หรือรัฐบาลไทยรับมือปัญหา ‘น้ำท่วม’ ผิดจุด เน้น ‘บรรเทา’ มากกว่า ‘ป้องกัน’
หรือรัฐบาลไทยรับมือปัญหา ‘น้ำท่วมใหญ่’ ที่เกิดขึ้นซ้ำซากผิดจุด จากงบประมาณส่วนใหญ่เน้น ‘บรรเทา’ มากกว่า ‘ป้องกัน’ และขาด ‘ยุทธศาสตร์’ ป้องกันน้ำท่วม ซึ่งไทยเข้าใกล้ช่วงเวลาน้ำท่วมใหญ่ในรอบ 50 ปี
โลกร้อน อุณหภูมิที่สูงขึ้นทำให้บรรยากาศเก็บความชื้นได้มากขึ้น เมื่อรวมกับ พายุ ก็ทำให้เกิดฝนตกหนักและ น้ำท่วม ตามมาซึ่งตอนนี้ทั่วโลกกำลังเผชิญปัญหาที่คล้ายๆกันทั้ง ยุโรป แอฟริกา เอเชีย และ “ไทย”
เป็นอีกครั้งที่ประเทศไทยเจอกับ “วิกฤติน้ำท่วม” ตั้งแต่เดือนม.ค.ถึงมิ.ย. 2567 ไทยเผชิญมรสุมที่พัดผ่านประเทศและปริมาณน้ำฝนที่มากกว่าปกติถึง 50-60% เกินความสามารถของดินที่จะอุ้มน้ำได้ จนทำให้เกิดอุทกภัย นับตั้งแต่ต้นปีถึงวันที่ 8 ก.ย. มีพื้นที่ประสบอุทกภัยรวม 50 จังหวัดเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว 40 จังหวัด และยังคงมีอีก 10 จังหวัดที่ยังเผชิญอุทกภัยอยู่
รัฐบาลเน้น ‘บรรเทา’ ไม่เน้น ‘ป้องกัน’
ปัญหาน้ำท่วม ที่เกิดขึ้นซ้ำซาก จนคนคิดว่าคือเรื่องปกติที่ไม่สามารถแก้ไขได้ หรือเพราะว่าไม่มีการเตรียมการล่วงหน้าจากบทเรียนในอดีต ย้อนกลับไปดูตั้งแต่อดีตจนถึง ปัจจุบันทุกครั้งที่เกิดน้ำท่วม รัฐบาลไทยแก้ปัญหาอย่างไร?
วันนี้ “คริษฐ์ ปานเนียม” สส.จังหวักตาก พรรคประชาชน ชี้ให้เห็นถึงการให้ความสำคัญของ รัฐบาลไทย ที่ “ผิดจุด” ที่ผ่านมาประเทศไทยแก้ปัญหาเรื่องน้ำท่วมด้วยคำว่า “ป้องกันและบรรเทา” คือเน้นเยียวยา มีการแล่นเรือไปช่วยพื้นที่ประสบภัย ออกมาตรการช่วยเหลือประชาชน ไม่เก็บค่าน้ำ-ค่าไฟ เมื่อน้ำลดก็ใช้งบประมาณช่วยซ่อมแซมบ้านเรือนประชาชนตามความเสียหาย
“แต่สุดท้ายวิธีการแก้ปัญหาก็วนเวียนแบบนี้ เพราะปีหน้าก็เกิดน้ำท่วม ท่วมแล้วก็บรรเทา แล้วก็เยียวยา บรรเทาแล้วก็เยียวยาแบบนี้ต่อไป”
สิ่งที่น่าตั้งคำถามคือ สามารถเลิกเยียวยาแล้วเปลี่ยนวิธีคิดได้หรือไม่ ปัจจุบันกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ศูนย์ปภ.) มีการจัดสรรงบประมาณสำหรับปีนี้ไว้ 2 ส่วน คือ 400 ล้านบาท ในขณะที่งบประมาณส่วนป้องกันมีเพียง 50 ล้านบาท เพียงจุดนี้จุดเดียวฉายภาพให้เห็นวิธีคิดที่รัฐบาลมุ่งเน้นเพื่อการเยียวยา
ไทยขาด ‘ยุทธศาสตร์’ ป้องกันน้ำท่วม
ก่อนหน้านี้ งบประมาณส่วนใหญ่ถูกนำไปใช้ในการแก้ไขปัญหา “ภัยแล้ง” มุ่งเน้นในเรื่องของการพัฒนาแหล่งน้ำ เพื่อส่งน้ำให้กับเกษตรกรและประชาชนที่ขาดแคลนน้ำ การสร้างเขื่อนส่วนใหญ่มีสาเหตุเพื่อกักเก็บน้ำ ซึ่งรัฐบาลเพิ่งหันมาให้ความสนใจกับการ "ป้องกันปัญหาน้ำท่วม" ไม่กี่ปีให้หลังเท่านั้น และเรายังไม่เคยเห็นการ “วางยุทธศาสตร์” เพื่อป้องกันน้ำท่วมหรืออุทกภัยหรือภัยพิบัติต่างๆ เลย
สำหรับโครงการป้องกันน้ำท่วมส่วนใหญ่ถูกดำเนินการในเขตเมืองที่เป็นเขตเศรษฐกิจสำคัญ เช่น กรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และหัวเมืองใหญ่ในเขตเทศบาล โดยกรมโยธาธิการและผังเมืองเป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อน แต่ด้วยงบประมาณที่จำกัด โดยเฉลี่ยแล้วแต่ละจังหวัดจะได้รับการสนับสนุนเพียงปีละประมาณ 200 ล้านบาท ซึ่งเป็นงบผูกพันแบบปีต่อปี ซึ่งอาจทำให้การแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในภาพรวมยังคงเป็นไปอย่างเชื่องช้า
คริษฐ์ ฉายภาพเขตเทศบาลของจังหวัดตากที่ได้งบประมาณ 600 ล้านบาท ตอนนี้เข้าสู่เฟสที่ 3 ซึ่งใกล้เสร็จแล้ว และสามารถป้องกันน้ำท่วมได้ดีทีเดียว แต่ประเด็นคือ “น้ำไม่ได้ท่วมในเขตเมืองอย่างเดียว”
2 ทางออกที่อาจเป็นไปได้
-
เติมงบประมาณ สร้าง ‘เส้นเลือดฝอย’
งบประมาณสำหรับโครงการด้านน้ำกว่าแสนล้านบาทได้ถูกจัดสรรให้ครงการด้านน้ำและหน่วยงานน้ำต่างๆ ทั้ง กรมชลประทาน กรมเจ้าท่า หรืออีกหลายหน่วยงาน แต่อย่าลืมว่ายังมีโครงการขนาดใหญ่ที่ยังไม่แล้วเสร็จ ซึ่งเป็นงบผูกพันตั้งแต่สมัยของรัฐบาลประยุทธ์หายไปกว่า 4-5 หมื่นล้านบาท
สุดท้ายแล้ว เหลืองบประมาณสำหรับโครงการขนาดเล็กที่จะเริ่มต้นวันนี้เพื่อบริหารจัดการน้อยมาก ดังนั้นเราควรเพิ่มงบประมาณส่วนนี้ในอีก 2-3 ปี แล้วกลับสู่ระดับเดิมหลังจากที่โครงการใหญ่ซึ่งเป็นงบผูกพันเสร็จสิ้น
“วันนี้เราต้องมีระบบเส้นเลือดฝอย(โครงการเล็กๆ) เพราะถ้ามีแต่เส้นเลือดใหญ่(โครงการขนาดใหญ่) วันใดที่อาการสโตคกำเริบ และเส้นเลือดแตก มันก็อันตราย”
คริษฐ์ พูดถึงการเพิ่มงบประมาณเพื่อสร้างเส้นเลือดฝอยในทุกลุ่มน้ำได้พัฒนาพร้อมกันทั้งประเทศควบคู่ไปกับโครงการขนาดใหญ่ เช่น ลำน้ำหนึ่งสายยาว 400-500 กิโลเมตร แต่ปัจจุบันนี้มีงบประมาณปีละ 3-5 ล้าน ทำให้สามารถขุดลอกคูครองได้เพียงแค่ 10-20 กิโลเมตรเท่านั้น สุดท้ายแล้วน้ำพัดพาตะกอนทับถมจนเกิดเป็นปัญหาใหญ่อีกครั้ง
- ทีมเฉพาะกิจ ‘ภัยพิบัติ’
นอกเหนือจากการขาดงบประมาณเพื่อจัดสรรให้กับโครงการเล็กๆ แล้ว ไทยยังขาดหน่วยงานตรงกลางในการวางแผนให้เป็นรูปแบบเดียวกันในทั้งระบบ และเราควรให้อำนาจแก่ผู้มีความรู้
การตั้งวอร์รูมเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในวันนี้ แม้ว่าสนทช., สสน.และกรมอุตุ ล้วนมีองค์ความรู้ แต่ไม่สามารถสั่งการได้ เพราะข้อกฏหมายให้อำนาจองค์กรเหล่านี้แค่ให้ข้อมูล ทำหน้าที่เฝ้าระวังภัย แต่ไม่สามารถประกาศว่าเป็นภัยพิบัติได้ เพราะอำนาจหน้าที่อยู่กับ นายกรัฐมนตรี กระทรวงมหาดไทยและผู้ว่าราชการ ดั้งนั้นต้องการแก้กฎหมายและการเติมงบประมาณเข้ามา
“วันนี้เราหน่วยงานที่ทำเรื่องน้ำเยอะมาก และเราลืมเรื่องชุดเฉพาะกิจขึ้นมา เหมือนขาดทีมอเวนเจอร์ส ที่ดูแลเรื่องภัยพิบัติโดยตรงแล้วก็มีอำนาจสั่งการ ให้อำนาจหน้าที่ผู้ที่มีความรู้และจัดสรรงบสำหรับวิธีแก้ไขปัญหา”
ไทยตั้งรับน้ำท่วมใหญ่ในรอบ 50 ปี หรือยัง?
ตอนนี้ครม. อนุมัติงบกลาง 3,045.51 ล้านบาท เพื่อจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในช่วงฤดูฝนปี 2567 ซึ่งคริษฐ์มองควรพิจารณาการบรรเทาที่สมเหตุสมผล
ทั้งนี้ เป็นไปได้หรือไม่ หากรัฐบาลกลับมุมมอง โดยที่ไม่ต้องรอให้ปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นแต่นำเงินที่ถูกจัดสรรเพื่อการเยียวยามาวางแผนป้องกัน หากไม่ป้องกันปัญหานี้อาจเกิดขึ้นซ้ำซากและสร้างความเสียหายมูลค่ามหาศาล ถ้ารัฐบาลวางแผนไม่ดี อาจทำให้น้ำไหลลงจากบนลงล่าง เข้าสู่เขตเศรษฐกิจอย่าง “กรุงเทพมหานคร”
คริษฐ์ ยกตัวอย่าง “Delta Works” ถือเป็นระบบป้องกันน้ำท่วมที่ดีที่สุดของโลกในประเทศเนเธอร์แลนด์ จากบทเรียนอุทกภัยครั้งใหญ่ที่สุดของประเทศเมื่อเกือบ 100 ปีที่แล้ว ที่ทิ้งความเสียหายมากมาย สู่ตั้งโครงการ Delta Works แม้ว่าจะสร้างเสร็จเมื่อ 27 ปีที่แล้ว แต่เพิ่งได้ใช้งานจริงเมื่อต้นปีที่ผ่านมา นี่คือตัวอย่างของการป้องกันและเตรียมการอย่างแท้จริง
อย่างไรก็ตาม ตามสถิติแล้วไทยจะเจอกับน้ำท่วมใหญ่ในทุกๆ 50 ปี ดูเหมือนว่าไทยเข้าใกล้เวลานั้นแล้วและวัฎจักรของการเกิดมรสุมกำลังสั้นลงเรื่อยๆ แต่ทว่ารัฐบาลไทยยังไม่ทำอะไรเลย แม้ว่ามีการศึกษาดูงานที่ต่างประเทศ เห็นเทคโนโลยีใหม่ๆ ซึ่งใช้งบประมาณไม่ต่างจากเราเลย แต่ไทยไม่ได้ผลลัพธ์แบบเขา หนำซ้ำ “เงินยังหายละลายไปกับน้ำ”