‘ไฮสปีดเทรน’ สะดุด ความเชื่อมั่น ’อีอีซี‘ หดหาย
รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ขายฝันโครงการเมกะโปรเจกต์ในภาคตะวันออก เพื่อสร้างแรงจูงใจในการลงทุนของภาคเอกชน แต่ยังไม่มีโครงการใดสร้างเสร็จและเปิดให้บริการ ส่วนรัฐบาลปัจจุบันขายฝันโครงการแลนด์บริดจ์ที่ยังไม่มีอะไรยืนยันได้ 100% ว่าจะเกิดการลงทุนแน่นอน
การขับเคลื่อนเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เป็นการสร้างจุดขายใหม่ให้กับประเทศไทยเมื่อ 6 ปี ที่ผ่านมา หลังจากมีการออก พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ.2561 ซึ่งถือเป็นกฎหมายฉบับแรกเพื่อรองรับการพัฒนาเชิงพื้นที่ โดยมีคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และมีรัฐมนตรีเกือบครึ่ง ครม.เป็นกรรมการ ถือเป็นโครงสร้างที่มีการออกแบบเพื่อสร้างแรงสนับสนุนจากภาครัฐอย่างเต็มที่
การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานถูกกำหนดไว้ 4 โครงการหลัก ประกอบด้วย โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) โครงการพัฒนาเมืองการบินภาคตะวันออก โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดเฟส 3 เพื่อให้การลงทุนร่วมระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน (PPP) เป็นจุดเริ่มต้นในการลงทุนของภาคเอกชน โดยเฉพาะการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายเพื่อยกระดับการพัฒนาประเทศ
โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) เป็นโครงการแรกที่มีการลงนามร่วมลงทุนเมื่อวันที่ 24 ต.ค.2562 หลังจากที่มีการเริ่มประมูลเมื่อปี 2561 โดยที่ผ่านมามีปัญหาอุปสรรคมากมายจนทำให้ปัจจุบันยังไม่สามารถส่งมอบพื้นที่ได้ และยังไม่สามารถเริ่มตอกเสาเข็มก่อสร้างได้เลย ซึ่งมีการเจรจาระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) และบริษัทเอเชีย เอรา วัน จำกัด ทุกขั้นตอนตั้งแต่ก่อนลงนามสัญญา จนถึงปัจจุบันที่มีการลงนามไปแล้วมากกว่า 4 ปี ก็ยังอยู่ระหว่างการเจรจาแก้ไขสัญญา
หากทุกอย่างเป็นไปตามแผนประเทศไทยจะมีรถไฟความเร็วสูงสายแรกเปิดให้บริการในปี 2567 แต่สิ่งดังกล่าวไม่เกิดขึ้นเพราะอุปสรรคต่างๆ ที่ถูกยกขึ้นมาจนกระทั่งรัฐบาลยอมตามคำขอของภาคเอกชนให้แก้ไขสัญญาร่วมลงทุน แต่การเจรจาก็เป็นไปด้วยความยืดเยื้อ ถึงแม้ว่าคณะรัฐมนตรี (ครม.) จะเห็นชอบในหลักการให้คู่สัญญาดำเนินการเจรจาแก้ไขสัญญาตั้งแต่เดือน ต.ค.2564 แต่จนถึงปัจจุบันการแก้ไขสัญญายังไม่ได้ข้อสรุปพอที่จะเสนอ กพอ.และ ครม.ได้
รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ขายฝันโครงการเมกะโปรเจกต์ในภาคตะวันออก เพื่อสร้างแรงจูงใจในการลงทุนของภาคเอกชน แต่ยังไม่มีโครงการใดก่อสร้างเสร็จและเปิดให้บริการ ในขณะที่รัฐบาลปัจจุบันขายฝันโครงการแลนด์บริดจ์ที่ยังไม่มีอะไรยืนยันได้ 100% ว่าจะเกิดการลงทุนแน่นอน เพราะต่างชาติเห็นชัดเจนอยู่แล้วรถไฟความเร็วสูงที่ลงนามไปแล้วมากกว่า 4 ปี ยังไม่สามารถเริ่มก่อสร้างได้ จึงไม่แปลกถ้าหากความเชื่อมั่นการลงทุนใน EEC จะถดถอยลง