คมนาคมเล็งเสนอแผนพัฒนาทวายมี.ค.นี้

คมนาคมเล็งเสนอแผนพัฒนาทวายมี.ค.นี้

คมนาคม เตรียมเสนอแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานโครงการทวายในการประชุมร่วมมี.ค.นี้

นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.) เปิดเผยว่า ขณะนี้สนข.ได้ ส่งรายงานสรุปสาระสำคัญในการประชุมคณะกรรมการประสานงานร่วมระหว่างไทย-เมียนมาร์ เพื่อการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายและพื้นที่โครงการที่เกี่ยวข้อง ในสาขาโครงสร้างพื้นฐานและการก่อสร้าง เสนอต่อนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมพิจารณา ก่อนการประชุมคณะกรรมการร่วมระหว่างไทย-เมียนมาร์ เพื่อการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายและพื้นที่โครงการที่เกี่ยวข้อง (เจซีซี)ครั้งที่ 3 ระหว่างวันที่ 6-8 มี.ค.นี้ ที่พัทยา จ.ชลบุรี สรุปประเด็นสำคัญ คือ ปัจจุบันยังไม่มีความจำเป็นที่จะก่อสร้างขยายมอเตอร์เวย์ ฝั่งไทยให้เป็น 8 ช่องจราจร

สาเหตุที่ไม่มีความจำเป็นต้องขยายมอร์เตอร์เวย์ เนื่องจากการวิเคราะห์พบว่า ประมาณการปริมาณการขนส่งสินค้าผ่านท่าเรือทวายน่าจะสูงเกินจริง ขณะที่ปริมาณการเดินทางจากการท่องเที่ยวยังไม่มีความชัดเจน ส่วนปริมาณขนส่งสินค้าส่วนใหญ่เป็นสินค้าอุตสาหกรรมของโครงการทวาย และสินค้าจากเขตเศรษฐกิจพิเศษกาญจนบุรีและจังหวัดอื่นๆด้านฝั่งตะวันตกของไทย

ส่วนการลงทุนก่อสร้างโครงการพัฒนาถนนเชื่อมโครงการทวายไปยังเมืองหลักและพื้นที่เศรษฐิจในเมียนมาร์นั้น พบว่ามีความเสี่ยงสูง เพราะปริมาณการจราจรและรายได้จากการจัดเก็บค่าผ่านทางอาจต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ ซึ่งมีความเสี่ยงต่อความสามารถในการชำระหนี้ จึงเห็นควรนำไปรวมกับการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆที่สามารถสร้างรายได้ดีกว่า ขณะเดียวกันได้เสนอให้เมียนมาร์ ทบทวนการเลือกใช้ขนาดรางรถไฟของโครงการทวายเป็นขนาด 1 เมตร เพื่อให้สามารถเชื่อมโยงกับโครงข่ายในไทยและส่วนอื่นของเมียนมาร์โดยไม่ต้องเปลี่ยนถ่ายสินค้า

นอกจากนั้น ยังขอให้ร่วมกับไทยในการพัฒนาสถานีตรวจปล่อยทางรถไฟร่วมกัน รวมทั้งการกำหนดค่ามาตรฐานของน้ำหนักบรรทุกรถสินค้า การเปลี่ยนถ่ายสินค้า และค่าดำเนินการ เพื่ออำนวยความสะดวก โดยให้มีการลดขั้นตอนพิธีการศุลกากรสำหรับสินค้าผ่านแดน และจัดให้มีโครงข่ายทางรถไฟเชื่อมต่อระหว่างโครงการทวายอื่นๆของเมียนมาร์

สำหรับท่าเรือน้ำลึกนั้น ในข้อเสนอให้มีการออกแบบท่าเรือระยะที่ 1 เป็นท่าเรืออุตสาหกรรมและพัฒนาท่าเทียบเรือตู้คอนเทนเนอร์ในระยะต่อไป เพราะสิ่งสำคัญของท่าเรือน้ำลึกทวาย จะต้องมีกิจกรรมการผลิตในนิคมอุตสาหกรรม จากการวิเคราะห์ร่วมกับการท่าเรือแห่งประเทศไทย(กทท.) พบว่า ความต้องการใช้บริการในระยะแรกส่วนใหญ่เป็นวัตถุดิบในรูปสินค้าเทกอง สินค้าบรรจุหีบห่อทั่วไป ทำให้ช่วงแรกคาดว่าจะมีสินค้าผ่านแดนปริมาณน้อย ขณะที่ตู้สินค้าจะเพิ่มมากขึ้นในระยะที่ 2 ของการพัฒนาท่าเรือ เนื่องจากมีกระบวนการผลิตขั้นกลางและขั้นสุดท้าย

นายจุฬา กล่าวอีกว่า เมียนมาร์ ต้องให้อิสระแก่ผู้ประกอบการในการบริหารท่าเรือทวายและปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการบริหารท่าเรือเพื่อให้สอดคล้องกับการให้เอกชนเข้ามาบริหารท่าเรือ โดยรูปแบบบริหารงานควรแยกผู้บริหารท่าเรือกับผู้ให้บริการยกสินค้าออกจากกัน (Landlord port) รวมทั้งการปรับเปลี่ยนหรือปรับลดวิธีและสัดส่วนการแบ่งปันผลประโยชน์ในการให้บริการท่าเรือ อีกทั้งยังต้องให้ความสะดวกและลดขั้นตอนพิธีการศุลกากรและงดเว้นการจัดเก็บภาษีสำหรับสินค้าผ่านแดน

“หวังว่าสิ่งที่เสนอไป ทางเมียนมาร์จะเปิดใจยอมรับข้อเสนอและร่วมกันหารือเพื่อปฏิบัติงานให้สอดคล้องกัน โดยเฉพาะเรื่องแหล่งน้ำ ต้องมีน้ำรองรับความต้องการของโครงการ และควรนำไปใช้ประโยชน์ในด้านอื่นๆ เช่นการผลิตไฟฟ้า เพื่อให้โครงการมีผลตอบแทนทางการเงินที่สูงขึ้น ซึ่งจะเกิดประโยชน์ทั้งฝ่ายไทย และเมียนมาร์ และทำให้นักลงทุนที่สนใจเข้ามาทำกิจกรรมในท่าเรือน้ำลึกทวายได้ ” นายจุฬา กล่าว


ส่วนระบบโทรคมนาคมนั้น บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ได้วิเคราะห์การใช้บริการโทรคมนาคม โดยบริษัท มีแผนจัดให้บริการ โทรศัพท์พื้นฐานรวม 1 แสนเลขหมาย โดยให้บริการผ่านเคเบิลใยแก้วนำแสงสู่ทุกอาคาร และจัดให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ 3 จีหรือ 4 จี โดยมีสิทธิในการให้บริการ 25 ปี และสามารถขยายเวลาได้ โดยเมียนมาร์จะต้องเตรียมร่างกฎหมายโทรคมนาคมฉบับใหม่เพื่อรองรับกับข้อตกลงการให้บริการโทรคมนาคมในเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายไว้ล่วงหน้าด้วย