'ทุเรียนไทย' ต้องกังวลไหม? เมื่อ 'ทุเรียนจีน' รสอ่อน-กลิ่นจาง-ราคาสูง

'ทุเรียนไทย' ต้องกังวลไหม? เมื่อ 'ทุเรียนจีน' รสอ่อน-กลิ่นจาง-ราคาสูง

ดูเหมือน “ทุเรียนที่จีนปลูกได้เอง” นั้น รสชาติยังคงห่างไกลจาก “ทุเรียนไทย” ของเรา เพราะค่อนข้างไปทางจืด กลิ่นจาง อีกทั้งราคาแพงถึงกิโลกรัมละ 600 บาท ผู้ชิมบางคนยังมองว่าเนื้อทุเรียนจีน ออกจะชวนให้นึกถึงกล้วยดิบเสียมากกว่า

KEY

POINTS

  • รสชาติทุเรียนจีน” ค่อนข้างอ่อน พอ ๆ กับกลิ่นที่จาง อีกทั้งมีราคาแพง อยู่ที่กิโลกรัมละ 120 หยวนหรือราว 600 บาท ซึ่งสูงกว่าราคาทุเรียนนำเข้าส่วนใหญ่ถึง 3 เท่า
  • อุปสรรคใหญ่ที่สุดสำหรับการปลูกทุเรียนในมณฑลไหหลำและแถบเอเชียตะวันออก (จีน เกาหลี ญี่ปุ่น) คือ พายุไต้ฝุ่นที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง
  • เมื่อปี 2566 แดนมังกรเผชิญกับพายุไต้ฝุ่น ทำให้ได้ผลผลิตจากมณฑลไหหลำเพียง 50 ตัน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนเพียง 0.005% ของทุเรียนที่บริโภคกันทั้งหมดในจีน

จากกรณี “จีนปลูกทุเรียนเองได้แล้ว” ที่มณฑลไห่หนานหรือไหหลำ หลายคนวิตกกันว่า ต่อไปนี้ “ชาวจีน” ลูกค้ารายใหญ่ที่สุดอาจไม่สั่งทุเรียนจากไทยแล้วหรือไม่

อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ดูเหมือนจะไม่น่าวิตกอย่างที่คิด เพราะ รสชาติทุเรียนจีน” ค่อนข้างอ่อน พอ ๆ กับกลิ่นที่จาง แถมยังราคาแพงอีกด้วย ที่กิโลกรัมละ 120 หยวน หรือราว 600 บาท ซึ่งสูงกว่าราคาทุเรียนนำเข้าส่วนใหญ่ถึง 3 เท่า

\'ทุเรียนไทย\' ต้องกังวลไหม? เมื่อ \'ทุเรียนจีน\' รสอ่อน-กลิ่นจาง-ราคาสูง - ทุเรียนไหหลำ (เครดิต: tropicalhainan) -

เชีย ดริสคอลล์ (Shea Driscoll) ผู้สื่อข่าวของหนังสือพิมพ์ South China Morning Post ได้เล่าว่า เขาได้สั่งซื้อทุเรียนจากจีนเข้ามาในออฟฟิศ และเมื่อได้ลองแกะชิมทุเรียนนี้แล้ว

โดยปกติ กลิ่นของทุเรียนที่เขาจำได้คือ จะแรงมากจนถูกห้ามนำขึ้นพาหนะสาธารณะในหลายพื้นที่ ใครก็ตามไม่ว่าจะรักหรืออาจไม่ชอบผลไม้นี้ ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า กลิ่นของทุเรียนนั้นฟุ้งกระจายไปได้ไกล

อย่างไรก็ตาม ทุเรียนจากจีนนี้ กลับไม่มีใครสังเกตเห็นเลยด้วยซ้ำว่า มีทุเรียนผ่าซีกวางอยู่ที่โต๊ะ ต้องเข้าไปใกล้มาก ๆ ถึงจะได้กลิ่นที่ออกมาเพียงเล็กน้อย

ส่วนสีของเนื้อทุเรียนนั้น ก็ออกเป็นสีเหลืองอ่อนกว่าสีทองเข้มที่เคยเห็นกันทั่วไป

ถ้าถามว่ารสชาติเป็นอย่างไร? บทสรุปที่เจ็บแสบจากผู้อยากรู้คนหนึ่งที่ได้ลองชิมแล้ว คือ “อ่อน”

ในเรื่องของเนื้อสัมผัส ก็แทบจะไม่มีความครีมเหมือนทุเรียนแท้ ๆ เลย เนื้อของทุเรียนลูกนี้บางครั้งออกจะชวนให้นึกถึงกล้วยดิบเสียมากกว่า และผู้ที่ได้ลองชิมคนอื่น ๆ ก็ไม่ค่อยประทับใจเช่นกัน

“แทบไม่มีรสชาติอะไรเลย” เป็นอีกหนึ่งคำวิจารณ์ที่รุนแรง โดยเหล่าผู้ชิมต่างเห็นตรงกันว่า ทุเรียนจากจีน คือ “เนื้อแห้ง แข็ง และมีรสอ่อน”

ต้นทุนปลูกทุเรียนจีนยังคงสูง

นอกจากเรื่องรสชาติ กลิ่น และเนื้อสัมผัสที่สู้ทุเรียนไทยไม่ได้แล้ว ราคาขายทุเรียนจีนก็สูงด้วย ที่กิโลกรัมละ 600 บาท เนื่องจากปลูกยาก แม้จะปลูกสำเร็จแล้วที่มณฑลไหหลำ แต่ภูมิประเทศที่นั่นยังไม่เหมาะกับทุเรียนนัก เพราะโดยปกติแล้ว “ทุเรียน” ถือเป็นไม้ผลยืนต้นขนาดใหญ่ อุณหภูมิที่เหมาะสมอยู่ในช่วง 25 - 30 องศาเซลเซียส จึงเหมาะกับการปลูกในพื้นที่ “อากาศแบบร้อนชื้น” อย่างแถบภูมิภาคอาเซียน

เฟิง เสว่เจี๋ย (Feng Xuejie) ผู้อำนวยการสถาบันผลไม้เขตร้อน แห่งสถาบันวิทยาศาสตร์การเกษตรแห่งมณฑลไหหลำกล่าวว่า “อุปสรรคใหญ่ที่สุดสำหรับการปลูกทุเรียนในมณฑลไหหลำและแถบเอเชียตะวันออก (จีน เกาหลีเหนือ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น) คือ พายุไต้ฝุ่นที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง”

“ลำต้นที่เปราะบางของต้นทุเรียนนั้น ยากต่อการต้านลมแรง และต้องใช้ชั้นวางโลหะชนิดหนึ่งติดตั้งไว้ เพื่อรับทุเรียนที่ร่วงลงมา ซึ่งมีราคาอยู่ที่ 1,000 หยวนหรือราว 5,000 บาทต่อต้น”

ผู้อำนวยการสถาบันผลไม้เขตร้อนรายนี้ตั้งคำถามอีกว่า ชั้นวางเหล่านี้จะอยู่รอดจากพายุไต้ฝุ่นได้หรือไม่ บรรดาเกษตรกรส่วนใหญ่ยังขาดประสบการณ์ในการปลูกทุเรียน ซึ่งเป็นอุปสรรคอีกประการหนึ่งต่อการปลูกทุเรียนเชิงพาณิชย์ในวงกว้างของจีน

นอกจากนี้ เฟิงยังเสริมว่า เกษตรกรส่วนใหญ่ของจีนปลูกทุเรียนโดยอาศัยบริษัทเอกชน ซึ่งต้องพึ่งต้นกล้าทุเรียนที่นำเข้าเป็นหลัก คุณภาพของเมล็ดพันธุ์นั้นก็ยากต่อการประเมินด้วยสายตา อีกทั้งจีนมีพื้นที่เพาะปลูกทุเรียนที่จำกัดมาก

ด้วยเหตุนี้ ในปัจจุบัน จีนยังต้องพึ่งพาการนำเข้าทุเรียนจากประเทศแถบอาเซียนเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะไทย เวียดนาม และมาเลเซีย โดยเมื่อปีที่แล้ว แดนมังกรนี้เผชิญกับพายุไต้ฝุ่น ทำให้ได้ผลผลิตจากมณฑลไหหลำเพียง 50 ตัน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนเพียง 0.005% ของทุเรียนที่บริโภคกันทั้งหมดในจีน

\'ทุเรียนไทย\' ต้องกังวลไหม? เมื่อ \'ทุเรียนจีน\' รสอ่อน-กลิ่นจาง-ราคาสูง - ทุเรียนจากจีน (เครดิต: Sun Yeung) -

ไทยไม่ควรประมาททุเรียนจีน

ถึงแม้ว่าทุเรียนจีนจะยังคงตามหลังไทย แต่ด้วยวิทยาการด้านพันธุกรรมพืชที่ล้ำสมัยของจีน ไทยจึงไม่ควรประมาท ซึ่งต่อไป จีนอาจจะมีการปรับปรุงสายพันธุ์ทุเรียนให้ออกผลผลิตดีขึ้นเรื่อย ๆ และได้ตั้งเป้าหมายผลผลิตให้เพิ่มขึ้นถึง 4 เท่า เป็น 200 ตันในปีนี้

ไม่เพียงเท่านั้น ไทยมีอีกคู่แข่งหนึ่งที่อาจต้องเร่งรีบรับมือในขณะนี้ คือ ทุเรียนเวียดนาม” แม้ว่าความอร่อยของเนื้อทุเรียนอาจยังคงสู้ไทยไม่ได้ แต่ด้วยราคาที่ถูกกว่า จึงมีการเติบโตทางยอดขายที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ

ดังจากข้อมูลศุลกากรของจีนที่เผยว่า ในปี 2565 ไทยเป็นผู้ส่งออกทุเรียนไปยังจีนในสัดส่วนถึง 95% ของการนำเข้าทุเรียนทั้งหมดของจีน แต่เนื่องจากการแข่งขันที่รุนแรงจากเวียดนาม ส่งผลให้สัดส่วนการนำเข้าทุเรียนจากไทยลดลงเหลือ 65% ในปี 2566

ยิ่งไปกว่านั้น ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้  จีนนำเข้าทุเรียนเวียดนามสูงถึง 45 ล้านกิโลกรัม ซึ่ง “มากกว่า” นำเข้าจากไทยที่ 27.3 ล้านกิโลกรัม

นี่อาจเป็นสัญญาณที่เกษตรกรสวนทุเรียนและภาครัฐต้องเร่งเตรียมรับมือ พร้อมพัฒนาสายพันธุ์ให้ปลูกง่ายขึ้น ทนทานต่อภาวะโลกร้อน และให้ผลผลิตสูง เพราะถ้าไทยปรับตัวช้า ต่อให้มีภูมิประเทศที่เอื้อต่อการปลูกทุเรียนและมีพันธุ์พืชที่ดี แต่ก็อาจถูกประเทศเพื่อนบ้านหรือแม้แต่จีนเองแซงได้ ซึ่งพวกเขาพัฒนา และทดลองปลูกทุเรียนอย่างไม่หยุดยั้ง

อ้างอิง: scmpscmp(2)scmp(3), Chi, CGTN