โครงสร้างเศรษฐกิจไทย ‘ปัญหาใหญ่’
โครงสร้างเศรษฐกิจไทยต้องเกาะไปกับเมกะเทรนด์ของโลก ตอบโจทย์โลกยุคใหม่ได้ กฎเกณฑ์ กติกา มาตรการบางอย่างที่เป็นตัวขัดขวางการเดินหน้าของเศรษฐกิจ ต้องกลับไปนั่งคุย หารือ หาแนวทางปรับให้สอดคล้องกับโลกปัจจุบัน
สถานการณ์เศรษฐกิจไทย ยังอยู่ในภาวะเปราะบาง มีแนวโน้มที่จะถดถอยในระยะข้างหน้า หากเราไม่สามารถขยับตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจให้สูงกว่าที่ควรจะเป็น
ปัจจุบัน เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้าน และต่ำกว่าศักยภาพ ไตรมาส 1 ปี 2567 ขยายตัว 1.5% เมื่อเทียบกับปีก่อน
ขณะที่เศรษฐกิจไทยปี 2566 ขยายตัวเพียง 1.9% เราไม่ปฏิเสธว่า การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยที่ตกต่ำลง ส่วนหนึ่งมาจากภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกที่ชะงักงันจากปัจจัยลบมากมาย โดยเฉพาะปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ การกีดกันทางการค้า
แต่เมื่อพิเคราะห์ให้ดี สาเหตุสำคัญเกิดจากโครงสร้างเศรษฐกิจของไทยเอง โดยเฉพาะภาคการผลิต สินค้าที่ผลิตไม่ทันสมัยพอ แข่งขันกับตลาดโลกไม่ได้
ส่งผลให้ยอดการส่งออกสินค้าของไทยลดลง กระทบกับการเติบโตของจีดีพีในภาพรวม ทำให้ประเทศไทยไม่ใช่ปลายทางของนักลงทุน ไม่มีจุดแข็งใดๆ ในเชิงการค้า การส่งออก ผลิตภัณฑ์ก็ไม่แข็งแรงพอ ทักษะคนในประเทศก็ไม่ดึงดูด
ไม่แปลกที่นักลงทุนต่างชาติ ทุนใหญ่ๆ ระดับโลก จึงไม่เสี่ยงทุ่มเม็ดเงินเข้ามาลงทุนในไทยอย่างจริงจัง และเป็นรูปธรรมเหมือนกับประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งอินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนาม ที่กำลังกลายเป็นฮับการลงทุนขนาดใหญ่จากต่างประเทศ... ประเทศไทยกำลังถูกทุนต่างชาติเมิน
ที่ผ่านมา การส่งออกเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย แต่เพราะคู่แข่งในภูมิภาคเขาเก่งกว่าเรา แข็งแรงกว่าเรา ช่วง 4 เดือน แรกของปี 2567 มูลค่าการส่งออกสินค้าของไทยมีมูลค่า 94,274 ล้านดอลลาร์
ขณะที่เวียดนามมีมูลค่า 123,928 ล้านดอลลาร์ และมาเลเซีย 100,836 ล้านดอลลาร์ สะท้อนชัดเจนว่า โครงสร้างการผลิตของไทยแข่งกับภูมิภาคไม่ได้ รวมถึงการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ หรือที่เรียกว่า เอฟดีไอ ของไทยเทียบหลายประเทศก็น้อยมาก ปี 2566 FDI NetFlow ของอินโดนีเซียอยู่ที่ 21,701 ล้านดอลลาร์ , มาเลเซีย 18,500 ล้านดอลลาร์ , เวียดนาม 8,255 ล้านดอลลาร์ และไทย 2,969 ล้านดอลลาร์ ไทยรั้งท้ายแบบไม่น่าเชื่อ
โครงสร้างเศรษฐกิจประเทศไทย กำลังมีปัญหา และรัฐบาลจำเป็นต้องปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเสียใหม่ ลบจุดด้อย ดันจุดแข็ง
โครงสร้างเศรษฐกิจไทยต้องเกาะไปกับเมกะเทรนด์ของโลก ตอบโจทย์โลกยุคใหม่ได้ กฎเกณฑ์ กติกา มาตรการบางอย่างที่เป็นตัวขัดขวางการเดินหน้าของเศรษฐกิจ ต้องกลับไปนั่งคุย หารือ หาแนวทางปรับให้สอดคล้องกับโลกปัจจุบัน
อย่าลืมว่า ประเทศไทย เป็นรองหลายเรื่องเมื่อเทียบกับเพื่อนบ้าน ไม่ต้องบอกว่าเรื่องไหนบ้าง เป็นหน้าที่ของรัฐบาลต้องเร่งแก้เกมตีโจทย์ให้แตก