ผวา ‘เศรษฐา’ หลุดตำแหน่งนายกฯ เกิดสุญญากาศ นโยบายฟื้นเศรษฐกิจสะดุด
“หอการค้า” ห่วงสุญญากาศการเมืองกระทบงบปี 2568 สะดุดนโยบายขับเคลื่อนได้ช้า ส.อ.ท.ชี้ศาลตัดสินคดีนายกฯ 14 ส.ค.67 นี้ ถือเป็นเรื่องดี หากเลื่อนอีกบรรยากาศอึมครึม นักลงทุนไม่อยากให้เปลี่ยนม้ากลางศึก ไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจ ห่วงต่างชาติไม่มั่นใจ
ศาลรัฐธรรมนูญนัดฟังคำวินิจฉัยคดีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กรณีการแต่งตั้งนายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 14 ส.ค.2567 เป็นที่จับตาถึงอนาคตของนายเศรษฐา ว่าจะได้อยู่ในตำแหน่งต่อหรือไม่
นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานสภาหอการค้าไทย และนายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป กล่าวกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า กรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้นายเศรษฐา ได้นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีจะทำให้ได้บริหารประเทศ ซึ่งนโยบายของรัฐบาลจะเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังจะเดินหน้าต่อได้
ส่วนกรณีศาลรัฐธรรมนูญตัดสินว่า นายกรัฐมนตรีมีความผิดจริง จะส่งผลให้สถานภาพความเป็นนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี (ครม.) สิ้นสุดลง ซึ่งทำให้ประเทศต้องขาดผู้นำประเทศชั่วคราว และเข้าสู่กระบวนการเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่
ทั้งนี้ จะทำให้นโยบายต่างๆ ของรัฐบาลต้องชะงัก ซึ่งไม่ทราบว่ากระบวนการเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่จะใช้เวลาเท่าไร และยิ่งในช่วงนี้เศรษฐกิจอยู่ในช่วงขาลงมากอาจส่งผลต่อการบริหารประเทศ โดยเฉพาะนโยบายด้านเศรษฐกิจที่รัฐบาลจะต้องรีบเร่งแก้ปัญหาด้านเศรษฐกิจ ช่วยผู้ประกอบการ ประชาชน ในภาวะที่กำลังซื้อถดถอย โดยมีประเด็นที่น่ากังวล ดังนี้
1.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2568 ที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรอาจจะมีการติดขัด และงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 มีความล่าช้า และเหลือการเบิกจ่ายงบเพียง 3 เดือนเท่านั้น
2.เศรษฐกิจไทยขณะนี้มีเครื่องยนต์ที่ขับเคลื่อนได้ดีเฉพาะการท่องเที่ยวเท่านั้น ขณะที่การส่งออกอยู่ในช่วงขาลงช่วยกระตุ้นจีดีพีแรงๆ ไม่ได้ ดังนั้นเหลือเพียงการใช้จ่ายของภาครัฐที่จะเข้ามาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงต่อจากนี้
3.กำลังซื้อของประชาชนลดลงส่งผลให้ผู้บริโภคไม่กล้าใช้จ่าย และขาดความเชื่อมั่นในการบริโภค ซึ่งการกระตุ้นเศรษฐกิจจากนโยบายของรัฐบาลจึงเป็นสิ่งสำคัญในขณะนี้
4.การหวังพึ่งแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจจากการลงทุนจากต่างประเทศเป็นเรื่องยาก เพราะนักลงทุนชะลอการลงทุนจากปัญหาเศรษฐกิจโลกไม่ดี ดังนั้นประเทศไทยทำได้คือ การหาทางดูแลตัวเอง
"หากการไม่มีผู้นำประเทศแล้ว สิ่งที่กล่าวมาไม่กระทบสามารถเดินหน้าได้ก็ไม่น่าห่วง แต่หากเกิดการสะดุดในช่วงสุญญากาศที่ไม่มีนายกฯ ก็อาจมีปัญาหาได้ “นายวิศิษฐ์ กล่าว
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า การตัดสินคดีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ถือเป็นประเด็นที่ภาคเอกชนและ ส.อ.ท.พูดคุยมาตลอด ตั้งแต่วันที่ 10 ก.ค.2567 แล้ว
ดังนั้น ครั้งนี้ หากจะตัดสินจริงๆ และมีการกำหนดวันที่จะพิจารณาลงตัวถือว่าดี เพราะอย่างน้อยก็มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้นให้กับกลุ่มอุตสาหกรรม และนักลงทุนว่าจะไม่เลื่อนการตัดสินไปอีก เพราะหากยังคงเลื่อนออกไปจะทำให้สถานะอึมครึมแน่นอน
ทั้งนี้ โดยหลักการแล้วภาคเอกชนไม่อยากให้เปลี่ยนม้ากลางศึก โดยอยากให้นโยบายต่อเนื่องเพราะนายกรัฐมนตรีมีโครงการมากมายที่กำลังไปได้ดี และเพิ่งเริ่มโครงการมาได้ราว 1 ปี หากต้องเปลี่ยนนายกรัฐมนตรีอาจต้องมาเซตอัปใหม่อีก ซึ่งไม่รู้ว่าจะลงตัวเมื่อไหร่ และไม่เป็นผลดีต่อภาคอุตสาหกรรม และเศรษฐกิจประเทศแน่นอน และผู้ที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ยังเดาไม่ถูก
“ที่ผ่านมาถ้าเปลี่ยนนายกรัฐมนตรี นโยบายก็เปลี่ยนตามตัวนายกรัฐมนตรีจะวุ่นวายมากพอสมควรกว่าจะเข้าที่ มีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นทั้งนักธุรกิจคนไทยและต่างชาติ เพราะต้องใช้เวลาอีกนานในการตั้งทีมงานใหม่” นายเกรียงไกร กล่าว
นอกจากนี้ ที่ผ่านมานายกรัฐมนตรีได้เดินทางไปสร้างความเชื่อมั่น และเจรจาการลงทุนกับนักธุรกิจต่างชาติ โดยให้คำมั่นไว้มากมาย แต่ถ้าเปลี่ยนนายกฯ อาจทำให้นักลงทุนสับสนว่านโยบายจะเป็นอย่างไรต่อ เพราะที่ผ่านมาผลการเชิญนักธุรกิจมาลงทุนจะเริ่มเห็นผล และยอดการลงทุนจากต่างประเทศสูงสุดในรอบ 5 ปี อีกทั้ง 5 เดือนที่ผ่านมา เม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศระดับหลายแสนล้านบาท
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์