‘เศรษฐา’ ต้องย้อนดู ‘ยิ่งลักษณ์’ ผลกระทบขึ้นเงินเดือนปริญญาตรี
นโยบายค่าแรงขั้นต่ำรัฐบาลไม่กังวลเรื่องฐานะการคลัง เพราะไม่ได้ใช้เงินรัฐบาลไปขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ แต่นโยบายเงินเดือนปริญญาตรีต้องคิดมากขึ้นในภาวะที่รัฐบาลต้องใช้เงินเอาใจประชาชนหลายโครงการ
นโยบายเงินเดือนปริญญาตรีของพรรคเพื่อไทยถูกนำมาใช้หาเสียงและได้จัดตั้งรัฐบาล 2 ครั้ง คือ ครั้งที่ 1 เมื่อปี 2554 น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี นำเสนอนโยบายเงินเดือนปริญญาตรี 15,000 บาท และครั้งที่ 2 ในปี 2566 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีคนล่าสุด นำเสนอนโยบายเงินเดือนปริญญาตรี 25,000 บาท ผ่านไป 12 ปี พรรคเพื่อไทยประเมินว่าควรสร้างสรรค์นโยบายเงินเดือนปริญญาตรี เพิ่มขึ้นมาอีก 10,000 บาท เพื่อสร้างคะแนนนิยมช่วงหาเสียงเลือกตั้ง
การกำหนดนโยบายเงินเดือนปริญญาตรี 25,000 บาท และนโยบายการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นวันละ 400 บาท ที่ภายหลังยอมรับแล้วว่าไม่สามารถทำทั่วประเทศได้ แม้ว่าจะสร้างความคาดหวังให้ประชาชนทั่วประเทศจนมีผู้เลือกพรรคเพื่อไทยในระบบบัญชีรายชื่อ 10.96 ล้านคน โดยทั้ง 2 นโยบายดังกล่าว รัฐบาลเดินหน้าอย่างเต็มที่ โดยนโยบายค่าแรงขั้นต่ำรัฐบาลไม่กังวลเรื่องฐานะการคลัง เพราะไม่ได้ใช้เงินรัฐบาลไปขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ แต่นโยบายเงินเดือนปริญญาตรีต้องคิดมากขึ้นในภาวะที่รัฐบาลต้องใช้เงินเอาใจประชาชนหลายโครงการ
รัฐบาลปฏิเสธไม่ได้ว่านโยบายเงินเดือนปริญญาตรี 25,000 บาท ดำเนินการได้เฉพาะการจ้างงานในภาครัฐ ซึ่งต้องมาดูว่าจะครอบคลุมแรงงานภาคราชการส่วนใดบ้างระหว่าง แรงงานประเภทข้าราชการ ประเภทลูกจ้างประจำหรือประเภทพนักงานรัฐวิสาหกิจ รวมทั้งต้องแยกย่อยไปอีกว่าข้าราชการระดับปริญญาตรีจะครอบคลุมกลุ่มใดบ้างระหว่าง 1.ข้าราชการระดับปริญญาตรีบรรจุใหม่ 2.ข้าราชการระดับปริญญาตรีที่บรรจุแล้วแต่เงินเดือนหรือเงินเดือนรวมเงินเพิ่มแล้วไม่ถึง 25,000 บาท
นโยบายเงินเดือนข้าราชการปริญญาตรี 15,000 บาท ของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ใช้เวลาดำเนินการ 2 ปี โดยขึ้นเงินเดือนให้ข้าราชการปริญญาตรีบรรจุใหม่ให้มีผลวันที่ 1 ม.ค.2555 แต่หลังจากนั้น ครม.ต้องอนุมัติเยียวยาให้ข้าราชการปริญญาตรีที่บรรจุก่อนหน้านั้น 10 ปี เพื่อไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำของระบบเงินเดือนข้าราชการ รวมทั้งต้องขึ้นเงินเดือนข้าราชการระดับ ปวช. , ปวส. , ปริญญาตรี ,ปริญญาโทและปริญญาเอก และผลของงบประมาณประจำสำหรับเงินเดือนข้าราชการที่เพิ่มสูงขึ้น
หลายข้อเสนอถูกส่งเข้า ครม.ไม่ว่าจะเป็นการใช้มาตรการเกษียณอายุก่อนกำหนดควบคู่การจำกัดจำนวนข้าราชการใหม่ รวมทั้งการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐให้สะท้อนค่าตอบแทนที่สูงขึ้น โดยอาจเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการประเมินผลการปฏิบัติราชการให้เข้มข้นขึ้น รวมถึงเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการจ้างและสวัสดิการบางประการของข้าราชการที่เข้ารับการบรรจุใหม่ ซึ่งเป็นข้อเสนอที่ไม่ล้าสมัยและนายเศรษฐา ทวีสิน ควรย้อนไปดูข้อเสนอใน ครม.เมื่อปี 2555 เพื่อให้การขึ้นเงินเดือนครั้งนี้ได้ผลสัมฤทธิ์ดีที่สุด