ถอดคมคิด "น็อต-วิศรุต" พรุ่งนี้เรเซอร์ต้องสว่างกว่าวันนี้

ถอดคมคิด "น็อต-วิศรุต" พรุ่งนี้เรเซอร์ต้องสว่างกว่าวันนี้

“น็อต-วิศรุต รังษีสิงห์พิพัฒน์”ผู้บริหาร“เรเซอร์”รุ่นสองผู้ประกาศเปล่งแสงธุรกิจให้“สว่างไสว”และไปได้ไกลกว่ารุ่นพ่อร่วมติดตามคมคิดธุรกิจรุ่น2

การจากไปของ “วินัย รังษีสิงห์พิพัฒน์” ผู้กุมบังเหียน บริษัท เรเซอร์การไฟฟ้า (ประเทศไทย) จำกัด ด้วยปัญหาด้านสุขภาพ เมื่อไม่นานวันที่ผ่านมา ปรับทางสปอร์ตไลท์ให้สาดแสงมายังทายาททั้ง 4 “นภาวิไล , รัฐวิไล , วิศรุต และ วิเศษ” เจนเนเรชั่นสองแห่ง “เรเซอร์” ที่จะนำพาอนาคตธุรกิจผู้ผลิตบัลลาสต์และโคมส่องสว่างรายใหญ่ของประเทศ ให้มั่นคงและเติบโตไปได้ด้วยมือทายาทอย่างพวกเขา

สำหรับผู้บริหารหนุ่มฮ็อต “น็อต-วิศรุต รังษีสิงห์พิพัฒน์” กรรมการบริหาร บริษัท เรเซอร์การไฟฟ้า (ประเทศไทย) จำกัด แม้จะเป็นทายาทลำดับที่ 3 แต่ในฐานะลูกชายคนโต เขาก็ดูจะแบกความหวังและแรงกดดันมากกว่าใครอื่น

“ถ้ามีโอกาส ผมจะทำให้แบรนด์ของเราเป็นที่รู้จักมากกว่านี้”

นี่คือความรู้สึกแรกๆ หลังการเข้ามาช่วยธุรกิจครอบครัวเมื่อประมาณ 10 ปี ที่ผ่านมา ที่เขาบอกกับผู้ร่วมสัมมนาในเวที “รุก-รู้-สู้-สำเร็จ หมากเด็ด SME” โดยธนาคารกรุงไทย เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา

และดูจะเป็นภาพชัดขึ้นเมื่อได้เข้ามาบริหารองค์กรแบบเต็มตัว ในวันที่ผู้เป็นพ่อเริ่มป่วยเมื่อประมาณ 2 ปีก่อน

ไม่ใช่ไม่พอใจในความสำเร็จของธุรกิจครอบครัว เพราะรู้ดีว่า ก็ด้วยวิสัยทัศน์ของคนรุ่น 1 ที่ทำให้กิจการเล็กๆ เมื่อ 44 ปี ก่อน เติบใหญ่มาเป็นผู้เล่นแถวหน้าของประเทศได้

ทว่ากับดักในการเป็น “นักอุตสาหกรรม” ที่เก่งกาจแต่ในงานรับจ้างผลิต (OEM) นับวันก็จะยิ่งทำให้ธุรกิจ “เสียเปรียบ” เพราะต้องถูกกด ถูกหั่นกำไรให้หดสั้นลงเรื่อยๆ

ขณะที่แบรนด์ “เรเซอร์” ซึ่งพยายามปลุกปั้นกันมานาน ก็ยังไม่เป็นที่เข้าตาของมหาชนมากนัก และนั่นคือ “จุดอ่อน” ที่ทำให้เขารู้สึก “เสียโอกาส” ในธุรกิจของคนรุ่นพ่อ

“หลังเรียนจบวิศวะไฟฟ้า ผมเข้ามาดูโรงงานได้ประมาณ 5 ปี ตอนนั้นก็เริ่มเห็นว่า เวลาประชุมกับลูกค้าที่เป็นแบรนด์ต่างชาติ เขาก็จะมีโจทย์มาให้ทุกปีว่า จะต้องลดต้นทุนลงอีก (cost down) เหมือนบีบให้เราทำ จนไม่รู้ว่าจะไปเอาที่ไหนมาให้แล้ว ซึ่งผมมองว่า มาร์จิ้นที่หายไปนี้น่าจะเอาไปลงทุนด้านอื่นดีกว่า นั่นเองที่จุดความคิดว่า คงต้องสร้างแบรนด์ของตัวเองแล้ว”

จากกำลังการผลิตมากกว่า 80 % ที่เคยปันให้กับงานรับจ้างผลิต เกมรุกใหม่ของคนรุ่นสอง คือพัฒนาแบรนด์ของตัวเองให้แข็งแกร่งขึ้น โดยอาศัยจุดแข็งของธุรกิจ ที่ “เก่งผลิต” มีระบบการผลิตที่เป็นเลิศ จนเป็นที่ยอมรับและไว้วางใจของแบรนด์ชั้นนำให้ผลิตสินค้าให้ ก็ใช้จุดแข็งนี้ไปพัฒนาสินค้าที่ทั้งหลากหลาย และมี “มูลค่าเพิ่ม” ภายใต้แบรนด์ของตัวเอง

ซึ่งปัจจุบันพวกเขาก็สามารถดันสัดส่วนของแบรนด์ตัวเองมาเทียบเคียงงานรับจ้างผลิต แล้วที่ 50-50% และภายใน 3-4 ปี ก็ตั้งเป้าว่าจะสามารถผลิตในแบรนด์ตัวเองได้ถึง 70%

“เราอยากมียอดขายที่สูงขึ้น อยากจะโตกว่านี้อีกสิบเท่า ร้อยเท่า แล้วจะทำอย่างไรล่ะ ผมมองว่า อันดับแรกเลย คือ ต้องเพิ่มโพรดักส์ จากที่คุณพ่อทำแค่บัลลาสต์อย่างเดียว เราก็เริ่มทำโพรดักส์ที่เกี่ยวข้อง อย่างโครงเหล็กที่ทำพวกโคมไฟ สตาร์ทเตอร์ หลอดไฟ ซึ่งพอขยายไปเรื่อยๆ ก็สามารถขายรวมเป็นเซ็ตได้ ฉะนั้นจากช่องทางเดิมที่เคยทำแค่บัลลาสต์ เราก็สามารถเสนอขายเป็นฟูลเซ็ตให้กับลูกค้าเดิมได้”

การผลิตสินค้าที่ครบวงจร ก็คือช่องทาง “สร้างเงิน” ในแบบคนรุ่นสอง พวกเขาลงมือขยายโรงงาน เพื่อเพิ่มไลน์สินค้าใหม่ และย้อนไปทำตั้งแต่ตัววัตถุดิบเอง เพื่อสร้างความได้เปรียบและ "จุดแข็ง" ให้กับสินค้า อย่างการทำโรงงานสายไฟขนาดเล็ก ทำแม่พิมพ์ แม้แต่งานแก้วก็สามารถทำเองได้ เหล่านี้ คือหนทาง "สร้างมูลค่าเพิ่ม" ที่คู่แข่งยากจะเข้ามาต่อกรได้ ล่าสุดก็เพิ่งตั้งโรงงานแอลอีดี “ผลิตภัณฑ์แห่งอนาคต” ของอุปกรณ์ให้แสงสว่าง เพื่อประกาศความพร้อมในการเป็น "ผู้นำ" อีกขั้นในสมรภูมินี้

การปรับตัวแบบมีเป้าหมาย คือแรงผลักสำคัญที่ทำให้ “เรเซอร์” กลายมาเป็นโรงงานผลิตแสงสว่างที่ครบวงจรที่สุดในประเทศไทย และเป็นผู้ผลิตบัลลาสต์และโคมส่องสว่างรายใหญ่ที่สุด โดยมีกำลังการผลิตมากถึงกว่า 1 ล้านหน่วยต่อเดือน

“เรามีโพรเจกต์ที่จะเพิ่มโพรดักส์อยู่เรื่อยๆ ผมอยากทำให้ครบวงจรมากที่สุด อยากทำแบรนด์ของเราให้เป็นที่รู้จักมากขึ้นทั้งในไทยและเออีซี วิสัยทัศน์ของผมในระยะยาว คือ อยากให้เรเซอร์ เป็นได้ตั้งแต่หม้อแปลงหน้าบ้าน หน้าโรงงาน ไปจนถึงแสงสว่างทุกๆ ดวง ที่เกิดขึ้นทั้ง ในบ้าน ในโรงงาน และตามสถานที่ต่างๆ”

ทุกแสงสว่าง เขาก็หวังให้เป็นพลังของ “เรเซอร์” และนั่นก็คือวิชชั่นของผู้บริหารหนุ่มไฟแรงคนนี้

เวลาเดียวกับมีผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ คลอดสู่ตลาด ก็พยายามหาช่องทางใหม่ๆ ให้ “เรเซอร์” ได้แจ้งเกิดด้วย เริ่มตั้งแต่การ “สร้างทีม” ส่งพนักงานขายลุยถึงตัวดีลเลอร์ตามต่างจังหวัด มีทีมงานที่เข้าไปทำตลาดตามโครงการต่างๆ เจาะถึงกลุ่มดีลเวลลอปเปอร์โดยตรง มีฝ่ายบริการลูกค้า ขายผ่านช่องทางห้างสรรพสินค้าชั้นนำ พร้อมกลยุทธ์การตลาดสุดเข้มข้น อย่างการทุ่มเม็ดเงินนับ10 ล้านบาท สนับสนุนฟุตบอลนัดพิเศษ “ช้าง แชมเปียนส์คัพ-เอฟซี บาร์เซโลนา เอเชียน ทัวร์ 2013”

เพื่อหวังยกระดับแบรนด์ “เรเซอร์” ให้แรงและดัง เป็นที่รู้จักของผู้คนทั่วโลก ในยุคของพวกเขา

“การที่เราโต เราโตมาจาก ตัวผลิตภัณฑ์ การสร้างแบรนด์ และความพยายามยึดพื้นที่ช่องทางจำหน่ายให้ได้มากที่สุด เราทำทั้งสร้างคน สร้างทีมงาน ขยายตลาด และเพิ่มไลน์การผลิต ไปพร้อมกันด้วย”

ความพร้อมที่วางหมากมาอย่างดี ตลอด 2 ปี ที่ผ่านมา คือเหตุผลที่เขากล้าประกาศว่า ปีหน้า (พ.ศ.2557) จะเป็นปีที่เติบโต “แรงสุด” ของเรเซอร์

“ที่ผ่านมาเราได้โพรเจกต์ของทางรัฐบาลค่อนข้างเยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นหลอดไฟถนน ซึ่งแม้ไม่ได้งานทั้งหมด แต่เราได้อานิสงห์แน่เพราะโครงการที่จะเปลี่ยนนั้นมีมูลค่าเป็นหมื่นๆ ล้านบาท ผมจึงเชื่อว่าปีหน้าเราจะโตได้ไม่น่าต่ำกว่า 20% แน่นอน โดยตอนนี้รายได้เราอยู่ที่เกือบสี่พันล้านบาท ปีหน้าก็ไม่น่าจะต่ำกว่า 4 พันล้านบาท ซึ่งเป็นปีที่ผมเชื่อว่าจะ 'โตแรง' ที่สุดของเรเซอร์”

ทั้งอานิสงห์จากโครงการภาครัฐ และการเติบโตของอสังหาริมทรัพย์ในบ้านเราที่เขาเชื่อว่าจะยังปลุกธุรกิจอุปกรณ์ให้แสงสว่างทั้งสดใสและร้อนแรงได้ในปีหน้า รวมถึงตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะเออีซี ที่ยังคงมีอนาคตสำหรับแบรนด์ “เรเซอร์”

“เรเซอร์ อาจเริ่มมาได้ไม่นาน อาจสู้แบรนด์ที่อยู่มาเป็นร้อยปีไม่ได้ แต่ผมเชื่อว่าในภูมิภาคเออีซี เรามีโอกาสที่จะเป็นแบรนด์ที่อยู่ในใจคนภูมิภาคนี้ได้ เมื่อคิดถึงหลอดไฟ คิดถึงแสงสว่าง เขาก็จะคิดถึง เรเซอร์ เป้าหมายของเราก็คือ การก้าวเป็น Regional Brand ให้ได้”

เขาสะท้อนวิสัยทัศน์ ในฐานะทายาทรุ่นสอง ที่อยากเปลี่ยนภาพ "นักอุตสาหกรรม" มาเป็น "นักการตลาดและนักสร้างแบรนด์" ซึ่งเชื่อว่าจะสร้างอนาคตที่สดใสและเปล่งแสงได้แรงกว่ารุ่นพ่อ ขณะที่การทำงานท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว คือเหตุผลที่เขาบอกว่า ผู้ประกอบการต้องไม่หยุดคิด และสำรวจตัวเองอยู่ตลอดเวลา

“ทุกวันนี้ธุรกิจเกิดขึ้นเร็ว มันไวเท่าความคิดเรา ฉะนั้นไม่ควรหยุดคิด เพราะอะไรที่เวิร์คในวันนี้ พรุ่งนี้มันอาจไม่เวิร์คแล้วก็ได้ ผมค่อนข้างมองดูตัวเอง คอยตรวจสอบและประเมินตัวเองอยู่ตลอดเวลา ว่าทุกๆ สิ่งที่เป็นอยู่มันดีขึ้นไหม ถ้าเราหยุด ก็แปลว่าเราถอยหลังแล้ว”

แม้วันนี้เรเซอร์จะไร้เงาผู้นำที่ชื่อ “วินัย” แต่คำพ่อสอนก็ยังฝังใจทายาทอย่างเขา และยังคงใช้เป็นหลักยึดในการทำงานมาจนถึงวันนี้ นั่นคือ 3 คำสั้นๆ “เข้มแข็ง อดทน และเป็นคนดี”

หัวใจที่จะทำให้ “เรเซอร์” ในวันพรุ่งนี้ ไม่เพียง “มุ่งมั่นไม่หมดไฟ” แต่ยังต้อง ส่องสว่างได้มากกว่าวันนี้ ภายใต้การนำของทายาทที่ชื่อ..วิศรุต รังษีสิงห์พิพัฒน์

..................................
Key to success
คมคิด ทายาทรุ่น 2 แห่ง “เรเซอร์”
๐ เปลี่ยนจากนักรับจ้างผลิต มาสร้างแบรนด์ของตัวเอง
๐ ทำสินค้าหลากหลาย มีมูลค่าเพิ่ม ผลิตได้ครบวงจร
๐ ก้าวจาก Local brand เป็น Regional Brand ให้ได้
๐ ธุรกิจเปลี่ยนเร็ว หยุดคิดไม่ได้ นิ่งเฉยก็เท่ากับถอยหลัง
๐ ยึดคำพ่อสอน “เข้มแข็ง อดทน และเป็นคนดี”