สงครามกาซา-ทะเลแดง แม้ห่างไกลแต่ไทยต้องสนใจ
แม้ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับฮามาส จะเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไกลจากประเทศไทย แต่ก็ส่งผลกระทบไม่น้อย นอกจากประเด็นตัวประกันชาวไทยที่ยังไม่ได้รับการปล่อยตัวแล้ว ปัญหาการโจมตีเรือขนส่งสินค้าในทะเลแดงก็สร้างความเสี่ยงให้เศรษฐกิจเช่นกัน
สงครามระหว่างอิสราเอลกับฮามาสที่ปะทุขึ้นตั้งแต่วันที่ 7 ต.ค. ประเทศไทยที่อยู่ห่างไกลและไม่ได้เป็นคู่ขัดแย้งแต่ก็มีส่วนเกี่ยวข้องกับเขาจนได้ เริ่มต้นจากแรงงานไทยที่เข้าไปทำงานในอิสราเอลถูกสังหารเสียชีวิตและถูกจับไปเป็นตัวประกันในกาซา ถึงขณะนี้ยังปล่อยตัวมาไม่หมด รัฐบาลจึงต้องพยายามทำทุกวิถีทางให้ตัวประกันที่เหลือได้รับการปล่อยตัวอย่างปลอดภัยโดยเร็วที่สุด ได้แต่หวังให้พวกเขาปลอดภัย
อีกหนึ่งเรื่องที่ตามมาและอาจส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยคือ ตั้งแต่วันที่ 19 พ.ย. เป็นต้นมา กลุ่มฮูตีในเยเมนได้โจมตีเรือสินค้าที่แล่นผ่านทะเลแดงเพื่อกดดันให้อิสราเอลยุติการทำสงครามกับฮามาสในฉนวนกาซา ทะเลแดงคือเป็นจุดเชื่อมยุโรปและอเมริกาเหนือเข้ากับเอเชียผ่านทางคลองสุเอซ เป็นเส้นทางขนส่งสินค้าที่สำคัญ แต่ละปีมีเรือผ่านเส้นทางนี้ราว 35,000 ลำ คิดเป็นราว 10% ของจีดีพีโลกซึ่งก็ไม่ใช่น้อยๆ บริษัทขนส่งสินค้าจำต้องหาทางออก เบื้องต้นเลี่ยงเส้นทางทะเลแดงหันไปอ้อมแหลมกู๊ดโฮปแทน
บางรายใช้วิธีการผสมผสาน ขนส่ง 2-3 โหมด เช่น ขนทางเรือมาลงที่ดูไบจากนั้นขึ้นเครื่องบินต่อ ซึ่งการเดินทางอ้อมแหลมกู๊ดโฮปนั้นแน่นอนว่าไกลขึ้น เสียเวลาไม่น้อยกว่า 30 วัน ต้นทุนเพิ่มขึ้น ส่วนการขนส่งทางเครื่องบินค่าใช้จ่ายสูงกว่าทางเรือ 5-15 เท่าอยู่แล้ว เรียกได้ว่าจะเลือกวิธีไหนก็โดนทั้งขึ้นทั้งล่อง ส่วนกองเรือนานาชาตินำโดยสหรัฐที่เพิ่งจัดตั้งขึ้นมาลาดตระเวนน่านน้ำแถบนี้ ยังไม่แน่ใจว่าได้ผลแค่ไหน พันธมิตรหลายๆ ประเทศก็รีๆ รอๆ
ทั้งหมดนี้คือปัจจัยภายนอกที่ธุรกิจไทยต้องคำนึง เพราะสินค้าส่งออกของไทยส่งไปยุโรปต้องใช้เส้นทางนี้ บริษัทที่ปรึกษาบางรายในต่างประเทศเตือนลูกค้าให้เตรียมการรับมือความชะงักงันในทะเลแดงไว้ไม่น้อยกว่า 90 วัน ขณะที่กระทรวงพาณิชย์หารือภาคเอกชนและทูตพาณิชย์ในตะวันออกกกลางและยุโรปเห็นตรงกันว่า เหตุการณ์ไม่น่ายืดเยื้อ เพราะประเทศใหญ่ๆ ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์นี้ พยายามแก้ไขปัญหาอยู่ โดยถ้าจบเร็ว จะไม่กระทบการส่งออกภาพรวมของไทยในปี 2566 แน่นอน
ได้ฟังอย่างนี้ก็สบายใจแต่ยังประมาทไม่ได้ รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช นักวิชาการอิสระและผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจระหว่างประเทศ และที่ปรึกษาอาวุโส บริษัท อินเทลลิเจนท์ รีเสิร์ช คอนซัลแตนท์ จำกัด (IRC) กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยปี 2567 แม้จะฟื้นตัวโดยจะเติบโตอยู่ที่ 2.5-3.1% การส่งออกขยายตัวในรอบ 2 ปี ซึ่งโตอยู่ที่ 2.2-2.5% แต่ยังมีปัจจัยเสี่ยงรุมเร้ามากมาย หนึ่งในนั้นคือสงครามภายใต้ความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งสงครามระหว่างอิสราเอลกับฮามาสก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของปัจจัยเสี่ยงต่อการส่งออกของไทยด้วย ด้วยเหตุนี้สถานการณ์ไกลบ้านแต่ก็จำเป็นที่ทั้งรัฐบาลและเอกชนจำเป็นต้องจับตาอย่าประมาท