Local Alike เที่ยวชุมชนได้มากกว่า "ความสุข"
Local Alikeกิจการเพื่อสังคมที่ช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนโดยมีเป้าหมายชุมชนมีความสุข ขณะที่สิ่งแวดล้อม สังคมและวัฒนธรรมก็ยั่งยืนด้วย
ใครแอบเบื่อการท่องเที่ยวจำเจ ไปแต่ในสถานที่เดิมๆ กิจกรรมเดิมๆ เที่ยวทุกที่ แต่ก็ไม่เคย “อิน” สักที่ มีความสุขแต่ก็ดูผิวเผินเต็มทน จนบางครั้งก็อดตั้งคำถามกลับไปไม่ได้ว่า ความสุขที่ได้มานั้น ต้องแลกกับการสูญเสียอะไรไปบ้าง..
วัฒนธรรม สังคม และสิ่งแวดล้อม ถูกนักท่องเที่ยวและธุรกิจทัวร์เล่นงานจนเสียหายไปเท่าไรแล้ว
ท่ามกลางตัวเลือกมากมายในบริการนำเที่ยว ยังมีกลุ่มคนเล็กๆ ที่เรียกตัวเองว่า “Local Alike” กิจการเพื่อสังคมด้านการท่องเที่ยวชุมชน ผู้ขันอาสามาทำให้เรื่องท่องเที่ยวได้สร้างทั้ง “คุณค่า” และ “มูลค่า” โดยเป็นตัวเชื่อมระหว่างนักท่องเที่ยวและชุมชน หาจุดที่ทุกคนจะพึงใจสูงสุดในเรื่องการท่องเที่ยว ช่วยพัฒนาและประชาสัมพันธ์ จนเกิดเป็นโปรแกรมท่องเที่ยวที่พร้อมทั้งห้องพัก โฮมสเตย์ ไกด์นำเที่ยวท้องถิ่น กิจกรรมทางวัฒนธรรม และการท่องเที่ยวสุดมัน ตามแต่ศักยภาพ จุดขาย และความพร้อมของชุมชนนั้นๆ
ที่สำคัญพระเอกของงาน คือ “ชุมชน” บริหารจัดการโดยชุมชนล้วนๆ ไม่ใช่คนภายนอก
“การท่องเที่ยวชุมชน เป็นการท่องเที่ยวที่คำนึงถึงความอย่างยืน ไม่ว่าจะเรื่องสิ่งแวดล้อม สังคม หรือวัฒนธรรม ซึ่งเป็นการบริหารจัดการโดยชุมชนเอง โดย Local Alike เป็นเพียงผู้เข้าไปให้ความช่วยเหลือ แต่จะไม่ใช่ชี้ทุกอย่างให้เขาทำ ดังนั้น คนที่ต้องบริหารจัดการทั้งหมด ก็คือ ตัวชุมชน”
“ไผ-สมศักดิ์ บุญคำ” ผู้ก่อตั้งและนั่งตำแหน่ง Operations & Finance ของกิจการเพื่อสังคมน้องใหม่ Local Alike อธิบายกับเราถึงการทำงานแบบ Local Alike ที่จะอยู่ตรงกลางระหว่างนักท่องเที่ยวกับชาวบ้าน โดยเริ่มงานด้วยการเข้าไปพูดคุย รับฟังความต้องการและสภาพปัญหาของแต่ละชุมชน แล้วร่วมกันสร้างโปรแกรมการท่องเที่ยวที่เป็นจุดแข็งของชุมชนขึ้นมา โดยสิ่งที่ต่างไปจากบริษัททัวร์ก็คือ การจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยว เพื่อไม่ให้กระทบกับวิถีชีวิตชุมชนมากมายนัก
จากนั้น Local Alike ก็จะทำการตลาดให้โดยใช้สื่อออนไลน์ที่มีความถนัดเป็นหลัก เช่น ทำสื่อวิดีโอ ประชาสัมพันธ์ชุมชนในเว็บไซต์ บอกเล่าเรื่องราวจุดขายของแต่ละชุมชน ลองจัดทำทริปทดสอบเอานักท่องเที่ยวไปท่องชุมชนเพื่อรับฟังฟีดแบค อะไรไม่ดีก็ให้ชาวบ้านปรับปรุงแก้ไข จากนั้นก็เปิดตัวบนเว็บไซต์ และขายอย่างเป็นทางการ
การท่องเที่ยวที่ไม่ได้ใส่ใจแค่เรื่องเที่ยว แต่ยังมองไปถึง ชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม นำมาซึ่ง “ผลกำไร” ที่งดงามไปกว่าเม็ดเงิน นั่นคือ การสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี ลดการย้ายถิ่นฐาน สืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่น และกระจายรายได้ให้ชุมชนได้อย่างทั่วถึง
“เราเชื่อว่าการท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือหนึ่งที่สามารถช่วยพัฒนาชุมชนได้” พวกเขาสะท้อนความคิด
มาคิดกันในแง่โอกาสของธุรกิจ ดูตัวเลขจากฝั่งของนักท่องเที่ยว จากสถิติที่เข้ามาท่องเที่ยวเมืองไทยหลายสิบล้านคนต่อปี และจำนวนนี้มีประมาณ 20% ที่เป็นแฟนพันธุ์แท้การท่องเที่ยวแบบยั่งยืน ซึ่งนั่นก็คือโอกาสของ Local Alike
พวกเขาจึงรวบรวมข้อมูลเพื่อเสนอทางเว็บไซต์ Local Alike (www.localalike.com )และสื่อโซเชียลมีเดีย เพื่อให้นักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ ได้เข้าถึงเรื่องราวของชุมชนแบบ “รู้ลึก รู้จริง” ก่อนพิจารณาเลือกที่ตรงกับใจ โดยสามารถจองโปรแกรมทัวร์ผ่านช่องทางออนไลน์ได้ทันที ไม่ว่าจะอยู่ที่มุมไหนของโลก
เริ่มต้นลงสนามการท่องเที่ยว Local Alike ทำงานกับ 8 ชุมชน อาทิ บ้านสวนป่า ชุมชนสี่พันไร่ ดอยแม่สลอง จังหวัด เชียงราย ชุมชนแม่กำปอง จังหวัดเชียงใหม่ ชุมชนพรหมโลก นครศรีธรรมราช และชุมชนเกาะยาวน้อย ภูเก็ต
จุดแข็งและจุดขายที่หลากหลาย กลายมาเป็นทริปสุดเก๋ อย่าง “Fisherman’s Friend Alike” ชวนขาลุยไปใช้ชีวิตแบบชาวประมง ที่เกาะยาวน้อย จังหวัดภูเก็ต ลองตื่นหาปลาตอนตี 4 นอนพักกลางวันในเปล เล่นน้ำทะเล ทานอาหารทะเลสดๆ สำรวจวิถีชีวิตบนเกาะ เยี่ยมชมสวน ทุ่งนา ป่าชายเลน ปิกนิกบนเกาะใกล้เคียง รวมเวลา 3 วัน 2 คืน ในราคาที่ถ้ามา 1-2 คน คิดคนละ 7,020 บาท มา 3-5 คน คิดคนละ 6,240 บาท โดยรับนักท่องเที่ยวต่อทริปไม่เกิน 5 คน
หรืออย่างทริป “Local Alike Pioneer” ที่บ้านสวนป่า ชุมชนสี่พันไร่ จังหวัดเชียงราย ลัดเลาะเส้นทางศึกษาธรรมชาติ สู่น้ำตก เยี่ยมชมสวนผลไม้ เส้นทางยากง่ายมีให้เลือกตามแต่ถนัด ทำและรับประทานอาหารกลางวันในป่า ตั้งแคมป์ค้างคืน เที่ยวยอดดอยไร่ชา ชมทะเลหมอกและจิบชายามเช้า เยี่ยมชมกระบนการผลิตชาที่โรงงานชา เป็นเวลา 3 วัน 2 คืน ถ้ามา 1-2 คน คิดในราคาคนละ 4,680 บาท แต่ถ้ามา 6-8 คน เหลือแค่คนละ 2,800 บาท เท่านั้น เหล่านี้เป็นต้น
ทริปสนุกๆ อาจไม่ถูกนักสำหรับใครบางคน แต่จะรู้สึกคุ้มสุดๆ ถ้ารู้ว่าเงินที่จ่ายออกไปนั้น กำลังสร้างอะไรดีๆ ให้กับโลกใบนี้บ้าง
“อย่างที่สวนป่าเป็นชุมชนแรกที่เราเข้าไปทำงานด้วย เราเห็นปัญหาเรื่องการจัดการขยะ ตามลำห้วยลำธาร ในหมู่บ้าน เลยมาคิดกันว่าจะกำจัดออกไปอย่างไร จึงไปคุยกับกรรมการหมู่บ้าน สุดท้ายก็ตั้งเป็นกองทุนหมู่บ้านขึ้นมาใช้ชื่อ กองทุนการท่องเที่ยวชุมชน โดยมีรายได้จาก Local Alike ส่วนหนึ่ง จากชุมชนอีกส่วนหนึ่ง เพื่อนำมาใช้แก้ปัญหาเหล่านี้”
นี่คือโมเดลที่พวกเขานำไปใช้กับหลายๆ ชุมชน เพื่อให้มีเงินมาหมุนเวียนในกองทุนและกระจายสู่ชาวบ้านและชุมชนอย่างเป็นธรรมและเหมาะสม มีเงินมาพัฒนาชุมชน และดูแลด้านสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกันด้วย
ขยะถูกขับออกจากหมู่บ้าน ขณะที่การท่องเที่ยวน้ำดีก็เข้ามาแทนที่ ทำให้ "บ้านสวนป่า" ซึ่งเคยถูกมองในแง่ลบ ในฐานะเส้นทางลำเลียงยาเสพติดในอดีต ในวันนี้กลับดูสดใสและมีความสุขขึ้น
“ชาวบ้านบอกว่า การท่องเที่ยวทำให้หมู่บ้านเขาสว่างขึ้น” หนึ่งเสียงสะท้อนจากชุมชนที่ทำให้คนทำงานยังยิ้มปลื้มถึงตอนนี้
ถามถึงความยากง่ายในการเข้าไปทำงานร่วมกับชุมชน เขาบอกว่า แต่ละแห่งก็มีความพร้อมในการเป็นชุมชนท่องเที่ยวที่ต่างกัน เรียกว่ามีตั้งแต่ ระดับแบเบาะ กลุ่มที่พร้อมจะเปิดตัว ไปจนถึงกลุ่มที่ประสบความสำเร็จแล้ว ซึ่งการทำงานกับกลุ่มแรกๆ มีความยากแน่นอน โดยอาจจะมีคนแค่ 10% ในหมู่บ้านที่อยากทำ วิธีการก็คือ ต้องไปค้นหา “ซุปเปอร์สตาร์” แบบนั้นให้ได้ จากนั้นก็ใช้เป็นตัวเชื่อมให้ Local Alike ได้เข้าถึงชุมชนในวงกว้างขึ้น
“เราต้องหาวิธีคุยกับคนทั้งหมู่บ้านให้ได้ ซึ่งไม่ใช่การสัมภาษณ์นะ แต่คือ การพูดคุยกัน ที่สำคัญไม่ใช่การไปครั้งเดียว อาจต้องไปหลายๆ ครั้ง จุดเปลี่ยนที่ทำให้รู้สึกว่าชุมชนโอเคกับเราแล้ว ก็คือ วันที่เขาเริ่มเรียกทานข้าวนั่นแหล่ะ”
วิธีการทำงานร่วมกับชุมชน ไม่ใช่เรื่องยากสำหรับลูกผู้ชายชื่อ “สมศักดิ์” อดีตวิศวกรที่ผันตัวเองเข้าสู่งานภาคสังคม มีดีกรีปริญญาโทด้านการบริหารแบบยั่งยืน (Sustainable Management) จากซานฟรานซิสโก โดยประสบการณ์ทำงานที่มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ ทำให้ได้หลักคิด “เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา” มาใช้กับการทำงานในวันนี้
“การท่องเที่ยวเป็นรายได้หลักของคนไทย แต่ไม่มีใครบอกได้เลยว่า รายได้ที่ว่านั้น ไปที่โรงแรมเท่าไร แล้วชุมชนได้เท่าไร ผมอยากทำตัวเลขนี้ในชัดเจนขึ้น และถ้าต้องทำการท่องเที่ยว ทำอย่างไรให้เป็นการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนจริงๆ ซึ่งผมได้แรงบันดาลใจมาจากสถาบันการท่องเที่ยวโดยชุมชน (CBT-I) ซึ่งเป็นเอ็นจีโอ ทำงานโดยไม่หวังผลกำไร และเก่งเรื่องการพัฒนามาก เราก็เรียนรู้จากเขา”
ก่อนจบบทสนทนา สมศักดิ์ยังได้ฝากข้อคิดถึงคนรุ่นใหม่ที่อยากลุกมาเป็นผู้ประกอบการสังคม
“บางทีไม่จำเป็นต้องมีเงินมากก็ได้ อย่างผมเองก็ไม่ได้มีรายได้อะไร ขอแค่ให้ทำในสิ่งที่ชอบ แล้วเห็นปัญหาจริงๆ จากนั้นก็เอาไอเดียไปคุยกับคนโน้นคนนี้ดู ผมเชื่อนะว่า ถ้าไอเดียดีจริง ก็จะมีคนที่พร้อมยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือเราเอง”
เช่นเดียวกับ Local Alike ที่ได้รับทุนสนับสนุนจากการนำตัวเองเข้าประกวดแผนธุรกิจเพื่อสังคม ในโครงการ BANPU Champions for Change และมีเงินทุนมาสานต่อกิจการ รวม 2.5 แสนบาท พร้อมเพื่อนร่วมทีมหลัก ที่มีหัวใจเดียวกันมาช่วยงาน อย่าง สุรัชนา ภควลีธร,จันแจรง กิจธิคุณ,ธนพงศ์ หุ่นดี และ ปฐมพร พงษ์นิล
เพื่อทำให้เรื่องการท่องเที่ยว เป็นได้มากกว่าความสนุก หนึ่งคนเที่ยว แต่หลายคนสุข เพราะตัวเชื่อมที่ชื่อ.. “Local Alike”