16 นักเศรษฐศาสตร์โนเบล ‘เลือกข้าง’ ห่วง ‘เงินเฟ้อ’ ทรัมป์รีเทิร์น แต่เคยเชียร์ไบเดน
นักเศรษฐศาสตร์เจ้าของรางวัลโนเบล 16 รายร่วมลงนามในจดหมาย เตือนถึงความเสี่ยงทางเศรษฐกิจ รวมถึงเงินเฟ้อแรงขึ้น หากอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ชนะเลือกตั้ง
KEY
POINTS
- โจเซฟ สติกลิตซ์ นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล ปี 2544 นำทีมทำจดหมายเตือนความเสี่ยงเศรษฐกิจ
- ห่วง โดนัลด์ ทรัมป์ ได้เป็นประธานาธิบดีจะทำให้เงินเฟ้อสูงอีกเพราะนโยบายไม่รับผิดชอบ
- น่าสังเกตว่าหลายคนเคยลงนามในจดหมายแบบเดียวกันนี้สนับสนุนนโยบายโจ ไบเดน โดยไม่กังวลเรื่องเงินเฟ้อ
- ตอนนั้นสติกลิตซ์บอกเองว่า เงินเฟ้อลดเร็วมาก เป็นเพราะไบเดน
นักเศรษฐศาสตร์เจ้าของรางวัลโนเบล 16 รายร่วมลงนามในจดหมาย เตือนถึงความเสี่ยงทางเศรษฐกิจ รวมถึงเงินเฟ้อแรงขึ้น หากอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ชนะเลือกตั้ง
เว็บไซต์ซีเอ็นบีซี รายงานคณะนักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล 16 คน นำโดยนายโจเซฟ สติกลิตซ์ ผู้ได้รับโนเบลในปี 2544 ร่วมลงนามในจดหมายเผยแพร่เมื่อวันอังคาร (25 มิ.ย.67) ระบุ
"แม้เราแต่ละคนจะมีมุมมองต่างกันในนโยบายเศรษฐกิจหลายเรื่อง แต่พวกเราเห็นตรงกันว่านโยบายเศรษฐกิจของโจ ไบเดน เหนือกว่าของโดนัลด์ ทรัมป์ มาก
มีความกังวลอย่างหนักว่าโดนัลด์ ทรัมป์จะจุดชนวนเงินเฟ้อนี้อีกครั้งด้วยงบประมาณที่ไม่รับผิดชอบทางการเงินของเขา"
ทั้งนี้ ทรัมป์เสนอจะลดภาษีที่เคยทำไว้ในสมัยแรกเป็นการถาวร, เก็บภาษีสินค้านำเข้าทุกชนิด โดยเฉพาะสินค้าจีนเก็บ 60%-100% และกดดันคณะกรรมการนโยบายการเงิน ธนาคารกลางสหรัฐที่ต้องทำงานอย่างอิสระ ให้ลดภาษี
เหล่านักเศรษฐศาสตร์ และนักวิเคราะห์จากวอลล์สตรีท คาดการ์ณว่า นโยบายเหล่านี้ไม่ว่าข้อเดียวหรือทั้งหมดอาจทำให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น ซึ่งตอนนี้ยังคงมีความเสี่ยงแม้ระยะหลังจะอ่อนตัวลงมาเล็กน้อยก็ตาม
“นักวิจัยไม่แบ่งฝ่าย เช่น จากเอเวอรคอร์, อัลลิอันซ์, ออกซ์ฟอร์ด อีโคโนมิก และสถาบันปีเตอร์สัน คาดว่า ถ้าโดนัลด์ ทรัมป์ ทำวาระเหล่านี้เป็นกฎหมายได้สำเร็จ จะทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้น” จดหมายระบุ
ทั้งนี้ สติกลิตซ์รู้สึกว่าจำเป็นต้องเขียนจดหมายฉบับนี้หลังจากโพลล่าสุดระบุ โหวตเตอร์เชื่อมั่นการจัดการเศรษฐกิจสหรัฐของทรัมป์มากกว่าไบเดน
“คนจำนวนมากคิดว่า ทรัมป์จะดีกับเศรษฐกิจมากกว่าไบเดน ผมคิดว่า เป็นเรื่องสำคัญที่ชาวอเมริกันต้องรู้ว่าอย่างน้อยมีนักเศรษฐศาสตร์มีชื่อเสียงกลุ่มหนึ่งเห็นต่างออกไปอย่างรุนแรง”
น่าสังเกตว่าช่วงเวลาของการออกจดหมายก็มีความสำคัญเพราะเกิดขึ้นไม่กี่วันก่อนที่ทรัมป์ และไบเดนจะประชันวิสัยทัศน์ (ดีเบต) กันเป็นครั้งแรก ที่เมืองแอตแลนตา จัดโดยสถานีโทรทัศน์ซีเอ็น คาดว่าทั้งสองจะอุทิศเวลาให้กับเรื่องเศรษฐกิจโดยเฉพาะเงินเฟ้อ ด้านทีมหาเสียงทรัมป์ตอบโต้จุดยืนของเหล่านักเศรษฐศาสตร์โนเบลทันที
“ชาวอเมริกันไม่ต้องการให้เจ้าของรางวัลโนเบลไร้ค่าเข้าไม่ถึงประชาชนมาบอกพวกเขาว่า ประธานาธิบดีคนไหนหาเงินเข้ากระเป๋าประชาชนได้มากกว่า” แคโรไลน์ ลีวิตต์ โฆษกทีมหาเสียงทรัมป์แถลงต่อซีเอ็นบีซี
ภายใต้รัฐบาลทรัมป์ ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนธ.ค. เมื่อเทียบเป็นรายปีร่วงลงสามปีตลอดสี่ปีที่เขาอยู่ในตำแหน่ง
ส่วนทีมหาเสียงไบเดน หยิบประเด็นจดหมายมาคุยโว “นักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำ เจ้าของรางวัลโนเบล และผู้นำภาคธุรกิจต่างรู้ว่า อเมริกาไม่ซื้อนโยบายเศรษฐกิจอันตรายของทรัมป์”
อย่างไรก็ตาม จดหมายของผู้ได้รับรางวัลโนเบลแสดงถึงมุมมองทางการเมือง และเศรษฐกิจที่ชัดเจน
นักเศรษฐศาสตร์หลายคนเคยลงนามในจดหมายแบบเดียวกันเมื่อเดือนก.ย.2564 สนับสนุนชุดมาตรการ Build Back Better ของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ซึ่งในเวลานั้นนักวิจารณ์โต้แย้งว่า การใช้จ่ายเงินก้อนโตขนาดนั้นจะดันเงินเฟ้อ
แต่นายสติกลิตซ์ตั้งข้อสังเกตว่า บางคน “อ้างความกลัวเงินเฟ้อ เป็นเหตุผลให้ไม่ลงทุนตามโครงการ Build Back Better" ซึ่ง “เป็นการมองแบบไร้วิสัยทัศน์”
พอถึงรอบนี้นายสติกลิตซ์ และผู้ร่วมลงนามกลับระมัดระวังเงินเฟ้อ หลังจากเศรษฐกิจสหรัฐใช้เวลาตลอดปีที่ผ่านมาฟื้นตัวจากเงินเฟ้อที่เคยพุ่งสูงในปี 2566
การที่ราคาสินค้าแพงขึ้นส่วนหนึ่งเป็นผลจากซัพพลายเชนติดขัดช่วงโควิด-19 ระบาด ทำให้ระบบการค้าโลกไม่สามารถรองรับความต้องการตกค้างของผู้บริโภคอเมริกันได้ แต่ความต้องการนี้เองที่ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฝ่าฟันโควิดได้ดีกว่าที่คาดหวังไว้ ทั้งนี้ เป็นผลจากมาตรการช่วยเหลือถ้วนทั่วของรัฐบาล เช่น ขยายการยกเว้นภาษีเลี้ยงดูบุตร โครงการช่วยเหลือธุรกิจขนาดเล็ก นับตั้งแต่นั้นนายสติกลิตซ์ กล่าวว่า ไบเดนพยายามลดเงินเฟ้อจากจุดสูงสุดได้สำเร็จ
“เงินเฟ้อลดแล้ว ลดลงเร็วมากด้วย ผมบอกได้เลยว่า เป็นเพราะไบเดน” นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล กล่าว
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์