มองต่างมุมเรื่อง Digital Wallet | ศุภวุฒิ สายเชื้อ

ผมไม่ได้สนับสนุนนโยบาย Digital Wallet มาตั้งแต่ต้น แต่เมื่อมีนักเศรษฐศาสตร์ไทยนับร้อยคน นำโดยอดีตผู้บริหารระดับสูงของธปท.ต่อต้านรัฐบาลที่เพิ่งเข้ามารับตำแหน่งไม่ถึง 1 เดือน (และยังไม่ได้ใช้เงินเกี่ยวกับเรื่องนี้และเรื่องอื่นๆ เลย) ผมก็ต้องขอออกมาแสดงความเห็น
การออกมาคัดค้านรัฐบาลในระบอบประชาธิปไตยนั้นย่อมเป็นสิ่งที่ทำได้ ไม่เหมือนกับสมัยเมื่อมีการปฏิวัติยึดอำนาจ การยึดอำนาจล้มประชาธิปไตยเมื่อเกือบ 10 ปีที่ผ่านมานั้น
เราเห็นผลแล้วว่าทำให้ประเทศไทยเสียโอกาสทางเศรษฐกิจไปอย่างมาก แต่ตอนนั้น หากมีนักวิชาการหรือคนไทยคนใดออกมาแสดงท่าทีต่อต้าน ก็จะถูกจับตัวขึ้นศาลทหารโดยทันที เช่นที่คุณจาตุรนต์ ฉายแสงโดนมาแล้ว
ดังนั้น การออกมาต่อต้านรัฐบาลเรื่อง Digital Wallet นั้น มองได้ว่าเป็นการรีบเร่งต่อต้านรัฐบาล เพื่อให้เสื่อมเสียและสูญเสียความน่าเชื่อถือ
หากรัฐบาลสูญเสียความน่าเชื่อถือตั้งแต่ต้นไปแล้ว ก็จะทำให้ฝ่ายต่างฯ ขาดความมั่นใจในเศรษฐกิจของประเทศ อายุของรัฐบาลจะสั้น ทำให้ไม่สามารถทำนโยบายอื่นๆ
เพื่อประโยชน์ของประชาชนและพลิกฟื้นเศรษฐกิจที่จะได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอีก จากความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและกลุ่มติดอาวุธอามาส ที่อาจขยายตัวออกเป็นความขัดแย้งในตะวันออกกลางได้
ประเด็นหลักที่นักเศรษฐศาสตร์ตำหนิรัฐบาลคือ การทำให้เสียวินัยทางการคลัง โดยกล่าวว่า หากแจกเงิน 560,000 ล้านบาทแล้ว ก็จะทำให้หนี้สาธารณะที่ปัจจุบันอยู่ที่ 62.97% ของจีดีพีต้องเพิ่มขึ้นไปเกิน 65% ของจีดีพี
หากอ้างการคาดการณ์จีดีพีของรัฐบาลที่ 19.08 ล้านล้านบาทในปี 2024 ก็จะคำนวณได้ว่า 560,000 ล้านบาทจะเทียบเท่ากับ 2.95% ของจีดีพี
ผมจึงกลับไปดูในรายละเอียดของการคำนวณของรัฐบาลซึ่งปรากฏในตาราง โดยขอให้ดูประมาณการจีดีพีในปี 2566 (2023) และปี 2567 (2024) จะเห็นได้ว่า รัฐบาลคาดว่าจีดีพีจะขยายตัวเพียง 5.0% ทั้งนี้ เป็นการขยายตัวที่รวมเงินเฟ้อด้วย
เมื่อเป็นเช่นนั้น รัฐบาลก็เลยคำนวณว่าการขาดดุลงบประมาณที่ 693,000 ล้านบาท (ที่รวม Digital Wallet แล้วส่วนหนึ่ง?) จะทำให้หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นเป็น 12.09 ล้านล้านบาท คิดเป็น 64% ของจีดีพี
ตารางข้างล่างนี้ เรามาดูการคาดการณ์จีดีพีและเงินเฟ้อของ ธปท.ที่มองได้ว่า เป็นแกนนำในการคัดค้านเรื่อง Digital Wallet ของธปท.ประเมินจีดีพีและเงินเฟ้อสรุปได้
หากเรานำเอาการคาดการณ์ดังกล่าวของ ธปท. (กนง.) มาคำนวณจากตัวเลขจีดีพีในปี 2023 คือ 18.17 ล้านล้านบาท ก็จะพบว่า จีดีพีในปี 2024 จะเท่ากับ 19.41 ล้านล้านบาท หรือสูงกว่าที่รัฐบาลคำนวณ (19.08 ล้าน) ถึง 330,000 ล้านบาท
ผลที่ตามมาคือ หนี้สาธารณะต่อจีดีพีในปี 2024 ก็จะลดลงเหลือเท่ากับ 62.24% ของจีดีพี กล่าวคือต่ำกว่าสัดส่วนในปี 2023
แล้วทำไมจึงจะกลัวว่า Digital Wallet จะกระทบวินัยทางการคลัง และทำไมบริษัทจัดอันดับจะลดความน่าเชื่อถือของไทย?
จริงๆ แล้ว หากการคาดการณ์ของ กนง.ถูกต้อง (และของรัฐบาลต่ำเกินไป) การขยายตัวของจีดีพีที่สูงกว่าก็จะต้องช่วยให้รัฐบาลเก็บภาษีได้มากขึ้นกว่าที่คาดการณ์เอาไว้ที่ 2.79 ล้านล้านบาท การคาดการณ์ดังกล่าวประเมินว่ารัฐบาลจะมีรายได้สุทธิคิดเป็นสัดส่วนเท่ากับ 14.62% ของจีดีพี
หากนำเอาสัดส่วนดังกล่าว มาคำนวณกับจีดีพีที่ กนง.คาดการณ์ รายได้ของรัฐบาลจะเพิ่มขึ้นเป็น 2.84 ล้านล้านบาท กล่าวคือ จะมีรายได้เพิ่มขึ้น 50,000 ล้านบาท
หากดูจากมุมมองนี้ ผมจึงไม่ได้กลัวปัญหาวินัยทางการคลัง แต่ที่ผมคิดว่า น่าเป็นห่วงมากกว่า คือการคาดการณ์ของ กนง.ว่าจะถูกต้องมากน้อยเพียงใด เพราะในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา เงินเฟ้อปรับตัวลงอย่างรุนแรงมากคือ
- เงินเฟ้อทั่วไปในเดือนมกราคมเท่ากับ 5% ลดลงมาเหลือเพียง 0.3% ในเดือนกันยายน
- เงินเฟ้อพื้นฐานในเดือนมกราคมเท่ากับ 3% ลดลงเหลือเพียง 0.6% ในเดือนกันยายน
- แต่ธปท.คาดการณ์ว่าเงินเฟ้อจะปรับสูงขึ้นเป็น 2.4% และ 2.0% ในปี 2024
ประเด็นคือ การยืนยันของ ธปท.ว่าเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้นอย่างมาก ทำให้กนง.เร่งปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเท่าตัวในปีนี้คือจาก 1.25% มาเป็น 2.5% เกินกว่าที่ตลาดคาดการณ์ประมาณ 0.50% เรื่องนี้ บวกกับการที่เงินเฟ้อลดลงอย่างมาก ทำให้ดอกเบี้ยจริงของประเทศไทยเพิ่มขึ้น 4-5%
ในช่วงที่ทุกๆ คนเห็นพ้องต้องกันว่าปัญหาใหญ่ของคนไทยคือมีหนี้สินมาก (ๆ) กล่าวโดยสรุปคือ ผมไม่เคยเห็นธนาคารกลางของประเทศใด ปรับดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มขึ้นเท่าตัว ในภาวะที่เงินเฟ้อกำลังปรับตัวลงอย่างรุนแรงจาก 5% เหลือไม่ถึง 0.5%
ที่สำคัญคือ นโยบายการเงินนั้น ส่งผลต่อเศรษฐกิจให้หลัง (impact lag) ประมาณ 6-9 เดือน แปลว่านโยบายการเงินที่ตึงตัวขึ้นอย่างมากในปีนี้ จะส่งผลในการกดเศรษฐกิจลงประมาณกลางปีหน้าที่ Digital Wallet คลอดออกมา
หาก Digital Wallet ถูกสกัดกั้นสำเร็จ และจีดีพีไม่ได้ขยายตัวอย่างที่ กนง.คาดการณ์ ต้องถามว่า วันนั้นประชาชนจะโทษใคร?
หลายคนคงจะไม่ไป กล่าวโทษ ธปท. เพราะมีความน่าเชื่อถือสูง และแม้ว่า ธปท.อาจต้องประกาศลดดอกเบี้ยเพื่อช่วยพยุงเศรษฐกิจ (เพราะการขึ้นดอกเบี้ยจาก 1.25% เป็น 2.5% ได้ทำให้ธปท.มี “policy space” ตามที่ต้องการ) ก็จะไม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างทันท่วงที และจะไม่สามารถกอบกู้ความเชื่อมั่นกลับมาได้
คอลัมน์ เศรษฐศาสตร์+สุขภาพ
ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ
ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยภัทร
กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร