ฝ่าความท้าทาย 2567 กับหอการค้าเยอรมัน-ไทย
หอการค้าเยอรมัน-ไทย (จีทีซีซี) ถือเป็นองค์กรตัวแทนธุรกิจที่ใหญ่และเก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย สมาชิกครอบคลุมทั้งภาคการผลิตและบริการดำเนินกิจกรรมธุรกิจอย่างแข็งขัน
Key Points:
- ดีไอเอชเคที่มีสมาชิกอยู่ใน 93 ประเทศทั่วโลก สำรวจมุมมองภาคธุรกิจในอีก 12 เดือนข้างหน้า
- บริษัทเยอรมนีในเอเชียแปซิฟิกคึกคักที่สุด มีความหวังมากที่สุด ในจีนมีความหวังน้อยที่สุด
- ความท้าทายได้แก่ ความตึงเครียดระหว่างประเทศ ความขัดแย้งด้านผลประโยชน์ สงคราม ราคาพลังงานเพิ่มสูงขึ้นมาก การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กระบวนการทำให้เป็นดิจิทัล และการเปลี่ยนแปลงทางประชากร
ความคิดเห็นจากสมาชิกจีทีซีซีถือเป็นเรื่องที่น่ารับฟัง ด้วยเป็นมุมมองจากคนทำงานถึงสภาพความเป็นจริงทางเศรษฐกิจที่ได้พบเจอและความหวังต่อประเทศไทยในการดึงดูดการลงทุนในอนาคต
งานสัมมนา Thailand Economic Outlook 2024 ของจีทีซีซีเมื่อวันก่อน ดร.มาร์ติน วานสเลเบน (Dr. Martin Wansleben) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารหอการค้าและอุตสาหกรรมเยอรมัน (ดีไอเอชเค) มาแสดงปาฐกถาในหัวข้อ “DIHK Insights: Germany's economic landscape and business ties with ASEAN and Asia-Pacific” กล่าวว่า ดีไอเอชเคที่มีสมาชิกอยู่ใน 93 ประเทศทั่วโลก ได้สำรวจความคิดเห็นของสมาชิกอยู่เสมอทั้งในเยอรมนีและทั่วโลก เพื่อสำรวจมุมมองภาคธุรกิจในอีก 12 เดือนข้างหน้า พบว่า บริษัทเยอรมนีในเอเชียแปซิฟิกคึกคักที่สุด มีความหวังมากที่สุด ถือว่าเอเชียแปซิฟิกเป็นมหาอำนาจในวันนี้ ขณะที่บริษัทเยอรมนีในจีนมีความหวังน้อยที่สุด และกล่าวถึงความท้าทายที่พวกเขากำลังเจอ ซึ่งเป็นสภาพที่เยอรมนี ยุโรป กำลังเผชิญเหมือนกับจีน
ความท้าทายดังกล่าวได้แก่ ความตึงเครียดระหว่างประเทศ ความขัดแย้งด้านผลประโยชน์ สงคราม ราคาพลังงานเพิ่มสูงขึ้นมาก การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กระบวนการทำให้เป็นดิจิทัล และการเปลี่ยนแปลงทางประชากร
สถานการณ์ในเยอรมนีและยุโรป
ประธานดีไอเอชเคกล่าวว่า ขณะนี้ยากที่จะมองโลกในแง่ดีได้ ในเมื่อเยอรมนีและยุโรปกำลังเผชิญความตึงเครียดทางการเมืองโดยเฉพาะจากสงครามรัสเซียในยูเครน ฮามาสโจมตีอิสราเอล ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐกับจีน ราคาพลังงานเพิ่มสูง การเมืองแตกแยก วิธีการแก้ไขปัญหาคือ ต้องร่วมมือกันให้มากขึ้น ไม่ว่ากับลูกค้าหรือซัพพลายเออร์ สร้างความแข็งแกร่งให้กับห่วงโซ่อุปทาน เพิ่มผลิตภาพ
วานสเลเบนเสนอให้ ส่งเสริมการศึกษาของผู้คนทั่วโลก และสนับสนุนการเจรจาการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ของสหภาพยุโรปกับทุกประเทศรวมทั้งไทย ที่อยู่ระหว่างการเจรจารอบสองในกรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 22-26 ม.ค.
“นี่คือเหตุผลหนึ่งที่เรามาที่นี่ เพื่อนำข้อมูลดีๆ ทุกอย่างกลับไปเยอรมนี ไม่เพียงแค่กระตุ้นให้ภาคธุรกิจเข้ามาลงทุนในไทย แต่ยังหวังเป็นอย่างยิ่งว่านักลงทุนไทยจะเข้าไปลงทุนในเยอรมนีและยุโรปเช่นกัน” ประธานดีไอเอชเคกล่าว (ดร.มาร์ติน วานสเลเบน)
รัฐบาลไทยต้องมีใจธุรกิจ
ส่วนมุมมองของธุรกิจเยอรมนีในไทยอันประกอบด้วยตัวแทนของบริษัท ฮอร์มันน์, เลสชาโก้, แชฟฟ์เลอร์ แมนูแฟคเจอริ่ง, ซีเมนส์เฮลทิเนียร์ส และไทยสวิชบอร์ด แอนด์ เมตัลเวอร์ค กล่าวถึงสถานการณ์เศรษฐกิจการค้าในปี 2566 ที่ผ่านมาว่า ตลาดชะลอตัวช่วงไตรมาส 2-3 ของปีที่ผ่านมา ผลจากรอรัฐบาลหลังจากการเลือกตั้งในเดือน พ.ค.เป็นเหตุให้เศรษฐกิจปั่นป่วน
สำหรับตลาดรถยนต์การผลิตในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อยู่ในระดับปานกลาง เริ่มต้นครึ่งปีแรกแข็งแกร่งแต่เริ่มเข้าสู่ขาลงเล็กน้อยในช่วงครึ่งปีหลัง ในปี 2566 เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ผลิตรถ 2.2 ล้านคันลดลงมากจากปีก่อนหน้า ประเทศไทยผลิตรถ 1.8 ล้านคัน สถานการณ์ครึ่งปีแรกดี ครึ่งปีหลังชะลอตัวเนื่องจากการท่องเที่ยวฟื้นจริงแต่ไม่ได้ดังหวัง รวมถึงความท้าทายจากปัจจัยภายนอก ได้แก่ ความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ เศรษฐกิจโลกซบเซา ส่วนในปี 2567 วิกฤติตะวันออกกลางยังร้อนแรงบานปลายไปถึงทะเลแดงทำให้การขนส่งสินค้าล่าช้าไปสองสัปดาห์ และไม่ทราบว่าความขัดแย้งจะยืดเยื้อไปถึงเมื่อใด ดังนั้นภาคธุรกิจจะต้องปรับสมดุลสินค้าคงคลัง สมดุลการลงทุน และสร้างคนเก่ง
ตัวแทนธุรกิจเยอรมนีให้คำแนะนำต่อรัฐบาลว่า ต้องทำให้ประเทศไทยน่าสนใจลงทุนมากขึ้นทั้งจากนักลงทุนเยอรมนีและประเทศอื่นๆ โดยรัฐบาลต้องทำทุกอย่างที่จำเป็นให้ประเทศไทยเทียบทันมาตรฐานนานาชาติ เพื่อส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ ทั้งนี้ การท่องเที่ยวยังคงเป็นเครื่องยนต์หลักของเศรษฐกิจไทย
“ขั้นตอนแรกคือรัฐบาลต้องมี business mind แล้วทำให้การทำธุรกิจง่ายขึ้น ซึ่งเป็นมิติสำคัญที่สุดนอกเหนือจากความสามารถในการแข่งขัน มีเวทีแข่งขันที่เท่าเทียมซึ่งการมีเอฟทีเอจะช่วยในส่วนนี้” ตัวแทนภาคธุรกิจเยอรมนีในประเทศไทยกล่าวโดยสรุป
'ธุรกิจเยอรมนี' เชื่อมั่นศักยภาพไทย
ไมเคิล เวลเซอร์ กล่าวถึง ภาพรวมเศรษฐกิจไทย ธนาคารโลกคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจจะเติบโตเพิ่มขึ้นในปีนี้มาอยู่ที่ 3.2% จาก 2.5% ในปี 2566 ผลจากการท่องเที่ยวและการส่งออกฟื้นตัว การบริโภคภาคเอกชนเป็นไปอย่างต่อเนื่อง และเงื่อนไขทางการคลังดีขึ้น
เยอรมนียังคงเป็นคู่ค้ารายใหญ่สุดของไทยในสหภาพยุโรป ข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ระบุ ปริมาณการค้าสองฝ่ายระหว่างเดือน ม.ค.-พ.ย.รวม 9.92 พันล้านยูโร ระหว่างเดือน ม.ค.-ก.ย.2566 เยอรมนีเข้ามาลงทุนโดยตรงในไทย (เอฟดีไอ) เป็นอันดับ 10 จำนวน 19 โครงการ ชี้ให้เห็นว่าบริษัทเยอรมนียังคงเชื่อมั่นในเศรษฐกิจและศักยภาพของไทย ตัวอย่างเช่น เมื่อเร็วๆ นี้ บริษัทอีโวนิคเพิ่งประกาศซืื้ออดีตบริษัทร่วมทุนไทย เปอร์อ๊อกไซด์ จำกัด เพื่อขยายตลาดในเอเชียแปซิฟิก ปีที่แล้วมีการลงทุนจากบริษัทเยอรมนีหลายราย อาทิ เมอร์เซเดส-เบนซ์,เดมเลอร์ คอมเมอร์เชียล วีฮีเคิลส์ (ดีซีวีที), บีเอ็มดับเบิลยู, ดั้กเซอร์,รีนุส โลจิสติกส์ เป็นต้น
หอการค้าเยอรมัน-ไทย (จีทีซีซี) ส่งเสริมความสัมพันธ์ทวิภาคีของภาคธุรกิจ สนับสนุนให้บริษัทและสถาบันทั้งจากไทยและเยอรนีเปิดโอกาสการค้าการลงทุนมาตั้งแต่ พ.ศ.2505 ทั้งยังสนับสนุนการพัฒนาอย่างยั่งยืนของไทยอย่างแข็งขันผ่านหลายโครงการ และสนับสนุนไทยทำตัวแบบเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (บีซีจี) ให้เป็นจริง
ปัจจุบันจีทีซีซีกำลังทำโครงการ International Hydrogen Ramp-Up Programme “H2Uppp“ โดยร่วมมือกับองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (จีไอแซด) ส่งเสริมพลังงานสะอาดในประเทศไทย ทั้งยังจัดทัศนศึกษาของภาคธุรกิจในหัวข้อต่างๆ อาทิ แผงโซลาร์เซลล์, ไบโอก๊าซ, การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ, เทคโนโลยีรางรถไฟ, ยานยนต์ไฟฟ้า และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงเดินหน้าส่งเสริมให้ภาคธุรกิจทำกิจกรรมด้านความยั่งยืน ส่งตัวแทนดูงานด้านการกักเก็บพลังงานในงานฮันโนเวอร์เมสเซ และดูงานด้านไบโอมีเธน
นับตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นมาจีทีซีซีทำโครงการไทย- เยอรมันเพื่อความเป็นเลิศในการศึกษาทวิภาคี (จีทีดีอีอี) โดยร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับบริษัทพันธมิตรและสถาบันการศึกษาพัฒนาแรงงานมีทักษะผ่านการศึกษาและฝึกอบรมวิชาชีพสำหรับประเทศไทย 4.0 ตามมาตรฐานเยอรมนีและเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (เอสดีจี) ปีนี้วางแผนจัดเวิร์กชอปฝึกอบรมอย่างเข้มข้น