บจ.ขานรับการเมืองเปลี่ยน
บีเจซีมองเปลี่ยนแปลงการเมืองช่วยเศรษฐกิจฟื้น ชี้เห็นสัญญาณดีไตรมาส 3 ปีนี้ คงเป้ารายได้โต 10 %กำไรทรงตัว เดินหน้าขยายตลาดต่างประเทศ
อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยในปี 2557 ได้รับแรงกดดันจากปัจจัยเสี่ยงหลายปัจจัย อาทิ ความไม่ต่อเนื่องของนโยบายสนับสนุนจากภาครัฐ เศรษฐกิจภายในประเทศ และสถานการณ์ทางการเมืองภายในประเทศที่กระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้ผลิตรถยนต์ที่ใช้ไทยเป็นฐานการผลิต ทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจชิ้นส่วนยานยนต์ของไทยหลายรายประเมินว่าปีนี้ยอดการผลิตรถยนต์จะไม่เป็นไปตามเป้าหมาย
นายเย็บ ซู ชวน ประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อาปิโก ไฮเทค (AH) กล่าวว่า ภาพรวมอุตสาหกรรมยานยนต์ปีนี้น่าจะชะลอตัวประมาณ 10% และแนวโน้มผลประกอบการของบริษัทในปีนี้ก็น่าจะลดลงประมาณ 10-15% จากปีที่แล้ว ซึ่งเป็นไปตามภาวะอุตสาหกรรมโดยรวม อย่างไรก็ตาม ในส่วนของกำไรสุทธิปีนี้ บริษัทยอมรับว่าน่าจะปรับลดลงในอัตราที่มากกว่าการลดลงของรายได้รวม
นอกจากนี้ ผลกระทบจากสถานการณ์การทางการเมืองทำให้นโยบายสนับสนุนจากภาครัฐชะงักไป โดยเฉพาะโครงการอีโคคาร์ แม้ว่าภาคการส่งออกของอุตสาหกรรมยานยนต์ยังเติบโตได้ แต่เมื่อเทียบกับปีก่อนแล้วยังอยู่ในระดับที่ต่ำพอสมควร อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าภาพรวมทางเศรษฐกิจจะเริ่มฟื้นตัวได้ดีในช่วงครึ่งปีหลัง เนื่องจากมีคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามาช่วยผลักดันให้นโยบายต่างๆ ขับเคลื่อนไปได้
“สถานการณ์ตอนนี้ รายได้คงต่ำกว่าปีที่แล้ว 10-15% ลดลงมากกว่าที่เคยประเมินไว้เมื่อต้นปีที่คิดว่ารายได้จะลดลงเพียง 5% ตอนนี้บริษัทใช้กลยุทธ์การลดต้นทุน และลดปริมาณการใช้บุคลากร รวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต ปีนี้ได้ตั้งงบลงทุนไว้ราว 500-600 ล้านบาทใช้ในการปรับปรุงเครื่องจักรและซื้อเครื่องจักรใหม่ ซึ่งก็ยังคงเดินหน้าต่อไป"
นายเย็บ กล่าวว่า บริษัทยังเดินหน้าการหาพันธมิตรในต่างประเทศเพื่อทำโครงการร่วมทุน คือ ประเทศจีน อินเดีย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ซึ่งมองว่าเป็นประเทศที่ยังมีศักยภาพในการเติบโต นอกเหนือจากที่บริษัทได้มีความร่วมมือกับพันธมิตรจากญี่ปุ่นและโปรตุเกสไปแล้วก่อนหน้านี้
"เรายังมีแผนการออกไปสร้างโรงงานในต่างประเทศ เพื่อกระจายความเสี่ยงในประเทศ แต่ยืนยันว่าจะไม่มีการย้ายฐานการผลิตแน่นอน เนื่องด้วยประเทศไทยมีบุคลากรที่มีคุณภาพ มีทรัพยากรที่ดี มีการผลิตรถยนต์ได้มากที่สุด โดยในอีก 10-20 ปี ต่างชาติที่ได้ลงทุนในไทยยังไงก็ยังคงใช้ไทยเป็นฐานการผลิตหลัก"
น.ส. เมธินี อิสรจินดา รองผู้จัดการการฝ่ายนักลงทุนสัมพันธ์บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ เปิดเผยว่า ภายหลังมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวเร็วกว่าที่คาด โดยมองว่ากำลังซื้อของประชาชนน่าจะฟื้นตัวจากการจ่ายเงินโครงการรับจำนำข้าว 9 หมื่นล้านบาท
“การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองทำให้เศรษฐกิจดูมีโอกาสมากขึ้น จากเดิมที่ไม่มีรัฐบาล ติดปัญหาการเบิกจ่ายงบประมาณ แต่เมื่อมีการเปลี่ยนแปลง จ่ายเงินจำนำข้าวชาวนา 9 หมื่นล้านช่วยกระตุ้นกำลังซื้อ”
แต่ในระยะสั้นมองว่าจะยังไม่เห็นผลการฟื้นตัวกับกำลังซื้อและกว่าจะส่งต่อมาถึงบริษัทน่าจะช่วงไตรมาสที่ 3 โดยประเมินว่าปัจจัยที่จะส่งผลให้บริษัทเติบโตได้แท้จริงในปีนี้ จะมาจากเทศกาลฟุตบอลโลก ความต้องการใช้บรรจุภัณฑ์มากขึ้น รวมถึงความขัดแย้งระหว่างประเทศจีนและเวียดนาม จะส่งผลให้ความต้องการสินค้าไทยสูงขึ้น
เธอกล่าวว่าเป้าหมายธุรกิจในปีนี้แม้ภาพเศรษฐกิจในครึ่งปีหลังจะฟื้นตัว แต่ยังไม่เปลี่ยนแปลงการประมาณการของยอดขายที่คาดว่าจะเติบโต10 % จากปีก่อน และคงกำไรสุทธิไว้ให้ได้ แม้ไตรมาส 2 ปีนี้ อาจจะมีทิศทางที่ดีขึ้นมาแต่เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ยังหดตัว ระหว่างนี้บริษัทได้หันไปปรับปรุงคุณภาพการผลิต เพื่อลดต้นทุนทางธุรกิจ และเดินหน้าขยายตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะในประเทศเวียดนาม และประเทศลาว หลังจากที่มีการเข้าไปดำเนินธุรกิจร้านสะดวกซื้อใน 2 ประเทศดังกล่าวเพื่อกระจายความเสี่ยงไม่ให้พึ่งพิงกับรายได้ในประเทศเพียงอย่างเดียว
ทั้งนี้ บริษัทตั้งเป้าจะมีรายได้จากต่างประเทศระดับ 50 % ภายในปี 2561 จากปัจจุบัน 31 % สำหรับงบลงทุนในปี 2557 นั้นบริษัทยังคงไว้ที่ 5,000 ล้านบาท ใช้ ในการย้ายโรงงานผลิตขวดแก้ว 3 พันล้านบาท ปรับปรุงระบบหลังบ้าน 1 พันล้านบาท ขยายสาขา 1 พันล้านบาท และงบลงทุนปกติ 1 พันล้านบาท
ส่วนแผนการเข้าควบรวมกิจการกับธุรกิจที่มีความน่าสนใจ ยังมีต่อเนื่อง โดยบริษัทจะเข้าร่วมทุนกับบริษัทผลิตเวชภัณฑ์ในประเทศ 1 แห่ง มูลค่าประมาณ 100 ล้านบาท คาดว่าจะได้ข้อสรุปในไตรมาสที่ 2 ผลดีคือช่วยต่อยอดธุรกิจเดิมของบริษัท นอกจากนี้ยังมีแผนการก่อสร้างห้างสรรพสินค้า รูปแบบคล้ายห้างวอล-มาร์ท ในสหรัฐ ส่วนสถานที่ก่อสร้างยังไม่สามารถเปิดเผยได้ ระบุได้แค่ว่า อยู่ใกล้กับเขตชายแดนที่มีการเติบโตของกำลังซื้อที่ดี คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ภายในสิ้นปีนี้
การเคลื่อนไหวราคาหุ้นบริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ ล่าสุดเมื่อวันที่ 29 พ.ค.ปิดตลาดที่ราคา 45.75 บาท ไม่เปลี่ยนแปลง มูลค่าการซื้อขาย 25 ล้านบาท ส่วนราคาหุ้นบริษัท อาปิโก้ ปิดตลาดที่ 15.80 บาทลดลง 0.40 บาท คิดเป็น 2.47%มูลค่า 7.08 ล้านบาท