IAM ออกหนังสือชี้แจง ปมทำโฉนดกู้เงินลูกค้าหาย พร้อมการเยียวยา
บริษัท บริหารสินทรัพย์ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย จำกัด ชี้แจงปมทำโฉนดกู้เงินลูกค้าหาย พร้อมการเยียวยา ขยายเวลาชำระหนี้ออกไปจนถึงวันที่ 15 ก.พ.67 หรือจนกว่าจะได้ใบแทนฯ งดคิดดอกเบี้ยและเบี้ยปรับ คืนเงินมัดจำ
เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2566 บริษัทบริหารสินทรัพย์ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย จำกัด ออกหนังสือชี้แจง ปมทำโฉนดกู้เงินลูกค้าหาย โดยระบุว่า ตามที่ปรากฎข่าวผ่านสื่อออนไลน์และสื่อสาธารณะ โดยรายงานว่า ธนาคารแห่งหนึ่งย่านพระราม 9 ได้ทำ โฉนดที่ดิน ของลูกค้าสูญหาย ทำให้ไม่สามารถขายที่ดินเพื่อชำระหนี้ได้ทันตามกำหนดเวลาและเกิดความเสียหายนั้น
บริษัทบริหารสินทรัพย์ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย จำกัด (บอส.หรือ IAM) ให้ความสำคัญในการให้บริการกับลูกค้าอย่างเป็นธรรม (Market Conduct) ตระหนักถึงสิทธิของลูกค้า และรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างเต็มความสามารถ โดยได้หารือร่วมกับลูกค้าหรือผู้ร้องเรียนเพื่อแก้ไขสถานการณ์ให้ลูกค้าสามารถโอนขายทรัพย์ตามความประสงค์ได้อย่างเร็วที่สุด และหาแนวทางชดเชยเยียวยาจนเป็นทีพอใจของลูกค้าและผู้ค้ำประกันแล้ว จึงขอเรียนชี้แจงดังนี้
บสอ. มีการเก็บรักษาเอกสารสำคัญของลูกค้าภายในห้องมั่นคง และมีกระบวนการควบคุมการเข้าถึงการเบิกใช้เอกสารเพื่อป้องกันการสูญหาย และการนำไปใช้ที่ไม่สมควร สำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น บสอ.ได้ตรวจสอบแล้วพบว่า โฉนดที่ดิน ของลูกค้าไม่ได้เกิดการสูญหายในระหว่างเก็บรักษาของ บสอ.
อย่างไรก็ตาม บสอ.รับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยขอรับมอบอำนาจจากลูกค้าไปดำเนินการออกใบแทนหนังสือแสดงสิทธิ์ในที่ดินเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 18 ธ.ค.66 ซึ่งตามขั้นตอนทราบว่าภายในวันที่ 15 ก.พ.67 ลูกค้าจะสามารถใช้ใบแทนฯ ดังกล่าวทำการโอนขายทรัพย์ได้
ในการนี้ บสอ.ได้มีมาตรการชดเชยเยียวยาให้กับลูกค้า โดยจะขยายเวลาชำระหนี้ออกไปจนถึงวันที่ 15 ก.พ.67 หรือจนกว่าจะได้ใบแทนฯ และในระหว่างนี้ บสอ.จะงดคิดดอกเบี้ยและเบี้ยปรับ รวมทั้งจะทำการคืนเงินมัดจำ (Upfort) ทั้งจำนวนให้กับลูกค้าเพื่อนำเงินไปคืนให้กับผู้ซื้อทรัพย์ ซึ่งจะทำให้ทุกฝ่ายไม่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์นี้
บสอ.ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ สังกัดกระทรวงการคลัง ยังคงมุ่งมั่นในการช่วยเหลือลูกหนี้ทุกรายให้กลับมาประกอบธุรกิจและดำเนินชีวิตได้ตามปกติอย่างเต็มความสามารถ เพื่อสร้างความเข้มแข็งและความมั่นคงทางการเงินให้กับธุรกิจและชุมชน และเป็นฟันเฟืองในการขับเคลื่อนตามนโยบายของรัฐบาลในการแก้หนี้สาธารณะของประเทศ เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบการเงินของประเทศชาติต่อไป