ผู้นำหญิงเครืออมรินทร์เฉลยทำไม...หุ้น AMARIN ติดสปริง
เปิดลิ้นชักลับเหตุใด!!หุ้น อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง เด้งดึ๋ง สถิติใหม่ 31 บาทแพร ระริน อุทกะพันธุ์ ปัญจรุ่งโรจน์ ตอบคำถามชิลๆ
“อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง” ชื่อนี้ “คนชอบอ่าน” คุ้นหูเป็นอย่างดี เพราะอยู่คู่คนรักหนังสือมานานกว่า 30 ปี แต่หุ้น AMARIN ของ “ตระกูลอุทกะพันธุ์” นี่สิ กลับไม่ค่อย “ทรงคุณค่า” เท่าที่ควรในหมู่นักลงทุน แม้ในช่วง 3 ปีก่อน (2552-2554) หุ้น AMARIN จะให้อัตราส่วนเงินปันผลตอบแทนเฉลี่ย 6.56 % ก่อนจะหล่นมาอยู่ระดับ 4.64% ในช่วงสิ้นปี 2555 แต่ก็ถือว่ายังชนะอัตราเงินฝากธนาคาร
สถิติย้อนหลัง 5 ปี (2551-2555) ราคาหุ้น AMARIN ซื้อขายเฉลี่ย 13.74 บาทต่อหุ้น ก่อนจะมา “ติดสปีด” พุ่งพรวดไร้เหตุผล สร้าง “จุดสูงสุดใหม่” ระดับ 31 บาท เมื่อวันที่ 20 ก.พ.2556 “กรุงเทพธุรกิจ BizWeek” ตรวจสอบสัดส่วนผู้ถือหุ้นใหญ่ ณ วันปิดสมุดทะเบียน 30 เม.ย.2555 พบว่า “ระพี อุทกะพันธุ์” ลูกชายคนเล็กของ” “ชูเกียรติ-เมตตา อุทกะพันธุ์” ผู้ก่อตั้งธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์และจัดจำหน่ายหนังสือเครืออมรินทร์ ถือหุ้น 22,772,106 หุ้น คิดเป็น 11.39% เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 22,572,106 หุ้น คิดเป็น 11.29% ณ วันที่ 28 มี.ค..2555 ขณะที่ เมตตา อุทกะพันธุ์” ยังคงถือหุ้นอันดับ 1 เท่าเดิม 74,393,662 หุ้น คิดเป็น 37.20%
“ทำไมหุ้น AMARIN จึงติดปีก”? คำถามนี้ต้องการคำตอบ แต่ที่ผ่านมายังไม่มีกูรูรายใดไขข้อข้องใจได้ จนล่าสุดนักลงทุนถึง“บางอ้อ” หลัง“ตระกูลอุทกะพันธุ์” นำทีมโดย “แพร” ระริน อุทกะพันธุ์ ปัญจรุ่งโรจน์” ลูกสาวคนโตของ “ชูเกียรติ-เมตตา อุทกะพันธุ์” “ทายาทรุ่น 2” ออกมาประกาศข่าวดี “เครืออมรินทร์ พร้อมใส่เกียร์เดินหน้าสู่คอนเทนต์ใหม่ๆ”
“จู่ๆราคาหุ้น AMARIN ก็วิ่งขึ้นมา เราเองก็งงๆเหมือนกัน เพราะที่ผ่านมาราคาหยุดนิ่งมานานมาก นักวิเคราะห์ก็โทรมาสอบถามตลอด ส่วนใหญ่จะเจอคำถาม เกิดอะไรขึ้นกับเครืออมรินทร์” “แพร” ระริน อุทกะพันธุ์ ปัญจรุ่งโรจน์ กรรมการผู้จัดการ “อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง” ดีกรีอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และปริญญาโทด้านการตลาด จาก Northumbria University ประเทศอังกฤษ เล่าให้ฟังด้วยน้ำเสียงสดใส
เธอ อาสาวิเคราะห์ เหตุผลคร่าวๆที่ทำให้ราคาหุ้น AMARIN เด้ง ว่า
น่าจะมาจากการที่เราปรับโครงสร้างการทำงาน ด้วยการมุ่งหน้าสู่ “แพลตฟอร์มใหม่ๆ” อย่างต่อเนื่อง เดิมเราให้ความสำคัญในธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์รูปแบบเดิมๆ มาวันนี้ได้เพิ่มช่องทางการขยายตัว เพื่อก้าวสู่ยุคดิจิทัจภายใต้ชื่อ “Amarin Active TVW ทีวีสร้างสุข” โดยมี “อมรินทร์ เทเลวิชั่น” เป็นผู้ดูแล ปัจจุบันได้ออกอากาศเต็มรูปแบบแล้ว
“จุดเริ่มต้น” ของการทำธุรกิจทีวี เกิดจากความชอบส่วนตัว ที่ผ่านมามีรายการทีวีหลายๆ รายการติดต่อมาทางบริษัท เพื่อขอข้อมูลบุคคลที่น่าสนใจต่างๆ โดยเฉพาะงานที่เคยตีพิมพ์ไปแล้วในนิตยสารแพรว เมื่อเป็นแบบนั้นเราเล็งเห็นว่า “ทำเองน่าจะดีกว่า” ถือเป็นการต่อยอดธุรกิจเดิมด้วย “สามีสุดที่รัก” หนุ่มหมี “โชคชัย ปัญจรุ่งโรจน์” รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ พูดเสริม “ภรรยา” ว่า เราเชื่อว่า Amarin Active TV จะเป็นปัจจัยที่ทำให้เครืออมรินทร์มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องนับจากนี้
“ช่วงหุ้น AMARIN อยู่ 13-14 บาท ถือเป็นหุ้น Intensive Stock มาวันนี้หุ้นของเราสามารถทำ New High ที่ 27-30 บาทต่อหุ้น เมื่อตอนช่วงต้นปี 2556 บ่งบอกว่านับจากนี้จะมีการเติบโตในทิศทางที่ดีขึ้น” “สามีภรรยา” ประสานเสียง
“หญิงแกร่ง” เล่าต่อว่า ที่ผ่านมา ดูเหมือนว่าเครืออมรินทร์จะมีความเชี่ยวชาญและมีความถนัดในงานด้านสื่อสิ่งพิมพ์มากกว่างานทีวี แต่ขอยืนยันว่า เครืออมรินทร์รู้ดีว่า การทำธุรกิจทีวีไม่เหมือนกับการทำธุรกิจสิ่งพิมพ์ แต่เรามีคอนเทนต์ที่หลากหลาย และคิดคอนเซ็ปต์ธุรกิจใหม่มาดีแล้ว บริษัทจะผนวกเอาความเป็นตัวตนของเราที่มีความเป็นไลฟ์สไตล์ใส่เข้าไป
การขยายธุรกิจใหม่ เท่ากับว่าเราต้องใช้เงินลงทุนก้อนใหญ่ขึ้น ซึ่งในปี 2556 อาจใช้เงินกว่า 500 ล้านบาท จะใช้ในธุรกิจทีวีดาวเทียม 200 ล้านบาท และซื้อเครื่องจักรเสริมโรงพิมพ์ 150 ล้านบาท ที่เหลือใช้ในส่วนอื่นๆ เช่น งานแฟร์และอีเว้นท์ 150 ล้านบาท ไม่นับรวมกับเงินที่จะใช้ในการเข้าร่วมประมูลทีวีดิจิทัจในช่องรายการประเภทวาไรตี้ ที่อยู่ระหว่างการรอประกาศของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) ที่คาดว่าน่าจะเปิดประมูลได้ภายในปีนี้ ในส่วนนี้อาจใช้เงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท
“โชคชัย” ถือโอกาสให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า เงินลงทุนก้อนแรก 500 ล้านบาท ส่วนใหญ่มาจากรายได้ในแต่ละปีที่เฉลี่ยประมาณ 2,000 ล้านบาท ส่วนเงินที่จะนำไปประมูลทีวีดิจิทัจ เราสามารถหาได้หลายช่องทาง อาทิ กู้เงินจากสถาบันการเงิน หรือใช้วิธีทางด้านการเงินอื่นๆ ตอนนี้อยู่ระหว่างพิจารณาว่าจะใช้วิธีไหน เนื่องจากต้องรอประกาศจากทางกสทช. ก่อน จึงจะทราบเม็ดเงินลงทุนแท้จริงๆ
ถามว่าธุรกิจใหม่จะช่วยให้ผลประกอบการของเครืออมรินทร์ดีขึ้นอย่างไร? “แพร-หมี” พร้อมใจ บอกว่า ในช่วง 3 ปีข้างหน้า (2556-2559) แพลตฟอร์มใหม่ๆ อาจทำให้รายได้ของบริษัทเติบโตแบบก้าวกระโดดในตัวเลข 2 หลักอย่างต่อเนื่อง โดยธุรกิจทีวีอาจมีสัดส่วนรายได้ประมาณ 20-25% ในปีถัดไปทันที
ส่วนรายได้จากธุรกิจ Non Print น่าจะเพิ่มเป็น 15% จากเดิมที่มีสัดส่วนไม่ถึง 10% ขณะที่ธุรกิจโรงพิมพ์คาดว่าจะขยายตัวจาก 25% เป็น 27% รายได้จากการจำหน่ายหนังสือเพิ่มจาก 25% เป็น 26% และรายได้จากการขายโฆษณาจาก 25% เป็น 28% และอื่นๆ อีก 10% สำหรับรายได้ในปี 2556 น่าจะเติบโต 10% จากในช่วง 9 เดือนของปี 2555 ที่มีรายได้ 1,416 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 192 ล้านบาท
“แม้งานปริ๊นซ์จะไม่โต 2 หลัก แต่ก็ขยายตัวตลอดนะ โดยเฉพาะสิ่งพิมพ์ประเภทพรีเมี่ยม ส่วนสิ่งพิมพ์ประเภททั่วไป ยอมรับขยายตัวยาก ไม่ก็ล้มหายตายจากไปเลย ซึ่งน่าจะเห็นชัดเจนในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า ใครแกร่งจริงจะอยู่รอด เพราะธุรกิจนี้แข่งขันกันรุนแรงมาก ดังนั้นเราจึงมุ่งขยายธุรกิจมาทาง Non Print มากกว่า เพราะยังไงก็โตได้ดีกว่าในระดับตัวเลข 2 หลัก” “หนุ่มหมี” บอก
ก่อนจะเล่าต่อว่า เครืออมรินทร์จะเน้นหนักในสื่อออนไลน์ เพื่อทำให้คอนเทนต์สามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้ทุกกลุ่ม ทั้ง Instagram Facebook Twitter และ E-Magazine ถือเป็นการต่อยอดธุรกิจ ด้วยกลยุทธ์ Synergy - Engagement - Surprise หรือ SES เพื่อเป้าหมาย “การเป็นคอนเทนต์โปรไวด์เดอร์” อธิบายง่ายๆ คือ การนำพาคอนเทนต์เข้าไปอยู่ในทุกแพลตฟอร์มตามไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภค ซึ่งการทำนิตยสารมี “ข้อดี” คือ มีคอนเทนต์ต้นน้ำ ทำให้สามารถต่อยอดไปสู่ช่องทางอื่นได้ง่าย
เราคาดว่าจะมีลูกค้าใหม่ๆ เพิ่มขึ้นอีก 10 ล้านครัวเรือน จากเดิมที่มีฐานลูกค้าที่มีความแข็งแกร่งทางด้านกำลังซื้ออยู่แล้ว 28 ล้านคนต่อปี โดยมาจากนิตยสาร 4 ล้านคนต่อเดือน ผู้ชมรายการโทรทัศน์ 2 รายการ 3 ล้านคน งานแฟร์ 3.5 ล้านคน งานอีเว้นท์ 3 แสนคนต่อปี ผู้ใช้บริการร้านนายอินทร์ 10 ล้านใบเสร็จต่อปี และลูกค้ากลุ่มดิจิทัจและผู้ท่องเว็บไซด์ 7 ล้าน UIPs/ปี ผู้ใช้ Instagram Facebook Twitter และ E-Magazine ผู้ใช้บริการ Naiin Pann รวมกัน 5 แสนแฟนเพจ
“สาวแพร” ยังส่งหน้าที่ปิดท้ายบทสนทนาให้ “หนุ่มหมี” สรุปว่า จริงๆ แล้วเราเริ่มทำธุรกิจทีวีดาวเทียมมาตั้งแต่ 7-8 ปีก่อน ฉะนั้นปี 2556 ถือว่าค่อนข้าง “สุกงอม” จำนวนลูกค้าใหม่ที่มองไว้ว่าจะมีถึง 10 ล้านครัวเรือน มันใหญ่มากๆ เคเบิลทีวีเองก็เติบโตอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ฟรีทีวีก็ยังมีจำนวนเท่าเดิม สวนทางกับความต้องการของผู้บริโภคที่จะหาช่องทางใหม่ จึงน่าจะเป็นโอกาสที่ดีของธุรกิจใหม่ที่เครืออมรินทร์ขยายไลน์ออกมา
กว่าจะเป็น "อาณาจักรสิ่งพิมพ์"
ก่อน “เครืออมรินทร์” ของ “ชูเกียรติ อุทกะพันธุ์" จะกลายเป็น “อาณาจักรสิ่งพิมพ์” ที่มีรายได้ปีละกว่า 1,000 ล้านบาท สามารถจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เมื่อวันที่ 3 ม.ค. 2535 ด้วยการเสนอขายหุ้นไอพีโอราคา160 บาทต่อหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 10 บาท ก่อนจะแตกพาร์เหลือ 1 บาท ในวันที่ 7 พ.ค.2547 จะมีใครรู้ถึง “จุดกำเนิด” ของ “อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง” บ้าง
“ชูเกียรติ อุทกะพันธุ์” บุตรคนที่ 4 ของ “รัตน์- ระเรียบ อุทกะพันธุ์” จากจำนวนพี่น้องทั้งหมด 6 คน รวบรวมพรรคพวก ก่อตั้งห้างหุ้นส่วนจำกัด นามว่า “วารสารบ้านและสวน” เพื่อเริ่มผลิตนิตยสาร “บ้านและสวน” ฉบับแรกถูกวางขายในเดือน ก.ย.2519 ก่อนจะมีอาณาจักรใหญ่โต เขาเริ่มต้นชีวิตการทำงานครั้งแรกในองค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (อ.ส.ท.) ก่อนจะย้ายมาทำงานในตำแหน่งพนักงานพิสูจน์อักษรใน “ไทยวัฒนาพานิช” จากนั้นก็โยกไปนั่งเก้าอี้หัวหน้ากองบรรณาธิการนิตยสาร “วิทยาสาร” นิตยสารของวงการครู ก่อนจะไปทำงานด้านประชาสัมพันธ์ของ “การเคหะแห่งชาติ”
ก่อนที่“ชูเกียรติ” วัย 60 ปี จะเสียชีวิตด้วย “โรคมะเร็งในสมอง” ในปี 2545 เขาเคยพูดว่า “เครืออมรินทร์เจริญรุ่งเรือง ใครหลายคนคงนึกว่าผมช่างมีวิสัยทัศน์กว้างไกล จริงๆแล้วไม่ใช่หรอก ผมมี “สติ” มากกว่า ปัญญาของผมก็แค่กลางๆ ตั้งแต่สมัยเรียนคุณครูจะบันทึกลงสมุดพกทุกปีว่า “สติปัญญาปานกลาง” การทำธุรกิจสติสำคัญกว่าปัญญา เพราะถ้าเอาปัญญานำคงจะหลงระเริง
ทันทีที่ผู้เป็นพ่อสิ้นชีพ “แพร” ในวัย 37 ปี ในฐานะทายาทคนโตของตระกูล ต้องเข้ามารับหน้าที่ดูแลกิจการใน “เครืออมรินทร์” ขณะนั้นผู้ใหญ่หลายคนเป็นห่วงว่า “ภาระนี้หนักไปหรือไม่” เธอเคยสวนกลับว่า ไม่ได้ทำงานคนเดียวยังมีคุณแม่และทีมบริหารเก่งๆหลายคนคอยช่วย ก่อนคุณพ่อเสียชีวิตท่านเคยเขียนหนังสือ “มะเร็งขึ้นสมอง” เพื่อบอกเล่าการทำธุรกิจให้พนักงานทุกคนรับรู้ ฉะนั้นชีวิตการทำงานไม่ใช่เรื่องยาก
“อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง” ถือเป็นผู้นำธุรกิจกลุ่ม Content Leader ใน 5 สายงาน คือ 1.ธุรกิจสำนักพิมพ์ 2.ธุรกิจหนังสือเล่ม บริษัทมีนิตยสารทั้งสิ้น 13 หัว และหนังสือ 17 เล่ม 3.ธุรกิจจัดจำหน่าย ภายใต้การดูแลของ “อมรินทร์บุ๊คเซ็นเตอร์” 4.ธุรกิจที่ไม่ใช่สิ่งพิมพ์ (Non-Print) ที่ดำเนินการโดย “อมรินทร์แทรเวล, อมรินทร์เทรนนิ่ง, อมรินทร์มีเดีย ,และอมรินทร์ครีเอทีฟ สุดท้าย คือ ธุรกิจทีวีดาวเทียม ภายใต้แบรนด์ Active Amarin ปัจจุบันบริษัทเป็นเจ้าของร้าน “นายอินทร์”