ผู้บริหาร " เปลี่ยนโลก" ปฏิบัติการปั้นผู้นำยุค "2020"
หลายบทวิจัยสะท้อนความเปลี่ยนแปลงใหญ่ ที่จะเกิดขึ้นในปี 2020 ติดตามเทรนด์ผู้บริหารกับการเปลี่ยนแปลงโลก ที่จะปฏิวัติผู้นำไทย ด้วย 6 คุณลักษณะ
“เด็กดี ต้องเชื่อฟังผู้ใหญ่” ว่ากันว่า “เดินตามหลังผู้ใหญ่หมาไม่กัด”
อะไรที่ทำดีอยู่แล้ว ก็ทำๆ ไปเถอะ ก็คนเก่าเขา “พิสูจน์มาแล้ว”
คนไทย สบายๆ ประชุมทีไร ไม่โต้ ไม่เถียง แถมมีปัญหาก็แค่ “ไม่เป็นไร” เห็นไหม..เราผ่อนคลายสถานการณ์เก่งจะตายไป
ลูกน้องทั้งเชื่อ ทั้งเคารพ ก็เรามีทั้ง “พระเดช พระคุณ”
คนนี้คิดไม่เหมือนเรา เห็นต่างจากเรา สนใจคนละเรื่องกับเรา แสดงว่า “ไม่เข้าพวก” ฉะนั้น ไม่ยุ่ง ไม่เปิดใจ ไม่แบ่งปัน
นี่คือพฤติกรรมและความเชื่อฉบับ “ไทยแลนด์โอนลี่” ที่ “ปิดหูปิดตา” คนไทยมาช้านาน จนชาวโลกต่างค่อนแคะว่า เรามันพวก “ไม่ยอมรับความจริง”
สถานการณ์สุดช้ำที่ “บอนไซ” ผู้บริหารไทย ให้โตช้า โลกทัศน์คับแคบ คิดของใหม่ไม่ได้ แถมยังแข่งขันยากมากๆ ในเวทีโลก
“เราเป็นผู้นำ..แต่นำในโลกแคบๆ”
ความจริงแสนเจ็บปวด ที่ไม่ได้มาจากคำพูดลอยๆ แต่เป็นผลวิจัยจากการศึกษาของกูรูระดับโลก “บรูซ แม็คคินซี” ประธานและผู้ร่วมก่อตั้ง Future Insight Maps Inc. และผู้อำนวยการ Systemic Development Associates Pty Ltd. ผู้ให้บริการความรู้ วิจัยค้นคว้าและที่ปรึกษา ที่ได้รับการยอมรับไปทั่วโลก เบื้องหลังทีมงานที่ปรึกษาของ “บารัค โอบาม่า” ประธานาธิบดีสหรัฐ เคยทำงานให้กับรัฐบาลยุโรป และการท่องเที่ยวประเทศออสเตรเลีย เป็นต้น
โดยงานวิจัย “ผู้นำไทย” บรูซ ทำงานร่วมกับ “เอพีเอ็ม กรุ๊ป” บริษัทที่ปรึกษาด้านการพัฒนาองค์กรและบุคลากรของไทย หลังตอบรับคำเชิญของ “อริญญา เถลิงศรี” กรรมการผู้จัดการใหญ่ “เอพีเอ็ม กรุ๊ป” ให้ลองมาศึกษาผู้นำแบบไทยๆ เพื่อร่วมค้นหาคำตอบว่า
“ผู้บริหารไทยในปี 2020 ควรเป็นอย่างไร”
การศึกษาครั้งใหม่ที่จะโละทิ้งทฤษฎีเดิมๆ ความเชื่อแบบเดิม เพื่อมารู้จักและเข้าใจตัวตนของผู้บริหารไทยอย่างจริงแท้ ไม่แค่ยึดโมเดล ยึดตำราต่างประเทศ แล้วมาประยุกต์ใช้ให้เข้ากับคนไทย เท่านั้น
โดยใช้เครื่องมือที่ชื่อว่า “Systemic” กระบวนการทำงานเชิงระบบแบบวิพากษ์ ตามความเชี่ยวชาญของบรูซ
“ตอนนั้นบอกเขาไปว่าอยากให้เริ่มทำตั้งแต่ศูนย์เลยนะ เพราะอยากหาว่าผู้นำของคนไทยต้องถูกพัฒนาไปอย่างไร ซึ่งบรูซ เขามีทักษะด้าน Systematic Thinking เขาเชื่อว่า คนเราต้องฟังจากหลายๆ มุม มองหลายๆ มุม เพราะการที่ทุกคนพูดในเรื่องอะไร หรือเชื่อในเรื่องอะไรนั้น มักจะมาจากตัวเอง ซึ่งไม่ใช่ผิดหรือถูก เพียงแต่มีกันคนละมุม การมีมุมมองแบบ Systemic ก็คือ การเติมทุกมุมให้เต็ม” ผู้บริหาร เอพีเอ็ม กรุ๊ป อธิบายจุดแข็งของงานวิจัย
ที่มาของการทำการศึกษาเชิงลึก โดยไม่สันนิษฐานล่วงหน้า ไม่มีคำตอบมาก่อน มองแบบคนใจกว้าง และมองหลายมุม ขณะที่ผู้เก็บข้อมูลก็ต้องฝึกฝนมาอย่างดีแล้ว โดยการสำรวจความคิด และสัมภาษณ์กลุ่มตัวอย่าง ด้วยเครื่องมือแบบ Systemic ทั้งหน่วยงานรัฐ เอกชน ผู้บริหารระดับสูง ระดับกลาง ไล่ไปจนผู้นำระดับล่าง คนเจเนอเรชั่นใหม่ๆ ตลอดทั้งออกไปศึกษาคนไทยที่ทำงานและเรียนในต่างประเทศ คนไทยที่ไปโตเมืองนอก และคนไทยที่ทำงานร่วมกับชาวต่างชาติในตำแหน่งผู้บริหารในต่างประเทศ เติมเต็มทุกมิติของผู้นำไทยขึ้นมาให้ได้
“เราบอกว่าจะสร้างผู้นำคนไทย ให้แข่งขันได้ในระดับสากล ฉะนั้นจึงต้องการรู้ว่า คนไทยที่อยู่ในต่างประเทศมองเรื่องนี้อย่างไร อย่างคนไทยที่ทำงานในบริษัทที่ต่างประเทศ เขาได้เจอคนหลากหลาย ก็จะแลกเปลี่ยนมุมมองออกมา ซึ่งโดยสรุปเราพบว่า สามารถจับกลุ่มออกมาได้ใน 6 เรื่อง ว่าคนไทย ต้องพัฒนาอะไรบ้าง เพื่อที่จะไปแข่งได้ในระดับสากล”
เริ่มจาก 1. การเป็นผู้นำด้วยวิธีการทำงานแบบเชิงรุกและความยืดหยุ่น
ใครๆ ก็ว่า “คนไทยน่ารัก” ดูคลับคล้ายกับว่า “อะไรก็ได้” แต่จริงๆ แล้ว “ความยืดหยุ่น” เรามีน้อย ยังยึดกับรูปแบบ ติดกับวิถีชีวิตที่คุ้นชิน คนแบบที่คุ้นเคย ซึ่งนี่แหละคือตัว “บล็อก” ที่ทำให้เรา สร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ก่อเกิดไอเดียใหม่ๆ ได้ “น้อยมาก”
“นวัตกรรม ไม่ใช่แค่ ความคิดใหม่ แต่คือการสร้างความคิดใหม่ๆ นั้นให้เกิดขึ้น เราจึงต้องพูดคุย นำเสนอความคิดนั้น แต่ถ้าเราไม่ยืดหยุ่นพอ เช่น ชอบติดต่อกับคนแบบนี้ มีวิธีการทำงานแบบนี้ พอต้องไปติดต่อกับคนที่ไม่ใช่แบบที่เราชอบ คนที่ไม่ยอมรับความคิด เราก็จะถอยและเก็บไอเดียเอาไว้ก่อน แต่ไม่ยืดหยุ่นพอที่จะปรับตัวเพื่อทำงานกับคนแบบนั้นให้ได้”
คงเช่นเดียวกับ การมีไอเดียดีๆ แต่พอต้องไปเจอเจ้านายประเภท “ขาโหด” จอมสกัดดาวรุ่ง ไม่รับฟังความคิดเห็น ก็เลยปิดประตูไอเดียใส่มันซะ อย่าปล่อยให้หลุดออกมาเชียวกับคนแบบนี้
บางคนก็ว่า รอให้ขึ้นเป็นเบอร์หนึ่งก่อนเถอะ แล้วจะทำทุกอย่างให้ดู แต่ลืมคิดไปกว่าจะถึงตอนนั้นทุกอย่างก็ “สายเสียแล้ว”
“อย่างคนเวียดนาม คนละแบบ คือ ต่อให้เขาจะเจอเจ้านายที่โหด เขาก็จะยืดหยุ่นและปรับตัวเองเพื่อให้เข้ากับเจ้านายคนนั้นให้ได้ กล้าที่จะแสดงความคิด เวลาคิดอะไรได้ ก็พยายามผลักดันให้มันเกิดขึ้น แต่คนไทยเราไม่ยืดหยุ่นที่จะปรับตัวหรือพยายามผลักดันความคิดดีๆ ให้เกิดผลลัพธ์ใหม่ สุดท้ายเราจะแข่งขันไม่ได้เพราะไม่มี นวัตกรรม”
“ไทยนี้รักสงบ” เราเลยชอบหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้า พอต้องเจอคนที่ต่างสไตล์จากเรา คุยกันคนละภาษา “ไม่เหมือนเรา” เราก็มักจะหลีกถอย โดยที่ไม่ยอมทำความเข้าใจว่า โลกนี้มีแต่ “ความหลากหลาย” และไม่มีใครเหมือนกับเรา
ดังนั้นผู้นำยุคใหม่ที่จะทันต่อโลก ก็ต้องยืดหยุ่นและปรับตัวเพื่อทำงานกับคนที่แตกต่างจากเราให้ได้ ซึ่งการขาดภาวะผู้นำในเรื่องนี้ ไม่ว่าจะในองค์กรภาครัฐ เอกชน และคนในทุกระดับ ล้วนเป็นตัวบล็อกประเทศไทยไม่ให้มี อินโนเวชั่น
2. การเป็นผู้นำด้วยการร่วมสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับบุคคลที่หลากหลาย
เชื่อหรือไม่ว่า แค่การ “ไม่มีเรื่องคุย” หรือมีบทสนทนาที่จำกัด ก็สกัดทางรุ่งในวิถีแห่งผู้นำได้
ผู้นำประเภทโลกแคบ สนใจแต่เรื่องใดเรื่องหนึ่ง คุยแต่ในกลุ่มสังคมเล็กๆ โลกใบเล็กของตัวเอง จะกลายเป็นผู้นำที่ไม่ทันต่อโลก และไม่มีทางมี “แต้มต่อ” ในโลกยุคต่อจากนี้
“ยิ่งบทสนทนาจำกัด ก็ยิ่งจำกัดความคิด”
คือสิ่งที่ผลวิจัยบอกกับเรา ตรงกันข้ามผู้นำจะดู “ฉลาดขึ้น” ถ้าเขาสามารถคุยเรื่องอะไรก็ได้ เรียกว่า “รู้เท่าทัน” และ “โลกทัศน์กว้าง” อย่างผู้บริหารก็ไม่จำเป็นต้องรู้แต่ธุรกิจที่ตัวเองทำ แต่ยังรู้กว้างทั้ง สังคม เศรษฐกิจ การเมือง บันเทิง กีฬา แฟชั่น ท่องเที่ยว กระทั่งเรื่องลูก และยิ่งมีบทสนทนามากเท่าไร ก็ยิ่งทำให้เราเป็นผู้นำที่เข้าได้กับทุกเจเนอเรชั่น ทุกกลุ่มอาชีพ ยิ่งรู้มาก เรียนรู้มาก ก็คือความได้เปรียบของผู้นำทั้งนั้น
“เด็กเวียดนาม อ่านหนังสือทุกเรื่อง เลิกงานก็ไปเรียน ไปพูดคุย ไปเข้ากลุ่ม จากการศึกษาพบว่าคนเวียดนามอายุตั้งแต่ 20-35 ปี เข้าร่วมคลับมากกว่า 5 คลับ เขามีความสนใจมาก ดังนั้นเขาจะมีบทสนทนาได้เยอะมาก ในหลายๆ เรื่อง ซึ่งเมื่อสนทนาได้ ก็ทำให้มีมุมมอง มีโลกทัศน์ที่กว้างขึ้นด้วย”
คนไทยคือเจ้าแห่ง “โซเชียลมีเดีย” แต่จะมีสักกี่คนที่ใช้สื่อโซเชียล สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับตัวเองได้ อริญญา แนะวิธีเพิ่มบทสนทนาให้ผู้นำ ด้วยการเอาตัวเองไปอยู่ในสื่อสังคมออนไลน์ อย่าง การเข้ากรุ๊ปไลน์ต่างประเทศ ที่มีหลายๆ กลุ่ม ให้เลือก ทั้งกลุ่ม HR ซัพพลายเชน ผู้นำ ธุรกิจ สารพัดกลุ่มให้เข้าร่วม กระทั่งเรื่อง ลูก
อย่าคิดว่า เสียเวลา ไม่สนใจ เพราะจะทำให้เราไม่ทันต่อโลก ขณะที่หลายประเทศในอาเซียน ก็วนเวียนอยู่ในกลุ่มแบบนี้ เพื่อเปิดโลกทัศน์ของพวกเขา
“การสนทนาทำให้ต่อยอดความคิดได้กว้างขึ้น ยิ่งการสนทนาเราจำกัด มันจะจำกัดความคิด คิดได้แค่นี้ มองได้แค่นี้ อยู่ในโลกแค่นี้ ใบแค่นี้ ไม่สามารถทำอะไรมาแข่งกับชาวโลกได้ เลยทำให้ ‘เราเป็นผู้นำ ที่นำในโลกแคบๆ’ เป็นผู้นำในคอมฟอร์ทโซน”
แม้คนไทยไม่ได้ถูกเลี้ยงดู ให้เราเป็นคนกว้าง และนี่อาจไม่ใช่นิสัยตามธรรมชาติ บางคนก็ว่า ‘เราไม่ได้เกิดมาเพื่อสิ่งนี้’ แต่เธอย้ำว่า ก็ต้องฝืนทน ถ้าเป้าหมายคือ การจะเป็นผู้นำในเวทีสากลให้ได้
3. การเป็นผู้นำในสถานการณ์ที่มีความไม่แน่นอนและคลุมเครือ
ทำไมผู้นำในหลายหน่วยงาน ถึงเลือก วางปากกา พักมือ ในเวลาที่องค์กรเกิดสถานการณ์คลุมเครือ เราเลือก “หยุดชะงัก” เพื่อรอคำตอบ รอทิศทาง ไม่กล้าทำอะไรสักอย่างในภาวการณ์เช่นนั้น ทั้งที่รู้ดีว่าโลกวันนี้ ล้วนมีแต่ความ “ไม่ชัดเจน ไม่แน่นอน”
“พอไม่ชัด ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร เลยทำให้คนไทยขาด “สปีด” เราไปได้ช้ากว่าคนอื่น ราชการยอมรับเลยว่า บางทีเขาพักมือเลยนะ เพราะไม่รู้นโยบายจะไปทางไหน เปลี่ยนผู้นำ ก็จบ หรือเอกชนก็เช่นกัน ตอนนี้คลุมเครือ องค์กรกำลังเปลี่ยนแปลง ทุกคนจะนั่งรอ ดังนั้นทุกอย่างเลยช้าหมด และเราก็จะตามเขาไม่ทัน”
แล้วประเทศที่คนเขามีภาวะผู้นำ เขาทำกันแบบไหน อริญญา บอกว่า เมื่อเจอกับสภาวะที่คลุมเครือ ผู้นำที่ดีจะต้องคิดทันทีว่าจะทำอย่างไรในสถานการณ์เช่นนี้ แม้เจ้านายยังไม่บอกทิศทางมา ก็เดินไปเสนอ “โซลูชั่น” เองก็ได้
“เราถูกเลี้ยงดูมาด้วยการที่ให้ เชื่อฟังผู้ใหญ่ ยิ่งลูกที่ดียิ่งมีความยืดหยุ่นต่ำมาก เพราะต้องรอฟังพ่อแม่ก่อนว่าจะเอาอย่างไร ดังนั้น ผู้นำแบบนี้จะทำให้ทุกอย่างช้าหมด เราเลยมีช่วงที่ว่างเว้นเยอะมาก ทำๆ ไป หยุด ทำๆ ไปรอ ทำๆ ไปเกิดไม่แน่ใจ ไม่ทำดีกว่า ทำให้ภาวะผู้นำเรา “ต่ำ” ใครเขาทำไปถึงไหน เราก็ยังสู้คนอื่นเขาไม่ได้”
และไม่ต้องดูเมืองนอกไกลๆ แค่ในอาเซียนด้วยกัน อย่าง สิงคโปร์ เวียดนาม และอินโดฯ เขาก็ไม่คิดแบบเรา ถ้าเขาไปไกลกว่า แล้วเราจะขยับมาเป็นผู้นำในอาเซียนได้อย่างไร
4. การเป็นผู้นำเพื่อเรียกคืนความมั่นใจและความไว้ใจในตัวบุคคลที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้นำ
ทำไมคนส่วนใหญ่มักไม่เชื่อในผู้นำของตัวเอง “ผู้นำไทย” เลยต้องใช้ความพยายามสูงมากในการสร้าง “ความน่าเชื่อถือ”
“วันนี้การสร้างความน่าเชื่อถือ ไม่ได้เน้นที่ “เก่งวิชาการ” แต่คือ การไม่จำกัดโลกทัศน์หรือมุมมองของตัวเอง รับฟังได้หลายอย่าง มีวิธีได้หลายอย่าง และปรับเปลี่ยนตัวเองได้”
วิถีแห่งผู้นำยุคใหม่ ที่จะลบภาพความเชื่อรุ่นพ่อ ที่บอกว่า เป็นผู้นำต้องมีทั้ง “พระเดช พระคุณ” แต่วันนี้แค่นั้นอาจไม่พอแล้ว
“ไม่ใช่แค่ฉันจะดูแลเธอดี ให้ผลประโยชน์เธอดี ให้คุณให้โทษเธอได้ แล้วเขาจะเชื่อถือเรานะ ไม่ใช่ บางคนบอกว่า ชอบนะ ที่จะอยู่กับเจ้านายที่ดูแลดี เจ้านายใจดีเขาก็สบาย แต่..ไม่ได้เลื่อมใสและศรัทธา”
เจ็บปวดไปอีกขั้น กับการเอาชนะใจผู้ตามยุคใหม่ เมื่อการให้คุณให้โทษ ไม่ได้สร้างความเลื่อมใสศรัทธาให้เกิดขึ้น แล้วจะเรียกว่า ผู้นำที่ดีได้อย่างไรเล่า
“คนไทยต้องเริ่มสร้างความน่าเชื่อถือ ตั้งแต่เด็กๆ เราต้องสร้างผู้นำในอนาคต ผู้นำรุ่นใหม่ ที่ให้มีในแต่ละข้อที่กล่าวมาก่อนหน้านี้ เพื่อที่เมื่อวันหนึ่งเขาก้าวขึ้นไปเป็นผู้นำ จะได้ไม่มีปัญหาในการสร้างความน่าเชื่อถือ เหมือนคนรุ่นเก่า”
5.การเป็นผู้นำเพื่อรับมือกับความท้าทายที่เหนือความคาดการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตด้วยการเรียนรู้เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงและกระบวนการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง
จะมีสักกี่คน ที่กล้าล้มวิธีการทำงานแบบที่เคยทำมา และได้ผลดีอยู่แล้ว เพื่อที่จะหากลวิธีใหม่ๆ และนี่ก็คืออีก
หัวใจ ที่จะเปลี่ยนผู้นำไทยให้ทันเกมผู้นำโลก
“เราไม่มีนิสัยในการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง เรามักจะยึดติดกับการที่เคยทำมาอย่างนั้น ประสบการณ์เป็นอย่างนี้ ก็ทำต่อไป โดยไม่เข้าใจคำว่า การเรียนรู้”
เธออธิบายถึงคำ 3 คำ ที่สำคัญกับการเป็นผู้นำในยุคหน้า นั่นคือ “learn” มีความสามารถในการเรียนรู้ “unlearn” การลบความรู้เก่าที่ล้าสมัยออกจากสมอง และ “relearn” การเรียนรู้ความรู้ใหม่ๆ
“unlearn นั่นหมายความว่า เราเคยเชื่อเรื่องอะไร เคยทำเรื่องอะไรมา เราจะลุกขึ้นมาแล้วบอกว่า จะสละมันทิ้ง มันไม่เวิร์ค แต่คนไทยมักจะยึดติดกับความคุ้นชิน คิดว่า เราทำได้ดีอยู่แล้ว เลยไม่คิดจะหาวิธีใหม่ เราไม่มีวัฒนธรรมของการ unlearn จึงไม่มีแรงขับที่จะไปแสวงหาวิธีใหม่ ไม่โหยหาที่จะเรียนรู้”
เธอยกตัวอย่าง HR Director ชาวเวียดนาม ที่ทำงานในบริษัทคนไทยที่ประเทศเวียดนาม เขาอายุเพียง 28 ปี แต่เติบโตในสายงานเร็วมาก
“เขารีครูตคนได้ตามเป้า ได้ตามคุณภาพที่บริษัทต้องการ แต่วันหนึ่งเขาบอกว่า จะโยนวิธีเดิมทิ้ง แล้วไปหาวิธีใหม่ เขาบอกว่า ไม่อย่างนั้นก็จะไม่ได้ทำอะไรที่แตกต่าง แล้ววิธีเดิม วันหนึ่งก็อาจจะตันและไม่ได้คนที่มีคุณภาพดีขึ้นด้วย”
ความคิดแบบนี้ไม่ต้องมีใครบอก ไม่ต้องรอใครสั่ง แต่เกิดจากข้างใน ที่กล้าโละทิ้งสิ่งเก่า เพื่อไปสู่สิ่งใหม่ที่ดีกว่า
เธอบอกว่า องค์กรส่วนใหญ่ ยังชอบที่จะเอาคนไปเข้าอบรม ซึ่งแม้นั่งเรียนไปก็ไม่มีประโยชน์เมื่อคนไม่ได้เอาไปปฏิบัติ และไม่มีแรงขับที่จะเปลี่ยนแปลงอะไร และไม่คิดที่จะเรียนรู้ใส่ตัวเอง
ขณะที่โลกเปลี่ยน เราอยากขยับขยายไปสู่ตลาดโลก ผู้บริหารก็ต้องพร้อม “relearn” เพื่อรับมือกับการทำงานในที่ใหม่ด้วย
“relearn คือการเรียนรู้ความรู้ใหม่ๆ จากสิ่งที่เราเคยทำ เวลาเราไปอยู่ในสิ่งแวดล้อมใหม่ เราก็จะต้องปรับตัว และไม่ใช่ทำแบบเดิม มันสำคัญมากสำหรับผู้บริหารไทย ที่จะออกไปในต่างประเทศ เราบริหารในไทยสำเร็จ แต่จะไปใช้ที่เวียดนาม ที่จีน หรือที่ไหนไม่ได้ ถ้าเราไม่ relearn”
6.การเป็นผู้นำภายใต้กรอบการทำงานระยะสั้นและระยะยาวควบคู่กัน
ปิดท้ายกับการเป็นผู้นำที่เก่งทั้ง ระยะใกล้และระยะไกล
“สไตล์ผู้นำบ้านเรา ถ้าชอบงานปฏิบัติการ จะลงรายละเอียด ก็จะมองงานในวันนี้ ให้มันเสร็จวันนี้ ได้ผลงานที่ดีปีต่อปี แต่ก็ไม่ได้สร้างทีมไปข้างหน้า ก็อาจจะไปได้แค่ในระยะสั้น แต่องค์กรจะไม่ยั่งยืนในระยะยาว ขณะที่บางคน คิดไปข้างหน้าอย่างเดียว แต่ระยะสั้นการทำงานวันต่อวันมีปัญหา ฉะนั้นบ้านเรามีองค์กรน้อยมากที่สมดุลทั้งสองส่วนนี้”
เธอบอกว่า การนำประเทศทั้งภาครัฐ และเอกชน ต้องสามารถทำทั้งเรื่องระยะสั้นและระยะยาวได้ และทั้ง 6 เรื่องนี้ ก็จะทำให้เรามีผู้นำที่พร้อมรับมือในโลกแห่งการเปลี่ยนแปลงได้
“มันเป็นโจทย์ที่ไม่ง่ายเลย ตอนนี้เราอยู่ในช่วงการดีไซน์ “โซลูชั่น” ซึ่งจะมีผลออกมาในไตรมาสแรกของปีหน้า ที่จะเป็นกุญแจในการสร้างผู้นำไทย ให้ทันปี 2020 ซึ่งไม่ใช่มีแค่เรื่องนี้นะ ระหว่างทางอาจต้องเพิ่มอะไรอีก เพราะโลกมันเปลี่ยนไปแล้ว แต่ในปี 2020 อยากให้คนไทยเป็นอย่างนี้หมดแล้ว”
แต่ถ้าผู้บริหารยังเมินเฉย ผู้นำยังทำในวิธีเก่า เราก็จะมีอุปสรรคมากขึ้น ที่จะผงาดไปโดดเด่นในเวทีอาเซียนหรือเวทีโลก
“ไม่ขอตั้งคำถามในวิสัยทัศน์ที่บอกว่า เราอยากไปในเวทีสากล แต่ขอท้าทายต่อว่า แล้วรู้ไส้ข้างในของคนในองค์กรเรามากแค่ไหน ว่ามีทั้ง 6 ตัวนี้ หรือยัง และถ้าบอกว่าพร้อม พร้อมในระดับไหน วันนี้องค์กรไทยที่ออกไปสู่เวทีโลก มีแค่ไม่กี่องค์กร ไม่ถึง 1% ด้วยซ้ำ เรายังมีองค์กรไม่พอที่จะขับเคลื่อนไปสู่เวทีโลก ฉะนั้นต้องกลับมาสร้างผู้นำตั้งแต่วันนี้”
นั่นคือคำท้าทาย ที่ผู้เสนอบทวิจัยได้ฝากไว้ เพื่อให้องค์กรเริ่มสร้างผู้นำที่พร้อม ยืดหยุ่นและปรับตัว โลกทัศน์กว้าง สร้างบทสนทนาที่หลากหลาย ทำงานเดินหน้าในสภาวะที่คลุมเครือ ไม่ชัดเจนได้ เป็นผู้นำที่ลูกน้อง ทั้งศรัทธาและเลื่อมใส กล้าตัดสินใจ โละทิ้งสิ่งเก่า เพื่อเริ่มสิ่งใหม่ เรียนรู้ไม่หยุดนิ่ง และมีวิสัยทัศน์ที่ชัด ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
ไม่เป็นผู้นำ ในโลกแคบๆ ของตัวเอง แต่คือ ผู้นำที่มหาชนชาวโลกต้อง “ยกนิ้ว” ให้