ภูมิรัฐศาสตร์ ปัจจัยเสี่ยง ‘เศรษฐกิจไทย’
ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ถือเป็นความเสี่ยงต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทย ซึ่งจำเป็นที่รัฐบาลจะต้องประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด รวมถึงการเตรียมมาตรการเพื่อรองรับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น โดยไม่มีใครคาดเดาได้ว่าความขัดแย้งที่เคยมีผลต่อราคาพลังงาน
สถานการณ์ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์เป็นประเด็นที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิดเพิ่มมากขึ้น นอกจากสถานการณ์สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ยืดเยื้อมาตั้งแต่เดือน ก.พ.2565 และส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันในตลาดโลกอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา และต่อมามีสงครามระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาส ซึ่งเป็นประเด็นที่ไทยควรให้ความสำคัญต่อมาตรการรองรับผลกระทบทางเศรษฐกิจ ที่จะมีผลในด้านแรงงาน ราคาพลังงาน ราคาสินค้าโภคภัณฑ์และต้นทุนภาคเกษตร
รวมถึงล่าสุดมีการโจมตีเรือในทะเลแดงของกลุ่มฮูตี ซึ่งเหตุการณ์นี้เริ่มส่งผลกระทบที่ชัดเจนมากขึ้นต่อผู้ส่งออกไทยหลังจากค่าระวางเรือปัจจุบันเพิ่มขึ้น 200-400% เมื่อเทียบกับช่วงปลายปี 2566 โดยจะทำให้ผู้ส่งออกมีต้นทุนที่สูงขึ้น และอาจมีปัญหาการส่งมอบสินค้าล่าช้า และอาจทำให้ผู้นำเข้าเลือกที่จะสั่งซื้อสินค้าจากประเทศอื่นที่รับมือกับปัญหานี้ได้ และสินค้าส่งออกของไทยไปยุโรปจะต้องขนส่งผ่านทะเลแดงก่อนที่จะข้ามคลองสุเอช
ในขณะที่การเลือกตั้งในหลายประเทศจะมีผลต่อนโยบายการต่างประเทศที่อาจมีผลต่อด้านการค้าและการลงทุน โดยในปี 2567 จะมีการการเลือกตั้งเกิดขึ้นมากกว่า 50 ประเทศ ซึ่งเป็นการแข่งขันในหลายระดับทั้งการเลือกตั้งประธานาธิบดีและการเลือกตั้งทั่วไป โดยล่าสุดมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีไต้หวันที่ผลการเลือกตั้งออกมาสะเทือนความสัมพันธ์ระหว่างจีนและไต้หวัน และหลังจากนี้จะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีที่อินโดนีเซีย สหรัฐ ยูเครน อียิปต์ รัสเซีย และเวเนซูเอลา
หน่วยงานด้านเศรษฐกิจ เช่น กระทรวงการคลังออกมายอมรับถึงสถานการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2567 ที่มีปัจจัยเสี่ยงจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์โลกมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น ซึ่งอาจเป็นข้อจำกัดและกระทบการเติบโตของเศรษฐกิจไทยระยะถัดไป ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบจากการแข่งขันเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างจีนและสหรัฐ รวมถึงสถานการณ์สู้รบระหว่างอิสราเอลและฮามาสที่อาจส่งผลกระทบต่อราคาพลังงานให้ปรับตัวสูงขึ้น และความยืดเยื้อของสงครามระหว่างรัสเชียและยูเครน
ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์จึงถือเป็นความเสี่ยงต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทย ซึ่งจำเป็นที่รัฐบาลจะต้องประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด รวมถึงการเตรียมมาตรการเพื่อรองรับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น โดยไม่มีใครคาดเดาได้ว่าความขัดแย้งที่เคยมีผลต่อราคาพลังงาน เช่น รัสเซียและยูเครน ตะวันออกกลาง จะปะทุจนเกิดผลกระทบต่อราคาน้ำมันในตลาดโลกอีกหรือไม่ ซึ่งไทยพร้อมรับมือผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยหรือไม่ รวมถึงความพร้อมทางการคลังมีมากน้อยแค่ไหน