ครูจีน ‘หลายล้านคน’ เสี่ยงตกงานใน 10 ปี เซ่นวิกฤติ ‘เด็กเกิดน้อย’
เปิดความเสี่ยง “อาชีพครู” ในจีน เมื่ออาชีพที่ถูกมองว่ามั่นคง อาจเสี่ยงตกงานหลายล้านคนใน 10 ปีหน้า อันมาจากวิกฤติเด็กจีนเกิดน้อย ขณะเดียวกัน ไทยก็เผชิญปัญหานักศึกษาเรียนต่อมหาวิทยาลัยน้อยลงด้วย
Key Points
- จำนวนนักเรียนจีนที่เข้าศึกษาในระดับโรงเรียนอนุบาล “ร่วงลงเป็นครั้งแรก” ในรอบเกือบ 2 ทศวรรษในปี 2564 ขณะที่จำนวนนักเรียนประถม “ลดลงเป็นครั้งแรก” เช่นกัน ในรอบทศวรรษในปี 2565
- จากเทรนด์ประชากรจีน โรงเรียนรัฐบาลจึงลดขนาดห้องเรียนลง เพื่อช่วยลดโอกาสเลิกจ้างครู และทำให้การสอนมีคุณภาพมากขึ้นด้วย
- ผลวิจัยชี้ว่า ถ้าจำนวนนักเรียนในห้องเรียนยังคงอยู่ในระดับเดิมนี้ มีแนวโน้มว่า ครูในโรงเรียนประถมจะล้นเกินความต้องการ 1.5 ล้านคน และล้นเกิน 370,000 คนสำหรับครูมัธยมต้นภายในปี 2578
เดิมนั้น อาชีพ “ครู” ในประเทศจีน เปรียบดั่ง “ชามข้าวเหล็ก” หรืออาชีพที่มั่นคงในสังคม แต่ในปัจจุบัน ความเชื่อนี้กำลังถูกสั่นคลอน เมื่อจำนวนเด็กทารกเกิดใหม่ในจีนตกฮวบนับตั้งแต่ปี 2560 โดยเมื่อปีที่แล้ว เด็กเกิดใหม่ลดลงมากกว่า 500,000 คนสู่ระดับราว 9 ล้านคน
ขณะที่ชาวจีนที่มีอาชีพครูในปัจจุบันมีจำนวนมากกว่านักเรียน ประกอบกับอายุขัยมนุษย์ในปัจจุบันที่ยืนยาวขึ้น จึงทำให้อาชีพนี้ของ “หลายล้านคน” อยู่ในความเสี่ยงที่อาจจะตกงานภายในปี 2578
นอกจากนั้น สำนักข่าว South China Morning Post รายงานว่า ไม่เพียงวิกฤติประชากร ปัญหาภาคอสังหาริมทรัพย์ และเศรษฐกิจที่ซบเซาของแดนมังกร ได้ทำให้โรงเรียนหลายแห่งในจีนจำต้องปิดตัวลง เห็นได้จากข้อมูลของกระทรวงศึกษาธิการจีนที่ระบุไว้ว่า จำนวนนักเรียนที่เข้าศึกษาในระดับโรงเรียนอนุบาล “ร่วงลงเป็นครั้งแรก” ในรอบเกือบ 2 ทศวรรษในปี 2564 ขณะที่จำนวนนักเรียนประถม “ลดลงเป็นครั้งแรก” เช่นกัน ในรอบทศวรรษในปี 2565
- เหล่านักเรียนจีน (เครดิต: Shutterstock) -
โดยทั่วไป ห้องเรียน 1 ห้องในโรงเรียนจีน จะแออัดไปด้วยนักเรียนมากถึง 50 คนในบางพื้นที่ของย่านเมือง และราว 30 คนในย่านส่วนใหญ่ของชนบท ซึ่งจากข้อมูลของทีมวิจัยซึ่งนำโดย เฉียว จินจง (Qiao Jinzhong) ศาสตราจารย์ด้านการศึกษาของมหาวิทยาลัยครุศาสตร์ปักกิ่ง ให้ข้อมูลว่า ถ้าจำนวนนักเรียนในห้องเรียนยังคงอยู่ในระดับเดิมนี้ มีแนวโน้มว่า ครูในโรงเรียนระดับประถมจะล้นเกินความต้องการ 1.5 ล้านคน และล้นเกิน 370,000 คนสำหรับครูมัธยมต้นภายในปี 2578
เฉียวให้ข้อมูลต่อว่า จำนวนโรงเรียนในระดับการศึกษาภาคบังคับได้ “ลดลงอย่างต่อเนื่อง” นับตั้งแต่ปี 2546 และแนวโน้มนี้ก็เป็นไปอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ 2563 ถึง 2578 ในอัตราการลดลงที่เร็วขึ้นด้วย
ฉู่ เจ้าฮุ้ย (Chu Zhaohui) นักวิจัยของสถาบันด้านการศึกษา China National Academy of Educational Sciences ให้ความเห็นว่า ด้วยจำนวนนักเรียนที่น้อยลง จึงเลี่ยงไม่ได้ที่หลายโรงเรียนต้องปิดตัวลงตาม
“ตามงานวิจัยของผม นอกจากปัจจัยด้านประชากรแล้ว ภาระด้านการเงินของประชาชนและรัฐบาลท้องถิ่น ทำให้จำนวนเปิดรับสมัครครูใหม่ยิ่งน้อยลงไปอีก” ฉู่เสริม
- รัฐบาลท้องถิ่นจีนเร่งปรับตัว
ด้วยแนวโน้มเด็กเกิดน้อยลงเช่นนี้ ฝ่ายการศึกษาของมณฑลหูหนานในจีนจึงออกคำสั่งในเดือน พ.ย. 2566 ด้วยการปรับวิธีกระจายทรัพยากรด้านการศึกษาตามอัตราการเกิด การขยายตัวของเมือง และจำนวนนักเรียนที่เข้าศึกษาในอีก 5-10 ปี เพื่อรับมือความเปลี่ยนแปลงของประชากร
นอกจากนี้ ในตลอดหลายปีที่ผ่านมา รัฐบาลท้องถิ่นหลายแห่ง เช่น มณฑลซานตงและเสฉวน ประกาศแผนลดจำนวนวิชาที่เปิดสอนในระดับอุดมศึกษาลง เพื่อให้ลดความไม่สมดุลระหว่างจำนวนครูกับนักเรียน
ในปี 2564 จำนวนนักเรียนอนุบาลร่วงลงตั้งแต่ปี 2546 และลงต่ออีก 3.7% ในปี 2565
ในปี 2565 จำนวนนักเรียนประถมลดลงเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2556 ซึ่งเป็นการลดลง 478,800 คนจากปีที่แล้วสู่ระดับ 107 ล้านคน
จากเทรนด์ดังกล่าว แม็กกี้ เฉิน (Maggie Chen) ครูในมณฑลเจ้อเจียงมาเกือบ 20 ปี แสดงมุมมองว่า “โรงเรียนรัฐบาลจึงได้ลดขนาดห้องเรียนลง เพื่อช่วยลดโอกาสเลิกจ้างครู และทำให้การสอนมีคุณภาพมากขึ้นด้วย แต่สำหรับโรงเรียนเอกชนที่ขนาดห้องเรียนเล็กอยู่แล้ว เหล่าคุณครูอาจอยู่ในความเสี่ยงที่จะถูกเลิกจ้างมากกว่า”
ขณะที่ หวง ปิน (Huang Bin) ศาสตราจารย์ที่สถาบันการศึกษาของมหาวิทยาลัยหนานจิง กล่าวว่า ความต้องการครูที่น้อยลงไม่ใช่เรื่องแย่ เพราะจะทำให้การคัดเลือกคุณภาพครูที่จะเข้ามาสอนเข้มงวดขึ้น โดยเฉพาะในโรงเรียนแถบชนบท คุณครูจำนวนมากมีทักษะทางวิชาชีพไม่เพียงพอ และหวงก็คาดการณ์ว่า ในอนาคตจะมีการควบรวมระหว่างสถาบันการศึกษามากขึ้นสำหรับกิจการที่ไปไม่รอด และทำให้ช่องว่างทางการศึกษาระหว่างมหาวิทยาลัยลดน้อยลง
- อาจารย์ไทยก็เผชิญปัญหาคล้ายจีน
ข้อมูลจากสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า ครอบครัวไร้บุตรหลานมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยในปี 2549 สัดส่วนของโครงสร้างไร้บุตรหลานอยู่ที่ 26.1% และในปี 2561 โครงสร้างดังกล่าวเพิ่มขึ้นเป็น 37.4% และทำให้นักศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยน้อยลงด้วย
“ธนวรรธน์ พลวิชัย” อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เคยให้สัมภาษณ์กับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า สมัยก่อน มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยรับนักศึกษาปีละ 7,000-8,000 คน แต่ในปี 2565 เหลือเพียง 4,500 คนเท่านั้น นับเป็นการลดลงกว่าครึ่งหนึ่งจากค่าเฉลี่ยปกติ ซึ่งเทรนด์ประชากรเช่นนี้ดูเหมือนเป็นโจทย์ใหญ่ของรัฐบาลทั่วโลกที่ต้องเตรียมรับมือ
อ้างอิง: scmp, bangkok