"JMART & JMT" หุ้นห่านทองคำคู่ใจ วีไอ
เหตุใดJMART&JMTถึงขึ้นแท่นขวัญใจเซียนหุ้นรุ่นใหญ่เพราะอะไร ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร ยอมควักเงินซื้อ เจ มาร์ท ตั้งแต่หุ้นละ 2 บาท
รู้ก่อนรวยกว่า!! วลีนี้มักมาคู่กับ “เซียนหุ้นรุ่นลายคราม” นักลงทุนที่นิยมออกท่องอาณาจักรตลาดหุ้น หวังตระเวนหา “หุ้นดีราคาถูก” มาครอบครอง หุ้น เจ มาร์ท” (JMART) และหุ้น เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส” (JMT) ของ “ตุ้ม” อดิศักดิ์ สุขุมวิทยา ถือเป็น “หุ้นห่านทองคำ” ตัวหนึ่งที่เหล่าพี่เบิ้มค้นพบ
เวลานี้ JMART กลายเป็น “จุดรวมพล” ของ “นักลงทุนไซด์บิ๊ก” หากอิงตามสัดส่วนการถือหุ้น JMART ที่บริษัทแจ้งต่อตลาดหลักทัรพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) จะพบชื่อ “พีรนาถ โชควัฒนา วัย 50 ปี หลานชายคนโตของ "ห้างเทียม-สายพิณ โชควัฒนา" เข้าถือหุ้น 1,560,100 หุ้น คิดเป็น 0.52% (ตัวเลข 12 มี.ค.2553) ถือเป็น “เซียนหุ้นรายใหญ่” คนแรกๆที่มีชื่อปรากฎในทำเนียบ
ผ่านมา 5 เดือน หุ้น JMART ขึ้นแท่น “หุ้นขวัญใจ” ของ “ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร” ผู้ได้รับการยกย่องให้เป็น “วอร์เรน บัฟเฟตต์” เมืองไทย หลังโดดถือหุ้น 7,000,000 หุ้น คิดเป็น 2.33% ตามติดด้วย “เสี่ยปู่” สมพงษ์ ชลคดีดำรงกุล “ขาว” ณภัทร ปัญจคุณาธร หนึ่งในคณะกรรมการสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่าแห่งประเทศไทย และ “วราณี เสรีวิวัฒนา” ภรรยา “ดร.ไพบูลย์ เสรีวิวัฒนา” ปิดท้ายด้วย “หมอบำรุง ศรีงาน”
ส่วนหุ้น JMT ที่เพิ่งเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เมื่อวันที่ 27 พ.ย.55 มีเพียง “วราณี เสรีวิวัฒนา” เท่านั้นที่ถูกใจ!! ณ วันที่ 22 เม.ย.2556 เธอนอนกอดหุ้นอันดับ 3 จำนวน 4,256,700 หุ้น คิดเป็น 1.42% เพิ่มขึ้นจาก 6 มี.ค.2556 ที่มี 4,076,700 หุ้น คิดเป็น 1.36%
“JMART ถือเป็นหุ้นค้าปลีกที่มีความมั่นคง เสี่ยงต่ำ อัตราการเติบโตสม่ำเสมอ แถมจ่ายเงินปันผลดี มีสภาพคล่อง ถือเป็นผู้นำในตลาด” “ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร” แสดงความคิดเห็นให้ “กรุงเทพธุรกิจ Biz Week” ฟัง
"ผมถือหุ้น JMART มา 3 ปีแล้ว ต้นทุนประมาณ 2 บาท (ปัจจุบันราคาเฉลี่ย 27.83 บาท) เมื่อก่อนพอร์ตของผมมีหุ้นค้าปลีกใหญ่ๆแทบทุกตัว ยกเว้นหุ้น JMART ตัวเดียว เมื่อมีจังหวะผมไม่รีรอซื้อเลย ตอนโน้นมีคนขายหุ้นออกมาในกระดานจำนวนมาก ตั้งใจจะลงทุนหุ้นตัวนี้ยาวๆ ตอนนี้ถืออันดับ 6 จำนวน 7,000,000 หุ้น คิดเป็น 1.68% (ตัวเลข ณ วันที่ 22 เม.ย.2556)"
JMART เข้าตลาดหุ้นมา 3 ปี บริษัทเติบโตตลอด โดยเฉพาะในปี 2556 ผมเชื่อว่าจะเป็น “ปีทอง” ของบริษัท ทั้งในแง่ของรายได้และกำไรสุทธิ รวมถึงในด้านการขยายธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ” และนี่คงเป็นเหตุผลที่ทำให้เหล่าวีไอ
“ปลาบปลื้ม” เรา “ตุ้ม” อดิศักดิ์ สุขุมวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร JMART นั่งหัวโต๊ะวิเคราะห์ให้ “กรุงเทพธุรกิจ Biz Week” ฟัง 400 ล้านบาท หรือเติบโต 40%!! กำไรสุทธิระดับนี้ ภายในปี 2556 ทำได้แน่นอน เรียกว่าเป็นกำไรที่เติบโตมากที่สุด นับตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทมา 24 ปี “พี่ตุ้ม” กล้าการันตี
ปี 2556 ธุรกิจมือถือส่งสัญญาณฟื้นคืนชีพแล้ว หลัง “ซบเซา” มานานกว่า 4 ปี ทุกคนรอคอยเพียงแต่ระบบ 3G วันนี้เกิดขึ้นแล้ว ธุรกิจมือถือเริ่ม “คึกคัก” หลายรายนำพานวัตกรรมออกสู่ตลาด ถือเป็นผลดีต่อ “เจ มาร์ท” คาดว่ายอดขาย “สมาร์ทโฟน” ของทั้งตลาดจะยืนระดับ 1.5 ล้านเครื่อง เราเองก็เป็นพันธมิตรกับผู้ประกอบการทุกยี่ห้อ ในเมื่อ 3G มาเราวางแผนจะขยายสาขาในปีนี้อีก 60 แห่ง จากปัจจุบันที่มีอยู่ 220 สาขา
“เปรียบคนทำธุรกิจเหมือนขับเข้าไปในถนนที่มีฝุ่น ถ้าคุณขับตามหลังจะเจอฝุ่นตลบจนมองหาใครไม่เจอ ฉะนั้นหากคิดจะอยู่ในตลาดอย่างมั่นคง ต้องคิดก่อนทำก่อนเสมอ”
ภายในปี 2556 เราจะขยายธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ เรียกว่าเป็น “ปีแห่งการลงทุน” ก็ว่าได้ "ผมจะปรับโฉมใหม่ ทุกคนโปรดจับตามองเราอย่างใกล้ชิด ทุกๆธุรกิจของ JMART จะเติบโตทุกตัว"
ถามถึงทิศทางธุรกิจภายใน 3-5 ปีข้างหน้า (2556-2560) “เจ้าของ” เจ มาร์ท ปักธงว่า ในฝั่งของ “กำไรสุทธิ” ต้องทะยานไปแตะ 1,000 ล้านบาท เทียบกับปี 2555 ที่มีกำไรสุทธิ 348 ล้านบาท ทุกวันนี้เราออกแรงทำธุรกิจเพียง 30% ยังเหลืออีกตั้ง 70%
"ผมยังเดินมายังไม่ถึงครึ่งทางเหลืออะไรให้ทำอีกเยอะแยะ ตอนเราเข้าตลาดหุ้นมีมาร์เก็ตแคปเพียง 570 ล้านบาท ปัจจุบันขึ้นหลักหมื่นล้านบาทแล้ว อนาคตจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ผมไม่เคยคิดถอยหลัง มีแต่จะเดินหน้า ต่อให้ระหว่างทางจะมีปัญหา เราก็พร้อมแก้ไข"
เขาเล่าความพร้อมในการ “โกอินเตอร์” ว่า “เวียดนาม-ลาว-กัมพูชา” วันหนึ่งพร้อมเราจะเข้าไปแต่ตอนนี้ขอลงทุนในประเทศพม่าก่อน เราจะใช้แบรนด์ "เจ มาร์ท" เหมือนเมืองไทย ด้วยการจับมือกับพันธมิตรในพม่า เพื่อตั้งบริษัทร่วมทุนภายใต้ชื่อ “เจ แอนด์ พี ไทยแลนด์” โดย “เจ มาร์ท” ถือหุ้น 40% ที่เหลือคือ กลุ่ม สหพัฒนพิบูล 20% บริษัท เอ็มเค กรุ๊ป 30% และบริษัท เอสไอเอส 10% (บริษัทสัญชาติประเทศพม่า)
ภายในเดือนมิ.ย. คงดำเนินการได้ ปัจจุบันเข้าไปวางระบบหมดแล้ว “เจมาร์ทพม่า” คงมีลักษณะคล้ายๆ “เจมาร์ทไทย” เมื่อ 15 ปีก่อน ตลาดพม่ามีโอกาสเติบโตสูง เพราะอัตราส่วนการใช้โทรศัพท์มือถือในปัจจุบันต่ำเพียง 10% จากจำนวนประชากร 60 ล้านคน เราคงใช้เงินทุนจดทะเบียนและเปิดสาขาจำนวน 20 แห่ง ประมาณ 1 ล้านเหรียญสหรัฐ
5 ปี “เจ มาร์ท” จะขึ้นแท่นผู้นำตลาดมือถือ “อันดับ 1” ในพม่า
“อดิศักดิ์” ทิ้งท้ายว่า เรากำลังจะมีโปรเจค “บิ๊กบึ้ม” ตอนนี้อยู่ในขั้นตอนพูดคุยกับพันธมิตร บอกรายละเอียดไม่ได้ พูดไปคนจะ “ฮือฮา” บอกได้เพียงว่าเป็นเรื่องที่ทุกคนคาดไม่ถึง เมืองไทยยังไม่มี แต่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจเดิมของเรา ถือเป็นอีกมิติของ “เจ มาร์ท” เราจะร่วมทุนกับ “บริษัทยักษ์ใหญ่” ของภูมิภาคเอเชีย ในอนาคตธุรกิจใหม่จะสร้างเงินให้เรามากถึง 50%
“เจ มาร์ท” เป็นบริษัทที่เจริญเติบโตทุกปี ผมไม่เคยสนใจราคาหุ้น เรามีหน้าที่ทำให้ผลประกอบการขยายตัว
ข้ามมาฝั่งบริษัทลูก “เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส” (JMT) “ปิยะ พงษ์อัชฌา” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร อาสาเล่าความ “ฮอตฮิต” ของหุ้น JMT ให้ฟังว่า “ดร.ไพบูลย์” สามี “วราณี เสรีวิวัฒนา” ในฐานะผู้ถือหุ้นอันดับ 3 เคยบอกว่า ชอบหุ้น JMT มาตั้งแต่ยังไม่เป็นสมาชิกในตลาดหลักทรัพย์ อาจารย์เห็นว่ารายได้และกำไรของ JMART มาจาก JMT ค่อนข้างเยอะ เมื่อรู้ว่าเราจะขายหุ้น IPO ท่านจึงตัดสินใจลงทุนช่วงแรกๆ ท่านยังบอกอีกว่า JMT มีอัตราเติบโตเฉลี่ยที่ดี รากฐานมั่นคง มีลูกค้าประจำ ไม่มีความเสี่ยงค่าเงินบาท และเป็นบริษัทที่สามารถดำรงอยู่ได้ทั้งในภาวะเศรษฐกิจดีและไม่ดี
เมื่อ 3 เดือนก่อน นักลงทุนวีไอติดต่อขอฟังข้อมูลธุรกิจเกือบ 50 คน การที่มีวีไอเข้ามาถือหุ้นถือเป็นเรื่องดี พวกเขาไม่เคยกดดันให้ทีมงานเสียความรู้สึก “ดร.ไพบูลย์” เองก็ไม่เคยถามว่าผลประกอบการ JMT จะเป็นอย่างไร ปีนี้เติบโตเท่าไหร่
“ปิยะ” ยังเล่าแผนธุรกิจ 5 ปีข้างหน้า (2556-2560) ว่า บริษัทจะซื้อหนี้เข้าพอร์ตปีละ 10,000 ล้านบาท ทุกปี แบ่งเป็นไตรมาส 1-2 ประมาณ 2,000 ล้านบาทต่อไตรมาส และไตรมาส 3-4 ประมาณ 3,000 ล้านบาทต่อไตรมาส ปัจจุบันเรามีพอร์ตหนี้ 21,000 ล้านบาท ปกติจะมีต้นทุนการซื้อหนี้ประมาณ 5% ของก้อนหนี้ทั้งหมด ธุรกิจนี้ยังเติบโตต่อเนื่อง เห็นได้จากตัวเลขของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ระบุว่า มูลหนี้เสียมีวงเงินรวม 47,000 ล้านล้านบาท
“เชี่ยวชาญ ถนัด” สิ่งเหล่านี้จะทำให้เราโตเฉลี่ยปีละ 30%
JMT ยังตั้งใจจะขยายการบริหารหนี้ไปยังสินเชื่อประเภทอื่นๆ อาทิเช่น สินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ ปัจจุบันเราเน้นบริหารสินเชื่อส่วนบุคคลเป็นหลัก ล่าสุดเพิ่งยื่นจดทะเบียน เพื่อจัดตั้ง AMC เป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์ คาดว่ากลางเดือนมิ.ย.หรือต้นก.ค.นี้ เราจะได้รับ “ไลเซ่น” จากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
AMC จะเข้าไปซื้อหนี้กลุ่มที่ถูกดำเนินคดีทางกฎหมายแล้ว ส่วนใหญ่เป็นหนี้ครัวเรือน หรือหนี้ผู้อุปโภคบริโภค หนี้ลักษณะนี้ยังไม่เคยมีใครทำ JMT จะเป็นเจ้าแรกที่จะเข้าไปซื้อ ที่ผ่านมาสถาบันทางการเงินหลายแห่งยังไม่เคยขายหนี้กลุ่มนี้ออกมา เนื่องจากไม่มั่นใจว่าบริษัทที่รับซื้อต่อจะดำเนินการได้จริงตลาดนี้มี “มูลค่ามหาศาล”
JMT ยังจะจัดตั้ง “เจเอ็มที ไอบี” เพื่อดำเนินธุรกิจนายหน้าประกันภัย ปีหน้าคงมีความชัดเจนมากขึ้น นอกจากนี้เรายังมีแผนจะเข้าไปลงทุนในพม่า คาดว่าเดือนหน้าจะเดินทางไปกับ “เจ มาร์ท” บริษัทอยากทำเหมือน “เฟิร์สช้อยส์” ตอนนี้ส่งคนเข้าไปศึกษาแล้ว แต่ท้ายที่สุดคงต้องรอให้ “เจ มาร์ท” เข้าไปก่อน ส่วนธุรกิจรับจ้างติดตามหนี้ เราจะรักษาพอร์ตที่ 10,000-15,000 ล้านบาท เพราะผลตอบแทนเยอะมาก
“ปิยะ” ทิ้งท้ายบทสนทนาว่า JMT เป็นหุ้นเติบโตทั้งรายได้และกำไร เราสามารถเก็บกินมูลหนี้ที่ซื้อมาได้ยาวถึง 20 ปี เมื่อตัดต้นทุนหมด เราจะเป็นคน “อ้วน” ทันที (อ้วนเงิน)
เล่นหุ้นแนววีไอ ชีวิตหลังเกษียณ
“ปิยะ พงษ์อัชฌา” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร JMT เล่าชีวิตหลังเกษียณอายุ 55 ปี ให้ฟังว่า ตั้งใจจะไปเป็นนักลงทุนวีไอ แต่ตอนนี้ขอลงทุนกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ชอบเพราะมี “ความเสี่ยงต่ำ” วันนี้พอร์ตลงทุนไม่ค่อยมาก แค่ “หลักล้านบาท”
"ผมมักแบ่งการลงทุนออกเป็น 2 ส่วน คือ ลงทุนในหุ้นและกองทุนรวม 30% และฝากแบงก์ 70% แต่เมื่อเกษียณอายุ สัดส่วนการลงทุนจะเปลี่ยนแปลงไป จะขอนำเงินที่ออมทั้งหมดมาลงทุนในตลาดหุ้น"
กลยุทธ์การลงทุน เน้นดูประวัติศาสตร์ของบริษัทนั้นๆย้อนหลังอย่างเดียว จากนั้นก็มานั่งคาดเดาอนาคต ด้วยการดูอัตราการเติบโตเฉลี่ย ธุรกิจใดที่ขึ้นอยู่กับคน โดยเฉพาะ รถยนต์ ,มือถือ สินค้าในบ้าน กลุ่มเหล่านี้เป็นหุ้นที่จ่ายเงินปันผลดี
ซื้อหุ้นเก็บอย่างเดียว ไม่ได้เล่นรายวัน ที่ผ่านมาถือลงทุนไม่ต่ำกว่า 3 ปี แต่ถ้าหุ้นมีการเปลี่ยนแปลงลดลงเกิน 15% แล้วยังไม่มีอะไรดีขึ้น อาจขายเพื่อไปซื้อตัวอื่น
จุดเริ่มต้นการลงทุน เกิดจากความ “อยากลอง” ก่อนเข้ามาลงทุนได้ทดลองทำโปรแกรมลงทุน เพื่อจะได้รู้ว่าธุรกิจแบบไหนให้ผลตอบแทนดีที่สุด เมื่อก่อนชอบให้น้ำหนักผู้บริหาร เน้นคนที่ทำงานมา ตั้งแต่วันแรกๆ เขาเหล่านั้นจะรู้จริง ยิ่งเป็นผู้บริหารที่เข้าออฟฟิคทุกวัน ไม่หนีนักข่าว "ผมยิ่งชอบ (หัวเราะ)"
จะลงทุนอะไรต้องวิเคราะห์ก่อนว่า เรามีความรู้เรื่องนั้นมากแค่ไหน เคยสัมผัสธุรกิจนั้นมากก่อนหรือเปล่า อย่าลืมดูผลประกอบการ ฐานะทางการเงิน เพื่อนำมาวิเคราะห์หาความเสี่ยง และความน่าจะเป็น ที่สำคัญ “อย่าคิดมาก” ต้องมีวินัย และห้ามเล่นมาร์จิ้น ถ้าไม่อยากยืนหนาว