การแพทย์เฉพาะรายบุคคล โอกาสทางเศรษฐกิจของไทย
"การท่องเที่ยว" ถือเป็นรายได้หลักของประเทศไทย เพราะปัจจุบันผู้คนเริ่มให้ความสนใจด้านสุขภาพและความงามมากขึ้น ดังนั้นการเดินหน้า "Medical Hub" จะเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่สร้างเม็ดเงินมหาศาลให้ประเทศ โดยเฉพาะกลุ่ม Medical Tourism และ Health & Wellness Tourism ที่มีค่าใช้จ่ายสูง
ประเทศไทยมีอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ และ “การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ” ก็กลายเป็นอีกหนึ่งเป้าหมายที่ภาครัฐสนับสนุน สอดคล้องกับการเดินหน้าสู่ Medical Hub ของไทยที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ให้ความสำคัญกับการทำ Marketing ที่มีค่าใช้จ่ายสูงอย่าง Medical Tourism และ Health &Wellness Tourism ซึ่งมีแนวโน้มที่จะได้รับความนิยมมากขึ้นและเป็นกลุ่มที่มีค่าใช้จ่ายสูงถึง 80,000-120,000 บาท
ขณะที่ Global Wellness Institute (GWI) คาดการณ์ว่า ปี 2568 “เศรษฐกิจเพื่อสุขภาพทั่วโลก” (Global Wellness Economy) จะมีมูลค่าประมาณ 7 ล้านล้านดอลลาร์ หรือ 230 ล้านล้านบาท และยังคาดการณ์ด้วยว่า ตั้งแต่ปี 2563-2568 ธุรกิจสปาจะมีการเติบโตเฉลี่ยต่อปี อยู่ที่อัตรา 17.2% ส่วนการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ จะเติบโตเฉลี่ยที่อัตรา 20.9%
เทรนด์สุขภาพในอนาคตจะมีการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อการดูแลสุขภาพมากขึ้น และการดูแลสุขภาพจะเน้นไปในทิศทางการ “ป้องกันมากกว่ารักษา” ระบบบริการสุขภาพต่างๆ จะเชื่อมต่อกับเทคโนโลยีและระบบออนไลน์บนคลาวด์มากขึ้น ผู้บริโภคจะให้ความสำคัญกับ “Self-Care” ที่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรม Health & Wellness ทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย ใช้เป็นพื้นฐานเพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นความต้องการมีสุขภาพที่ดีที่กำหนดได้ด้วยตัวเอง โดยใช้แอปพลิเคชันนัดหมายแพทย์ สั่งซื้ออุปกรณ์ไปใช้เองที่บ้าน เข้าถึงยาโดยไม่ต้องรอแพทย์สั่ง
การมีสมรรถภาพร่างกายที่ดี ทำให้ธุรกิจด้าน คอร์สออกกำลังกายออนไลน์และแอปพลิเคชันสุขภาพเติบโต ความต้องการโภชนาการที่ดี ส่งผลให้แอปพลิเคชันด้านโภชนาการ โปรแกรมควบคุมอาหาร และน้ำผลไม้ล้างพิษได้รับอานิสงส์โตต่อเนื่อง รวมทั้งการมีรูปลักษณ์ที่ดี ที่ดันให้บริการเสริมความงามแบบไม่ต้องผ่าตัดได้รับความนิยม คาดว่าปี 2573 จะเกิดบริการด้านความงามรูปแบบต่างๆ เพิ่มมากขึ้น การนอนหลับที่ดี ก็มีความสำคัญทำให้ผู้บริโภคทั่วโลกต้องการผลิตภัณฑ์ และบริการที่ส่งเสริมการนอนหลับอย่างมีคุณภาพ ที่สำคัญจากสถานการณ์ที่ทำให้คนทั่วโลกมีความตึงเครียดมากขึ้น ผลิตภัณฑ์และบริการที่ส่งเสริมความสงบทางใจ จึงได้รับการยอมรับมากขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน
เรามองว่าประเทศไทยสามารถใช้โอกาสในการสร้างเศรษฐกิจจากเทรนด์สุขภาพเหล่านี้ เป็นตัวเชื่อมเพื่อทำให้ระบบการท่องเที่ยวไทยมีความหลากหลาย และเพิ่มมูลค่า และสนับสนุนเศรษฐกิจให้ประเทศไทยมีความยั่งยืนทำให้ประเทศไทยเป็นผู้นำ Wellness Hub ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างแท้จริง ออกแบบ “การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ” พ่วงด้วยความงามและศัลยกรรม ที่มีทั้งการท่องเที่ยวไปพร้อมๆ กับดูแลรักษาสุขภาพไปในตัว จะเป็นอีกกลยุทธ์เพิ่มมูลค่าการท่องเที่ยวได้
โดยเฉพาะการแพทย์แบบเชิงป้องกัน จะช่วยในการวางแผนสุขภาพเชิงป้องกันแบบเฉพาะบุคคลในรูปแบบ Personalized Precision Medicine เช่น การตรวจหายีนมะเร็งเต้านม BRCA1 และ BRCA2 สามารถวินิจฉัยได้ว่า 70-80% สามารถพัฒนาเป็นมะเร็งได้หรือไม่ข้อมูลที่ได้สามารถนำไปสู่การวางแผนการรักษาในอนาคต รวมทั้งเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจการลงทุน และวิจัยของบริษัทยาต่างๆ ได้อีกด้วย