เจาะโครงสร้างบริษัท ‘OpenAI’ อัลท์แมนเป็นผู้ก่อตั้ง แต่ทำไมกลับไม่มีหุ้น?

เจาะโครงสร้างบริษัท ‘OpenAI’ อัลท์แมนเป็นผู้ก่อตั้ง แต่ทำไมกลับไม่มีหุ้น?

เจาะลึกโครงสร้างบริษัท “OpenAI” ที่ไม่เคยเห็นมาก่อน ทำไมผู้ก่อตั้งบริษัทอย่างแซม อัลท์แมนถึงไม่มีหุ้นในบริษัท และ Microsoft ที่ถือหุ้น OpenAI มากที่สุด กลับไม่มีอำนาจกำหนดทิศทางกิจการ

Key Points

  • ในกระบวนการพิจารณาประเด็น AI ของวุฒิสภาสหรัฐซึ่งได้เชิญอัลท์แมนเข้าประชุมด้วยในเดือน พ.ค. อัลท์แมนกล่าวยืนยันต่อวุฒิสภาว่า “ผมไม่มีหุ้นในบริษัท OpenAI”
  • Microsoft แม้เป็นผู้ถือหุ้นมากที่สุดใน OpenAI แต่กลับไม่มีอำนาจควบคุมบริษัท”
  • OpenAI ได้แบ่งบริษัทออกเป็น “สองฝั่ง” คือ “ฝั่งไม่แสวงหากำไร” (Original Nonprofit) กับอีกฝั่งหนึ่งที่ตั้งใหม่ “ฝั่งแสวงหากำไรได้ในจำนวนที่จำกัด” (Capped Profit Arm)


กลายเป็นคำถามข้องใจของใครหลาย ๆ คน จากกรณี แซม อัลท์แมน (Sam Altman) ผู้ก่อตั้งบริษัทเจ้าของแชตบอต ChatGPT อันโด่งดังอย่าง “OpenAI” แต่กลับถูกไล่ออกจากตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) จนอาจทำให้หลายคนนึกเทียบกับกรณี “สตีฟ จ็อบส์” ผู้ก่อตั้งยักษ์ใหญ่ Apple Inc. ที่ประสบชะตากรรมคล้ายกัน ต่างกันที่จ็อบส์ได้กลับมารับตำแหน่งซีอีโออีกรอบ

เท่านั้นยังไม่พอ เมื่อเข้าไปสืบค้นโครงสร้างบริษัท OpenAI กลับพบข้อมูลที่น่าประหลาดใจว่า อัลท์แมนไม่มีหุ้นในบริษัท” ทั้งที่ตัวเองเป็นผู้ร่วมก่อตั้งและซีอีโอ

ยิ่งไปกว่านั้น Microsoft เจ้าของระบบปฏิบัติการ Windows แม้เป็นผู้ถือหุ้นมากที่สุดใน OpenAI แต่กลับ “ไม่มีอำนาจควบคุมบริษัท ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น

เจาะโครงสร้างบริษัท ‘OpenAI’ อัลท์แมนเป็นผู้ก่อตั้ง แต่ทำไมกลับไม่มีหุ้น? - แซม อัลท์แมน ผู้ก่อตั้ง OpenAI (เครดิต: Reuters) -

  • โครงสร้างบริษัทสุดแปลก “ผู้ก่อตั้งไม่มีหุ้น”

จุดเริ่มต้นการก่อตั้งบริษัท OpenAI เกิดขึ้นในปี 2558 เมื่อบริษัทพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ (AI) รายนี้ก่อตั้งขึ้นเป็น “องค์กรไม่แสวงหากำไร” นั่นหมายความว่า ผู้ร่วมก่อตั้งหรืออัลท์แมนตั้งใจที่จะทำให้บริษัทเป็นไปเพื่อประโยชน์ของมนุษยชาติ และอยู่ได้ด้วยเงินบริจาค โดยบริษัทตั้งเป้าหมายว่า จะระดมเงินบริจาคให้ได้ถึง 1,000 ล้านดอลลาร์

เวลาผ่านไปหลายปี OpenAI กลับได้รับเงินบริจาคเพียง 130.5 ล้านดอลลาร์ ถึงแม้เพียงพอที่จะช่วยการวิจัย AI ในระยะเริ่มต้นได้ แต่ไม่เพียงพอที่จะพาบริษัทไปสู่ขั้นต่อไป

ด้วยเหตุนี้ ในปี 2562 OpenAI จึงทำการ “เปลี่ยนโครงสร้างบริษัทใหม่” โดยยังคงรักษาจุดยืน “ไม่แสวงหากำไร” ไว้เช่นเดิม  และขณะเดียวกัน ก็เปลี่ยนโครงสร้างบริษัทให้สามารถระดมทุนขนาดใหญ่ได้ผ่านการขายหุ้นแทนการรับเงินบริจาคแต่เดิม

ในการปรับโครงสร้างของ OpenAI เริ่มต้นจากแบ่งบริษัทออกเป็น 2 ฝั่ง คือ ฝั่งไม่แสวงหากำไร” (Original Nonprofit) ซึ่งบริหารโดยบอร์ดบริหารบริษัทที่มีอัลท์แมนอยู่ด้วย (ก่อนที่เขาถูกขับออกในปัจจุบัน) มีหน้าที่บริหารและกำกับทิศทางบริษัท กับอีกฝั่งหนึ่งที่ตั้งขึ้นใหม่ คือ “ฝั่งแสวงหากำไรในจำนวนจำกัด” (Capped Profit Arm) ซึ่งเป็นของเหล่านักลงทุน นำโดย Microsoft ยักษ์ใหญ่เทคโนโลยีสหรัฐ ที่ถือหุ้น OpenAI มากที่สุด และธุรกิจเงินร่วมลงทุน (VC) อย่าง Thrive Capital ที่ถือหุ้นมากเป็นอันดับ 2 รวมถึงนักลงทุนอื่น ๆ

จุดสำคัญที่น่าพิศวงไม่น้อย คือ ต่อให้ Microsoft หรือนักลงทุนรายใดก็ตามจะถือหุ้น OpenAI ไว้มากเพียงใด แต่กลับไม่มีอำนาจในการควบคุมบริษัท ส่งคนของตนไปนั่งในบอร์ดไม่ได้ และต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของฝั่งไม่แสวงหากำไรเท่านั้น

ในขณะเดียวกัน กรรมการในบอร์ดบริหารที่เป็นฝั่งไม่แสวงหากำไร จะไม่ถือหุ้นในบริษัท OpenAI เพื่อให้บริหารงานอย่างอิสระ (Independent) นี่จึงเป็นเหตุผลที่อัลท์แมน แม้เป็นผู้ก่อตั้งบริษัท และมีอำนาจกำกับทิศทางบริษัท แต่กลับไม่มีหุ้นในบริษัทโดยตรง ซึ่งหุ้นที่เขามีเป็นเพียงการถือทางอ้อมผ่านกองทุนเพื่อการลงทุนชื่อว่า Y Combinator ที่เป็นส่วนน้อยเท่านั้น และเกิดขึ้นก่อนที่เขาจะเข้ามาทำงาน OpenAI เต็มเวลา

นอกจากนั้น ในกระบวนการพิจารณาประเด็น AI ของวุฒิสภาสหรัฐซึ่งได้เชิญอัลท์แมนเข้าประชุมด้วยในเดือน พ.ค. เขากล่าวยืนยันต่อวุฒิสภาว่า “ผมไม่มีหุ้นในบริษัท OpenAI” (I have no equity in OpenAI.)

สรุปสั้น ๆ คือ บริษัท OpenAI ได้แบ่งโครงสร้างเป็น “ฝั่งมีอำนาจ” แต่ไม่ได้ถือหุ้น กับ “ฝั่งถือหุ้น” แต่ไม่มีอำนาจ เพื่อให้การบริหารบริษัทและพัฒนา AI เป็นไปเพื่อ “ประโยชน์สาธารณะ” ซึ่งเป็นส่วนที่บริษัทย้ำว่าสำคัญมากที่สุด เหนือการแสวงหาผลกำไร และยังช่วยลดการขัดกันของผลประโยชน์ด้วย

คำถามต่อมา คือ ถ้าฝั่งแสวงหากำไร ทำกำไรได้มากกว่าที่จำกัดไว้ จะทำอย่างไรต่อกับกำไรที่เกินมา บริษัทระบุว่า เงินดังกล่าวจะส่งกลับไปที่ฝั่งไม่แสวงหากำไร เพื่อให้ทางบอร์ดบริหารเงินเหล่านั้นเพื่อผลประโยชน์สาธารณะ อย่างการบริจาคเพื่อการพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อความเท่าเทียมกันในสังคม ซึ่ง OpenAI เคยบริจาคให้กับ “Black Girls Code” องค์กรไม่แสวงหากำไรที่มุ่งเน้นให้เด็กหญิงแอฟริกันอเมริกันและเยาวชนผิวสีอื่น ๆ เข้าถึงการศึกษาด้านการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ รวมถึง “American Civil Liberties Union Foundation” องค์กรไม่แสวงหากำไรซึ่งเน้นกิจกรรมต่อสู้เพื่อเสรีภาพของพลเมืองอเมริกัน และกองทุนวิจัย AI ของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ฯลฯ

จากสิ่งเหล่านี้ จะเห็นได้ว่า อัลท์แมนก่อตั้งบริษัทและพัฒนา AI ด้วยใจรัก แม้เป็นถึงเจ้าของบริษัท แต่เขาเลือกที่จะไม่ถือหุ้น เพื่อไม่ให้ผลประโยชน์อันมหาศาลของหุ้นมาทำให้ความมุ่งหมายเดิมเพื่อส่วนรวมต้องเปลี่ยนแปลงไป

  • อนาคต OpenAI หลังยุคอัลท์แมน

กลับมาที่สถานการณ์ปัจจุบัน หลังจากบอร์ดบริหารมีมติขับไล่อัลท์แมนออกจากตำแหน่งซีอีโอ และตั้ง มิร่า มูราติ (Mira Murati) ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยี ขึ้นเป็นซีอีโอชั่วคราว ขณะที่ เกร็ก บร็อคแมน (Greg Brockman) ผู้ร่วมก่อตั้ง OpenAI ก็ประกาศลาออกจากทุกตำแหน่ง รวมถึงพนักงานระดับสูงอีกหลายคนก็ตัดสินใจลาออกตาม จนในปัจจุบัน บอร์ดบริหารเหลือเพียง 4 คน ดังนี้

1. เฮเลน โทเนอร์ (Helen Toner) ผู้อำนวยการฝ่ายยุทธศาสตร์ของศูนย์ความปลอดภัยและเทคโนโลยีเกิดใหม่ของมหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์

2. ทาชา แมคคอลีย์ (Tasha McCauley) ซีอีโอของ GeoSim Systems บริษัทพัฒนาเทคโนโลยีแผนที่ 3 มิติในเมือง

3. อดัม ดิแองเจโล (Adam D’Angelo) ซีอีโอของ Quora แพลตฟอร์มถาม-ตอบที่คล้ายพันทิปของไทย

4. อิลยา ซัตสกีเวอร์ (Ilya Sutskever) หัวหน้านักวิทยาศาสตร์ของ OpenAI

จะเห็นได้ว่าสมาชิกบอร์ดบริหารที่เหลือนี้ “ส่วนใหญ่” เป็นบุคคลภายนอก ส่วนที่เป็นคนใน OpenAI มีเพียง ซัตสกีเวอร์ หัวหน้านักวิทยาศาสตร์ของ OpenAI เพียงคนเดียว

ล่าสุด แม้มีเสียงคัดค้านตามมาจากหลายฝ่าย โดยเฉพาะผู้บริหารและนักลงทุนของ OpenAI ที่พยายามทวงคืนสถานะซีอีโอให้อัลท์แมน แต่บอร์ดบริหารชุดปัจจุบันเลือกยืนยันคำเดิม และเตรียมจ้าง เอ็มเมตต์ เชียร์ (Emmett Shear) อดีตซีอีโอของเว็บสตรีมเกม Twitch ขึ้นเป็น “ซีอีโอถาวร” แทนอัลท์แมน

จนถึงบัดนี้ ยังไม่มีใครรู้เหตุผลเบื้องหลังของการปลดอัลท์แมนแบบสายฟ้าแลบ เหตุผลที่บอร์ดชี้แจงมีเพียงว่า เป็นเพราะ “อัลท์แมนไม่ได้สื่อสารกับบอร์ดอย่างตรงไปตรงมา” อันเป็นอุปสรรคต่อความสามารถในการทำหน้าที่ บอร์ดจึงไม่เชื่อมั่นที่จะให้อัลท์แมนนั่งเป็นซีอีโอต่อไป

เหตุผลที่ไม่ได้มาพร้อมรายละเอียดของเหตุการณ์นี้ได้นำมาสู่ “ข้อสงสัยจากสาธารณะ” มากมาย คำถามสำคัญต่อมาคือ หลังยุคอัลท์แมนแล้ว บริษัท OpenAI ที่คุม “หัวใจ” ของเทคโนโลยีอนาคต จะเลือกเดินเส้นทางไหน จะยังคงยึดจุดยืนเดิม คือ พัฒนา AI เพื่อประโยชน์มนุษยชาติมากกว่าผลกำไร หรือเลือกเปลี่ยนไปดำเนินธุรกิจ AI เชิงพาณิชย์มากขึ้นแทน

อ้างอิง: openaicnbccnbc(2)cnbctv