กยท.ลุยเพิ่มปริมาณยาง EUDR 2 ล้านตัน/ปี MOU ภาคธุรกิจ เพิ่มมูลค่า 6,000 ล้าน

กยท.ลุยเพิ่มปริมาณยาง EUDR 2 ล้านตัน/ปี  MOU ภาคธุรกิจ เพิ่มมูลค่า 6,000 ล้าน

กยท.ลุยส่งเสริมสวนยางอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เพิ่มปริมาณยาง EUDR 2 ล้านตันต่อปี ขยาย MOU ธุรกิจภาคเอกชน สร้างความเชื่อมั่น การยอมรับตลาดซื้อขายยางของไทย ส่งผลเกษตรกรขายได้ในราคาพรีเมียม เพิ่มมูลค่าตลาดไม่น้อยกว่า 6,000 ล้านบาท/ปี มั่นใจส่งผลเสถียรภาพราคาระยะยาว

นายสุขทัศน์ ต่างวิริยกุล รักษาการแทนผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เปิดเผยว่า กยท.มีนโยบายหลักที่จะส่งเสริมให้เกษตรกรชาวสวนยางทำการเกษตรที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมเพื่อก้าวสู่วิถีเกษตรยั่งยืน และให้ความสำคัญกับการจัดการข้อมูลยางให้เป็นไปตามกฎระเบียบ EU Deforestation-free Products Regulation (EUDR) ของสหภาพยุโรป ที่จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2567 เป็นต้นไป 

โดยตั้งเป้าที่จะเพิ่มปริมาณยาง EUDR จากปัจจุบัน 1 ล้านต้น เป็น 2 ล้านตันภายในปี 2568 และ 3.5 ล้านตันในปีถัดไป จากผลผลิตทั้งหมด 4.5 ล้านตัน เพื่อรองรับความต้องการยาง EUDR ที่เพิ่มขึ้น

ในขณะที่เกษตรกรชาวสวนยางที่ผลิตยาง EUDR ก็จะสามารถขายได้ในราคาที่พรีเมียมสูงราคาทั่วไอย่างน้อย 2.50-3.00 บาทต่อกิโลกรัม นอกจากจะสร้างความมั่นคงในอาชีพให้เกษตรกรชาวสวนยางแล้ว ยังจะทำให้ราคายางมีเสถียรภาพมากขึ้น และจะช่วยผลักดันให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางยางพาราของโลกอีกด้วย

กยท.ลุยเพิ่มปริมาณยาง EUDR 2 ล้านตัน/ปี  MOU ภาคธุรกิจ เพิ่มมูลค่า 6,000 ล้าน

นายสุขทัศน์ ย้ำว่า สำหรับกฎระเบียบ EUDR นั้น เป็นกฎหมายว่าด้วยสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ 7 ประเภท ที่จะนำเข้าและส่งออกจากสหภาพยุโรป และยางพาราก็เป็น 1 ใน 7สินค้าเกษตรดังกล่าว ต้องปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่า สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ว่า ยางพาราและผลิตภัณฑ์มาจากสวนยางที่มีเอกสารสิทธิ์ถูกต้องตามกฎหมาย ไม่อยู่ในพื้นที่ต้นน้ำ พื้นที่อนุรักษ์ และพื้นที่ป่า รวมทั้งจะต้องมีการจัดการสวนยางที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และไม่ส่งผลกระทบต่อสังคม
 

รักษาการแทนผู้ว่าการ กยท.ระบุด้วยว่า ขณะนี้มีภาคเอกชนให้ความสนใจยาง EUDR มากขึ้น ซึ่งกยท.พร้อมที่จะประสานความร่วมมือในการจัดหายางพารา EUDR โดยก่อนหน้านี้ ผู้ผลิตยางล้อยี่ห้อมิชลิน ซึ่งใช้ยางปีละประมาณ 1 ล้านตัน ให้ความสนใจ และประกาศที่จะซื้อยาง EUDR จากประเทศไทยไม่น้อยกว่า 500,000 ตันต่อปี  

ล่าสุด เมื่อเร็วๆ นี้ กยท.ยังได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ความร่วมมือทางด้านธุรกิจกับ บมจ.ไทยรับเบอร์ลาเท็คซ์กรุ๊ป (THAITEX)  ในการซื้อขายน้ำยางสด EUDR โดย กยท. จะรวบรวมน้ำยางสด EUDR จำนวน 5,000 ตันต่อเดือน จากจุดรวบรวมน้ำยาง และกลุ่มสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางที่ขึ้นทะเบียนกับ กยท. ที่ขายผ่านระบบ TRT  ส่งมอบให้กับ THAITEX  พร้อมทั้งจะตรวจสอบข้อมูลแหล่งผลิตยาง และประเมินความเสี่ยงตามกฎระเบียบ EUDR ก่อนออกเอกสารข้อมูลการซื้อขายยางให้แก่ผู้ซื้อได้อย่างถูกต้องครบถ้วน

กยท.ลุยเพิ่มปริมาณยาง EUDR 2 ล้านตัน/ปี  MOU ภาคธุรกิจ เพิ่มมูลค่า 6,000 ล้าน     
ทั้งนี้ ราคาน้ำยางสด EUDR ที่ทาง THAITEX รับซื้อนั้น จะเป็นราคาพรีเมียมที่เพิ่มขึ้นจากราคาน้ำยางสดที่ กยท. ประกาศหน้าเว็บไซด์  2.50 บาทต่อกิโลกรัม  อีกทั้งยังจะได้รับส่วนอัตราการขนส่งตามระยะทางอีก 50 กิโลเมตรละ 15 สตางค์ต่อกิโลกรัม และหากเกษตรกรสามารถรวบรวมได้ครั้งละมากกว่า 30 ตัน จะได้บวกเพิ่มอีก 25 สตางค์ต่อกิโลกรัม  
 

อีกทั้งเพื่อสนับสนุนให้เกษตรกรพัฒนาคุณภาพยาง หากน้ำยางมีค่าเปอร์เซ็นต์เนื้อยางแห้ง (DRC) เกิน 35% ก็จะบวกราคาเพิ่มอีก 45 สตางค์ต่อกิโลกรัม รวมแล้วราคายาง EUDR จะมีราคาสูงกว่าราคายางทั่วไปมากกว่า 3 บาทต่อกิโลกรัม

ดังนั้นจะทำให้ประเทศไทยมีรายได้จากการขายยาง EUDR ที่มีในปัจจุบัน คือ 1 ล้านตัน  เพิ่มขึ้นอีกไม่น้อยกว่า 3,000 ล้านบาท และถ้าสามารถเพิ่มปริมาณยางEUDR ให้ได้ 2 ล้านตันตามเป้าหมายในปี 2568 ยางพาราทำให้มีรายได้เข้าประเทศเพิ่มขึ้นอีกไม่น้อยกว่าปีละ 6,000 ล้านบาท

“การลงนาม MOU กับ THAITEX ครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่จะทำการซื้อขายโดยอ้างอิงราคาน้ำยางสด ของ กยท. ที่ประกาศหน้าเว็บไซต์ทุกวัน  ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญในการขับเคลื่อนให้ราคายางประเทศไทยใช้เป็น ดัชนีราคา (Price Index) อ้างอิงในการซื้อขายยางทั้งในและต่างประเทศ  ซึ่งจะทำให้ต่างประเทศเชื่อมั่นและยอมรับในระบบซื้อขายยางของไทยมากขึ้น"  รักษาการแทนผู้ว่าการ กยท.กล่าวและว่า
    
นอกจากนี้ กยท.ยังเตรียมขยาย MOU ความร่วมมือทางด้านธุรกิจกับภาคเอกชนรายอื่นๆ ที่มีความสนใจในการซื้อขายยาง EUDR  ให้ครอบคลุมยางทุกประเภทไม่ว่าจะเป็น ยางก้อนถ้วย  ยางแผ่นดิบ ยางแผ่นรมควัน ยางแท่ง  รวมทั้งน้ำยางสด เป็นต้น เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน สร้างความเท่าเทียม และความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงสร้างความเชื่อมั่นในระบบซื้อขายยางของ กยท. 

กยท.ลุยเพิ่มปริมาณยาง EUDR 2 ล้านตัน/ปี  MOU ภาคธุรกิจ เพิ่มมูลค่า 6,000 ล้าน

เราสามารถประกาศได้เลยว่า ยางที่ออกจากประเทศไทยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ไม่ทำลายป่า ไม่ทำผิดกฎหมาย และที่สำคัญสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ถึงแหล่งที่มาได้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งผู้ประกอบการที่จะสามารถขายยางและผลิตภัณฑ์ยางในตลาดสากล โดยเฉพาะตลาด EU ได้ เพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน  ในขณะเดียวกันเกษตรกรชาวสวนยาง และสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง ก็จะสามารถขายยาง EUDR ได้ในราคาที่สูงกว่าราคายางทั่วไป  มีตลาดรองรับที่แน่นอน ซึ่งจะทำให้ราคายางพารามีเสถียรภาพในระยะยาว