คำถามเงินดิจิทัล 2 ข้อ ที่ต้องการให้ ‘เศรษฐา’ ตอบ
นายกรัฐมนตรีควรตอบคำถามเกี่ยวกับนโยบายแจก “เงินดิจิทัล” 2 ประเด็นคือ ตอนนี้ สถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบันอยู่ในระดับวิกฤติแค่ไหน จำเป็นต้องแจกเงินหรือไม่ และ นโยบายนี้มีส่วนแก้ไขวิกฤติเศรษฐกิจอย่างไร
ถึงแม้ว่าสถานการณ์เศรษฐกิจของไทยในปี 2567 มีทิศทางขยายตัวได้ดีกว่าปี 2566 แต่เศรษฐกิจไทยยังขยายตัวได้ค่อนข้างต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับศักยภาพ โดยสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประมาณการเศรษฐกิจปี 2567 ขยายตัว 2.7-3.7% ขณะที่ปี 2566 ขยายตัว 2.5% มีทิศทางสอดคล้องกับหลายหน่วยงาน เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประมาณการปี 2567 ขยายตัว 3.2% (ไม่รวมการแจกเงินดิจิทัล) ส่วนปี 2566 ขยายตัว 2.4%
รัฐบาลมีความพยายามในการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งสำคัญ โดยนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี แถลงต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 11 ก.ย.2566 ถึงนโยบายแจกเงินดิจิทัลคนละ 10,000 บาท วงเงิน 500,000 ล้านบาท ซึ่งเดิมพรรคเพื่อไทยแจ้งคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ช่วงหาเสียงว่าใช้วิธีเกลี่ยงบประมาณ แต่เมื่อเข้ามาเป็นรัฐบาลต้องหันมาใช้วิธีการกู้เงิน ซึ่งนำมาสู่การสอบถามคณะกรรมการกฤษฎีกาเกี่ยวกับการออก พ.ร.บ.กู้เงิน โดยมีคำตอบว่ารัฐบาลทำได้บนเงื่อนไขของ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง
ประเด็นแรกที่นายกรัฐมนตรีควรตอบคำถามให้ชัดเจน คือ สถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบันอยู่ในระดับวิกฤติแค่ไหน โดยมาตรา 53 กำหนดให้รัฐบาลกู้เงินได้เฉพาะกรณีที่จําเป็นต้องดําเนินการเร่งด่วนและต่อเนื่อง เพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤติของประเทศ โดยไม่อาจตั้งงบประมาณรายจ่ายประจําปีได้ทัน ซึ่งรัฐบาลต้องอธิบายว่าการแจกเงินดิจิทัลมีความจำเป็นเร่งด่วนเพียงใด เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจปี 2567 และสถานการณ์วิกฤติที่กำลังเกิดขึ้นในมุมมองของรัฐบาลมาจากปัจจัยใด และรัฐบาลจะแก้ไขวิกฤติเศรษฐกิจที่กำลังเกิดขึ้นได้อย่างไร
ประเด็นที่ 2 นายกรัฐมนตรีควรตอบให้ชัดเจนว่านโยบายการแจกเงินดิจิทัลจะมีส่วนแก้ไขวิกฤติเศรษฐกิจอย่างไร โดยการที่รัฐบาลผลักดันนโยบายการแจกเงินดิจิทัลเกิดขึ้นบนสมมติฐานว่าเศรษฐกิจไทยอยู่ในระดับวิกฤติที่ต้องได้รับการกระตุ้นในระดับที่ต้องกระตุกเศรษฐกิจประเทศให้ตื่นขึ้นมาอีกครั้ง ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าแนวคิดดังกล่าวรัฐบาลกำลังมองว่าเศรษฐกิจไทยอยู่ในระดับหลับใหลที่ต้องปลุกให้ตื่น ด้วยการอัดงบประมาณ 500,000 ล้านบาท เข้าระบบเศรษฐกิจภายใน 6 เดือน
ขณะนี้คณะกรรมการกฤษฎีกาส่งคำตอบให้กระทรวงการคลังแล้ว โดยระบุว่ารัฐบาลดำเนินการออกกฎหมายเพื่อกู้เงินได้บนเงื่อนไขที่กำหนดใน พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง ดังนั้นสิ่งสำคัญอีกส่วน คือ กฎหมายกำหนดให้การก่อหนี้ ครม.ต้องพิจารณาประโยชน์ที่รัฐหรือประชาชนจะได้รับความคุ้มค่าและภาระการเงินการคลังที่เกิดขึ้นแก่รัฐ รวมถึงความเสี่ยงและความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นแก่การเงินการคลังของรัฐอย่างรอบคอบ ไม่อย่างนั้น ครม.ทั้งคณะอาจถูกกล่าวหาละเว้นการรักษาผลประโยชน์ของประเทศ