ศาลปกครองกลาง ‘ยกฟ้อง’ คดี ‘อีสท์วอเตอร์’ ร้องล้มประมูลท่อน้ำ EEC
ศาลปกครองกลาง พืพากาษา ‘ยกฟ้อง’ คดี ‘อีสท์วอเตอร์’ ฟ้องร้องล้มประมูลท่อน้ำ EEC ชี้ข้อกล่าวอ้างของผู้ฟ้องคดีรับฟังไม่ได้
ศาลปกครองกลางนัดอ่านคำพิพากษาวันที่ 28 ธ.ค.2566 คดีหมายเลขดำที่ 1746/2564 ระหว่างบริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรือ อีสท์วอเตอร์ ที่เป็นผู้ฟ้องคดี กับ บริษัทวงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด ที่เป็นผู้ร้องสอด
และผู้ถูกฟ้องคดีประกอบด้วยคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนในการจัดให้เช่า/บริหารระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 , กรมธนารักษ์ เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 และคณะกรรมการที่ราชพัสดุเป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3
ทั้งนี้ ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษายกฟ้อง โดยศาลได้มีการพิจารณากรณีที่ผู้ฟ้องคดีอ้างว่าผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามยอมผ่อนผันให้ผู้ร้องสอดปรับลดค่าแรกเข้า เพื่อทำสัญญาที่ต้องชำระในวันลงนามสัญญา เป็นการเอาเปรียบผู้ยื่นข้อเสนอทุกรายอย่างไม่เป็นธรรม
ในขณะที่คู่สัญญาฝ่ายรัฐมีหน้าที่ต้องส่งมอบทรัพย์สินให้แก่คู่สัญญาฝ่ายเอกชน การที่คู่สัญญาฝ่ายรัฐยังไม่สามารถส่งมอบทรัพย์สินให้แก่คู่สัญญาฝ่ายเอกชน แล้วใช้ดุลพินิจในการกำหนดเงื่อนไขของสัญญาในการชำระค่าแรกเข้า เพื่อทำสัญญาจึงเป็นการกำหนดเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่คู่สัญญาฝ่ายเอกชน และไม่ขัดต่อกฎหมาย รวมถึงไม่ได้เป็นการเปลี่ยนแปลงจำนวนเงินค่าแรกเข้าเพื่อทำสัญญาที่จะทำให้ราชการเสียเปรียบ ข้อกล่าวอ้างของผู้ฟ้องคดีจึงรับฟังไม่ได้
ทั้งนี้เมื่อวันที่ 13 ธ.ค.2566 ตุลาการผู้แถลงคดีได้ชี้แจงว่าพิจารณาคำแถลงของอีสท์วอเตอร์แล้วเห็นว่าไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำแถลงการณ์ด้วยวาจาที่จะแถลงต่อองค์คณะ และได้แถลงการณ์ด้วยวาจาต่อองค์คณะเพื่อประกอบการพิจารณาคำพิพากษา
นอกจากนี้ ตุลาการผู้แถลงคดีได้แถลงสรุปถึงเหตุผลที่ควรยกฟ้อง โดยเห็นว่าคณะกรรมการคัดเลือกฯ รับฟังไม่ได้ว่าการยกเลิกไม่ชอบด้วยกฎหมาย
รวมทั้งระยะเวลาการประกาศเชิญชวน รอบ 2 น้อยกว่า 15 วัน ไม่เป็นสาระสำคัญให้การคัดเลือกไม่ชอบ เพราะผู้ร่วมประมูลทุกรายยื่นซองเอกสารทัน
ส่วนการที่คณะกรรมการที่ราชพัสดุเห็นชอบให้บริษัทวงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด ผ่านการคัดเลือกไม่ใช่การกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
รวมถึงการแบ่งค่าแรกเข้าเป็น 2 งวด เป็นเพราะอีสท์วอเตอร์ไม่ยอมส่งมอบพื้นที่ ดังนั้นข้ออ้างของอีสท์วอเตอร์จึงฟังไม่ขึ้น ขณะที่ประเด็นอื่นไม่มีผลต่อการพิจารณา จึงทำให้ตุลาการผู้แถลงคดีเห็นควรยกฟ้อง