แจก “ดิจิทัลวอลเล็ต” จำเป็นแค่ไหน
หากรัฐจะใช้นโยบายดิจิทัลวอลเล็ต ก็ต้องมีแนวทางแก้ปัญหาความเสี่ยง ที่อาจต้องเจอหลังนโยบายนี้จบลง เพราะมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจลักษณะนี้ย่อมแลกมาด้วย “ความเสี่ยงสูง”
สถานการณ์เศรษฐกิจไทยและทั่วโลก ยังไม่มีทีท่าจะพลิกฟื้นได้ในเร็ววัน หลายประเทศยังตกอยู่ในภาวะเศรษฐกิจชะงักงัน สุ่มเสี่ยงเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย
ไทยเองดัชนีชี้วัดเศรษฐกิจหลายเรื่อง ยังน่าเป็นห่วง มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ยังคงมีความจำเป็น เพียงแต่ว่ารูปแบบ วิธีการ การออกแบบมาตรการ จะออกมาในรูปแบบใด รัฐบาลเศรษฐา เลือกใช้วิธีแจกเงิน 1 หมื่นบาทผ่านดิจิทัล วอลเล็ต ซึ่งเป็นนโยบายที่พรรคเพื่อไทยได้หาเสียงไว้
โครงการดิจิทัลวอลเล็ตเมื่อปีที่ผ่านมา ถูกพูดถึงอย่างกว้างขวางถึงผลดี ผลเสียต่อระบบเศรษฐกิจประเทศ เกิดคำถามมากมายถึงความจำเป็นของนโยบายดังกล่าว เมื่อเทียบกับความเสี่ยง
หลายคนติงว่า ดิจิทัลวอลเล็ต จะเป็นตัวการทำให้หนี้สาธารณะของประเทศเพิ่มขึ้นสูง เป็นความเสี่ยงทางการคลังของประเทศไทย แถมยังมีโอกาสถูกปรับลดระดับความน่าเชื่อถือลงด้วย ความเสี่ยงจากหนี้สาธารณะ จะนำไปสู่วิกฤติเศรษฐกิจที่เราต้องหาทางแก้ไขกันอีก
รัฐบาลโดยนาย นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง และประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต แถลงความคืบหน้า ของโครงการนี้ กำหนดไทม์ไลน์ใหม่ ยืนยันว่ามีความชัดเจนขึ้น และเงินจะถึงมือประชาชน แต่อาจเปลี่ยนกรอบเวลาเล็กน้อย
รมช.คลัง บอกว่า ไตรมาส 3 ปีนี้ จะลงทะเบียนร้านค้าและลงทะเบียนประชาชนที่เมื่อถึงเวลานั้นระบบค่อนข้างพร้อมแล้ว ดังนั้น ไตรมาส 4 ปีนี้ จะเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ตถึงมือประชาชนทุกคน
ก่อนหน้านี้ เวิลด์แบงก์ เคยออกมาพูดถึงโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ไว้อย่างน่าสนใจว่า หากมีการดำเนินโครงการคาดว่า จะสามารถกระตุ้นการเติบโตในระยะสั้นได้เพิ่มขึ้น 0.5% ถึง 1% ของจีดีพี ในช่วงระยะเวลาระหว่างปี 2567 และ 2568 แต่จะส่งผลให้การขาดดุลทางการคลังอาจเพิ่มขึ้นเป็น 4 ถึง 5% ของจีดีพี ในขณะที่หนี้สาธารณะอาจเพิ่มสูงขึ้นถึง 65 ถึง 66% ของจีดีพีเลยทีเดียว
นโยบายดิจิทัลวอลเล็ตของรัฐบาล เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ การจับจ่ายในระยะสั้น หากความเสี่ยงในระยะยาวเป็นเรื่องที่หลายฝ่ายควรต้องขบคิดให้ตกผลึก ระบบวินัยการเงินการคลังของเราจะเสียหาย
ท่ามกลางวิกฤติเศรษฐกิจที่ยังคงอยู่ หากรัฐจะใช้นโยบายดิจิทัลวอลเล็ต ก็ต้องมีแนวทางแก้ปัญหาความเสี่ยง ที่อาจต้องเจอหลังนโยบายนี้จบลง เพราะมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจลักษณะนี้ย่อมแลกมาด้วย “ความเสี่ยงสูง” ที่ต้องประเมินให้ดีว่าประเทศรับไหวหรือไม่