ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ บทพิสูจน์ปลอดการเมือง?

ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ บทพิสูจน์ปลอดการเมือง?

ทันทีที่ปรากฏชื่อ “กิตติรัตน์ ณ ระนอง” อดีตที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี (เศรษฐา ทวีสิน) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ว่าจะได้รับเสนอชื่อเป็นประธานบอร์ดแบงก์ชาติคนใหม่ แทนที่ “ปรเมธี วิมลศิริ” ที่หมดวาระช่วงกลางเดือน ก.ย.2567

ก็ถูกสังคมจับตามองทันทีว่าแบงก์ชาติจะถูกการเมืองแทรกแซงหรือไม่ พร้อมกับการตั้งคำถามว่าหากธนาคารกลางของประเทศขาดความเป็นอิสระ จะมีความเสี่ยงของการ ถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือจากนานาประเทศ เกิดผลเสียต่อธุรกิจและเศรษฐกิจ ตามมามากน้อยแค่ไหน 

จริงๆ แล้วกฎหมายของแบงก์ชาติกำหนดให้กรรมการสรรหาประธานบอร์ดเป็นอดีตข้าราชการระดับสูงของหน่วยงานสำคัญทางเศรษฐกิจที่เกษียณอายุราชการแล้ว

เพื่อจะได้ปลอดภัยจากการถูกการเมืองแทรกแซง หากยังอยู่ในตำแหน่งหน้าที่ทางราชการ ซึ่งที่ผ่านมาการทำงานของคณะกรรมการสรรหาก็ได้ผู้ที่เหมาะสมเข้าใจบทบาทธนาคารกลางของประเทศ และปฏิบัติหน้าที่อย่างเหมาะสมเป็นที่ยอมรับของสังคม
    
ทว่าการประชุมเพื่อพิจารณาบุคคลที่จะเข้ามานั่งประธานบอร์ดคนใหม่เมื่อวันที่ 8 ต.ค.ที่ผ่านมากลับไม่ได้ข้อสรุป ฝ่ายเลขานุการฯ แจ้งว่าจำเป็นต้องตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อให้มีข้อมูลครบถ้วนสำหรับการพิจารณาของที่ประชุม จึงขอขยายระยะเวลาเพื่อตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลเพื่อให้การพิจารณาคัดเลือกมีความรอบคอบที่สุด และจะรวบรวมกลับมานำเสนอคณะกรรมการคัดเลือกฯ คาดว่าจะมีการนัดประชุมใหม่ในเดือน พ.ย.2567

คำถามก็คือว่าแม้ว่าคณะกรรมการสรรหาเป็นอดีตข้าราชการที่เกษียณอายุราชการแล้ว ทว่าผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อกลับมีความเชื่อมโยงกับฝ่ายการเมืองแล้วจะสามารถทำหน้าที่ของธนาคารกลางของประเทศให้เหมาะสมได้อย่างไร โดยเฉพาะ การดูแลอัตราดอกเบี้ยนโยบาย การดูแลค่าเงินบาท การบริหารจัดการทุนสำรองระหว่างประเทศ รวมทั้งมาตรการอื่นๆ เพื่อสร้างเสถียรภาพทางการเงินของประเทศให้มั่นคง ซึ่งเป็นภารกิจของประธานบอร์ดแบงก์ชาติอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
    
“ต้องเก่งด้านการเงิน-การคลัง” คือคุณสมบัติของบุคคลที่จะมาเป็นประธานบอร์ดแบงก์ชาติที่ฝากของรัฐบาลต้องการผู้ที่เหมาะสมต้องเห็นภาพการดำเนินนโยบายทั้งการเงิน และการคลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปในทิศทางที่ตรงกันเพื่อหาแนวทางการกระตุ้นเศรษฐกิจที่จะใช้ในช่วงปลายปี 2567 ขณะที่ฝั่งที่เป็นห่วงความเป็นอิสระของธนาคารกลางกังวล ผู้ที่มานั่งประธานบอร์ดครั้งนี้อาจจะมีช่องทางในการเอื้อนโยบายซึ่งจะเป็นภาระการคลังสร้างความเสี่ยงที่ประเทศจะถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือได้ ฉะนั้นการสรรหาประธานบอร์ดแบงก์ชาติในครั้งนี้ก็จะเป็นข้อพิสูจน์ได้ว่า“แบงก์ชาติปลอดการเมือง”ได้จริงหรือไม่ การกระทำจะกำหนดเจตนาได้อย่างชัดเจน