ยกเลิกบัตรสวัสดิการรัฐ ปรับมาใช้ Negative Income Tax

ยกเลิกบัตรสวัสดิการรัฐ ปรับมาใช้ Negative Income Tax

รัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร แถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 12 ก.ย.2567 โดยประกาศว่ารัฐบาลจะเปลี่ยนโครงสร้างทางภาษีครั้งใหญ่ที่ให้ความสำคัญกับการกระจายรายได้ โดยดึงแรงงานนอกระบบที่มีอยู่มากกว่า 50% เข้าสู่ระบบ

รวมถึงการศึกษาความเป็นไปได้ของการปฏิรูประบบภาษีไปสู่แบบ Negative Income Tax ที่ผู้มีรายได้น้อยจะได้รับ “เงินภาษีคืน เป็นขั้นบันได” ตามเกณฑ์ที่รัฐบาลกำหนด ซึ่งคาดหวังว่าแนวทางดังกล่าวจะใช้งบประมาณคุ้มค่ามากขึ้น

รวมทั้งรัฐบาลประกาศนโยบายที่จะสร้างรายได้ใหม่ของภาครัฐด้วยการนำเศรษฐกิจนอกระบบภาษี (Informal Economy) และเศรษฐกิจใต้ดิน (Underground Economy) เข้าสู่ระบบภาษีที่คาดว่าจะมีมูลค่าสูงกว่า 50% ของ GDP เพื่อนำไปจัดสรรสวัสดิการด้านการศึกษา สาธารณสุข และสาธารณูปโภค รวมทั้งอุดหนุนค่าใช้จ่ายขั้นพื้นฐานของประชาชน พร้อมทั้งจะปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้ทันสมัยสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน

   การดำเนินการตามนโยบายที่ประกาศไว้ดังกล่าวถือเป็นเรื่องท้าทายของรัฐบาลแพทองธาร และถ้าไม่ดำเนินการจะทำให้งบประมาณไม่เพียงพอกับภาระการจัดสวัสดิการทางสังคมที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะสวัสดิการสำหรับผู้สูงอายุที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นและประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมสูงวัยแบบสมบูรณ์ หลายรัฐบาลในอดีตพยายามหาแหล่งรายได้เพิ่มมากขึ้นแต่การจัดทำงบประมาณของรัฐบาลยังคงขาดดุลอย่างต่อเนื่องมากกว่า 20 ปี
   งบประมาณสวัสดิการสังคมของไทยพุ่งเกิน 1 ล้านล้านบาท โดยสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ศึกษาโครงการทางสังคม 21 โครงการ ครอบคลุมงบประมาณ 93.4% ของรายจ่ายด้านสังคมทั้งหมด พบว่ารายจ่ายของภาครัฐปี 2564 มีมูลค่า 1.16 ล้านล้านบาท คิดเป็น 7.15% ของ GDP โดยส่วนใหญ่ให้การช่วยเหลือทดแทนรายได้ที่ส่งตรงผู้รับประโยชน์ และด้านที่ช่วยเหลือมากที่สุด คือการเกษียณอายุและการเสียชีวิต
   Negative Income Tax ถูกยกขึ้นมา โดยแนวทางดังกล่าวไม่ใช่เรื่องใหม่เพราะกระทรวงการคลังได้มีการศึกษาประเด็นดังกล่าวไว้แล้ว ซึ่งจะทำให้ผู้มีรายได้น้อยที่ทำงานมีรายได้แต่รายได้ไม่พอดำรงชีวิต และรัฐบาลจะเติมให้เพื่อให้เพียงพอดำรงชีวิต ซึ่งเป็นการช่วยเหลือที่พุ่งเป้าเพราะมีข้อมูลที่สมบูรณ์ แต่มีเงื่อนไขประชาชนต้องอยู่ระบบภาษีที่เป็นเรื่องยากเพราะปัจจุบันมีผู้ยื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพียง 10 ล้านคน และมีผู้เสียภาษีเงินได้เพียง 10 ล้านคน ดังนั้นรัฐบาลต้องทำความเข้าใจประชาชนอย่างมากที่จะนำมาใช้