เผยโฉม "ช้างดำ" กล้วยไม้ป่าหายาก แห่งอุทยานแห่งชาติคลองพนม จ.สุราษฎร์ธานี
ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรมอุทยานแห่งชาติฯ เผยโฉม "ช้างดำ" กล้วยไม้ป่าหายาก แห่งอุทยานแห่งชาติคลองพนม จ.สุราษฎร์ธานี
ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรมอุทยานแห่งชาติ จังหวัดสุราษฎร์ธานี เผยโฉมกล้วยไม้ป่าพันธุ์หายาก "ช้างดำ" หรือ Pomatocalpa spicatum Breda ที่พบในพื้นที่ อุทยานแห่งชาติคลองพนม จังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่ระดับความสูง 700 - 1,600 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล
กล้วยไม้ชนิดนี้ จัดเป็นกล้วยไม้อิงอาศัยที่มีลักษณะเด่นคือ ลำต้นสั้น ใบเรียงสลับซ้อนกันรูปขอบขนาน มีขนาดกว้าง 4 เซนติเมตร ยาว 23 เซนติเมตร ปลายใบมีลักษณะเว้าบุ๋มไม่เท่ากันและขอบใบหยักเป็นคลื่น ช่อดอกออกที่ข้อ อาจมีทั้งช่อเดี่ยวและแตกแขนง ห้อยลงยาวได้ถึง 15 เซนติเมตร
ความพิเศษของดอกช้างดำอยู่ที่สีสันอันละเอียดอ่อน ดอกมีขนาดเล็กกว้างเพียง 0.6 เซนติเมตร สีเหลืองอ่อน บางครั้งมีจุดประสีแดงอมน้ำตาล ดอกบานทนหลายวัน โดยจะเห็นการบานในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงสิงหาคม
"ช้างดำ" เติบโตได้ดีในสภาพแวดล้อมที่หลากหลาย ทั้งป่าดิบแล้ง ป่าดิบเขา และป่าดิบชื้น โดยชอบอาศัยในพื้นที่ร่มเงาหรือมีแสงแดดรำไร ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของการอนุรักษ์ระบบนิเวศป่าไม้เพื่อให้กล้วยไม้ป่าอันล้ำค่าชนิดนี้ได้เติบโตตามธรรมชาติต่อไป
ข้อมูล/ภาพจาก ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรมอุทยานแห่งชาติจังหวัดสุราษฎร์ธานี , กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช