อนุทิน” ที่เคยพูดไว้ว่า “เป็นหนูหวานเจี๊ยบ! ไม่ปะทะ” เช่นเดียวกับที่ “ทักษิณ”ว่าไว้ “พรรคเพื่อไทย”กับ“พรรคภูมิใจไทย”อาจอยู่กันแบบตบจูบตลอด...ก็ออกรสชาติดี

สถานการณ์ในรัฐบาล ที่ดูเหมือนจะสงบลงชั่วคราว แต่ยังมีอีกหลายปมร้อนซุกซ่อนอยู่ ไม่ต่างกับระเบิดเวลา  

เมื่อเสร็จศึกซักฟอกรัฐบาล ฝ่ายค้านประโคมโหมโรงว่า จากนี้จะเข้าสู่ยุทธการโรยเกลือ ขยี้แผลรัฐบาล แต่ฉากการเมืองท่ามกลางเกมดุลอำนาจในเวลานี้ ทำไปทำมาศึกนอกที่ต้องระแวดระวัง อาจไม่สู้ศึกในพรรคร่วมรัฐบาล ที่ประมาทไม่ได้เช่นกัน