กสทช.เล็งประกาศขยายอายุ'เยียวยาซิมดับ'

กสทช.เล็งประกาศขยายอายุ'เยียวยาซิมดับ'

บอร์ดกสทช.เตรียมอนุมัติออกประกาศขยายอายุมาตรการเยียวยาไปอีก 1 ปี 20 ส.ค.นี้

แหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการวิทยุกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า เมื่อวันที่ 4 ส.ค.ที่ผ่านมา คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ประชุมบอร์ดวาระขออนุมัติมตินำประกาศมาตรการเยียวยาผู้ใช้โทรศัพท์มือถือในระบบ 2 จีบนคลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิรตซ์ ที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีคำสั่งให้ขยายอายุมาตรการเยียวยาออกไป 1 ปี นำไปประกาศอย่างเป็นทางการอีกครั้งในราชกิจจานุเบกษา

ทั้งนี้ คาดว่า วันที่ 20 ส.ค.นี้ บอร์ด กทค.จะนำมติเข้าที่ประชุมบอร์ดกสทช.อีกครั้งหนึ่ง เพื่อเป็นการดำเนินขั้นตอนตามระเบียบ แม้จะมีคำสั่ง คสช. ซึ่งใหญ่กว่าประกาศ กสทช. ก็ตาม อีกทั้งยังเป็นการปิดช่องโหว่ของตัวคณะกรรมการและสำนักงานเอง ป้องกันถูกฟ้องร้องภายหลัง

นอกจากนี้ ที่ประชุมดังกล่าวยังหารือถึงยอดลูกค้าคงค้างในบริษัท ทรูมูฟ จำกัด จำนวน 7 ล้านราย และบริษัท ดิจิตอลโฟน จำกัด (ดีพีซี) อีก 10,000 ราย ว่าแม้จะขยายอายุมาตรการเยียวยาไป แต่ผู้ประกอบการทั้ง 2 รายก็ควรเร่งประชาสัมพันธ์ลูกค้าว่าสัมปทานที่ใช้อยู่นั้นสิ้นสุดลงแล้วตั้งแต่ ก.ย.2556 และการออกมาตรการเยียวยานี้เป็นเพียงประกาศเฉพาะกิจเท่านั้น

พร้อมกันนี้ ที่ประชุมสั่งให้สำนักงานไปกำชับกับเอกชนให้ส่งรายละเอียดรายรับที่เกิดขึ้นในช่วงมาตรการเยียวยาว่ามีจำนวนเท่าไร จะได้นำส่งเป็นเงินแผ่นดินต่อไป

อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวสำนักงาน กสทช.ระบุว่า ตั้งแต่สิ้นสุดสัมปทานกับบมจ.กสท โทรคมนาคมลง ทรูมูฟ กับดีพีซีแจ้งว่า ช่วงเยียวยาไม่มีกำไรจากการดำเนินการดังกล่าวเลย มีค่าใช้จ่ายเป็นค่าเช่าโครงข่ายและการดูแลลูกค้า แต่ไม่มีรายรับเข้ามามากนัก ดังนั้นเกือบตลอด 1 ปีตั้งแต่หมดสัมปทาน 16 ก.ย.2556-16 ก.ย.2557 อาจจะไม่เหลือเงินให้สำนักงานกสทช.ส่งเข้าเป็นรายได้แผ่นดิน

"เรื่องนี้น่าแปลกมากที่พอมีคำสั่ง คสช. ให้ชะลอการประมูล 4จี และขยายอายุมาตรการเยียวยาออกไป 1 ปี เอกชนไม่ออกมาโวยวาย ไม่มีท่าที หรือส่งหนังสือมายัง กสทช. ว่าแบกรับปัญหาขาดทุนไม่ไหว เมื่ออ้างว่า ช่วงเยียวยาขาดทุน แต่พอให้ขยายออกไปกลับนิ่งเฉย บางรายออกจะดีใจด้วยซ้ำ ถ้าตรงนี้ สำนักงาน กสทช.ยังเฉย จะถูกตรวจสอบย้อนหลังแน่นอน"