อุตสาหกรรมนมไทยเข้าขั้นวิกฤตขาดแคลนน้ำนมดิบ
"ชัยยันต์" เผยอุตสาหกรรมนมไทย เข้าขั้นวิกฤตขาดแคลนน้ำนมดิบ หลังเวียดนามกว้านซื้อแม่พันธุ์โคท้อง ยันโครุ่นสาว
นายชัยยันต์ โลหพันธุ์วงศ์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์อาหารนมไทย เปิดเผยว่าปัจจุบันประเทศไทยประสบปัญหาวิกฤตขาดแคลนน้ำนมดิบอย่างรุนแรง เนื่องจากประเทศเพื่อนบ้าน เช่นเวียดนามและมาเลเซีย โดยเฉพาะเวียดนามเข้ามากว้านซื้อแม่พันธุ์โค โคท้อง และโครุ่นสาวในประเทศไทย เพื่อนำกลับไปเลี้ยงที่เวียดนาม ตามนโยบายของรัฐบาลเวียดนามในการเพิ่มอุปทาน (supply) ในประเทศ และเพื่อทดแทนการนำเข้า ส่งผลให้มีการตัดตอนวงจรแม่พันธุ์ และโคที่พร้อมรีดนมในประเทศไทย ซึ่งการผลิตทดแทนโคที่ส่งออกไปเวียดนามและมาเลเซียต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 3 ปี จึงจะสามารถรีดน้ำนมดิบมาทดแทนได้ นอกจากนี้ ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา ไทยขาดการส่งเสริมและการพัฒนาการเลี้ยงโคนมทั้งในเรื่องประสิทธิภาพการผลิตเพื่อให้ต้นทุนการผลิตต่ำลงและแม่พันธุ์เพื่อให้ปริมาณน้ำนมมากขึ้นและมีคุณภาพดีขึ้น
ทั้งนี้ สมาคมฯ ได้ทำหนังสือเสนอให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ไปก่อนหน้านี้ เพื่อหาแนวทางในการเพิ่มผลผลิตน้ำนมดิบประเทศอย่างเร่งด่วน โดยการเพิ่มจำนวนแม่โคและการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตน้ำนมของแม่โค รวมทั้งพัฒนาวิธีการเลี้ยงโคนมเพื่อลดต้นทุนการผลิตน้ำนมดิบ เพื่อรองรับความต้องการบริโภคทั้งในประเทศและการส่งออกผลิตภัณฑ์ไปตลาดอาเซียน ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีแม่โครีดนมได้ประมาณ 200,000 ตัว และคาดว่าต้องเพิ่มเป็น 260,000 ในปี 2558 และ 276,000 ตัว ในปี 2559 ตามลำดับ เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
นายชัยยันต์ กล่าวต่อไปว่า การผลิตน้ำนมดิบโดยรวมของประเทศไทยปัจจุบันเพิ่มขึ้นเพียงปีละ 1% เท่านั้น ขณะที่ความต้องการเฉพาะของอุตสาหกรรมนมพร้อมดื่มขยายตัวปีละ 10% เป็นผลมาจากการส่งออกนมพร้อมดื่มจากไทยไปตลาดอาเซียนมากขึ้น จึงมีการคาดการณ์ว่าสถานการณ์ดังกล่าวจะทำให้ผู้ประกอบการไทยประสบกับปัญหาขาดแคลนน้ำนมดิบตั้งปี 2558 จำนวน 182,500 ตัน ปี 2559 จำนวน 266,450 ตัน ต่อเนื่องไปจนถึงปี 2560 จำนวน 356,970 ตัน
“การผลิตน้ำนมดิบในประเทศไทยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ปริมาณน้ำนมดิบของไทยไม่เพิ่มขึ้น ทั้งที่ใช้ในอุตสาหกรรมนมเชิงพาณิชย์และการใช้เพื่อผลิตนมโรงเรียน ซึ่งขณะนี้แม้แต่หน่วยงานรัฐวิสาหกิจอย่างองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อสค.) ยังประสบปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบเช่นเดียวกัน” นายชัยยันต์ กล่าว
นายชัยยันต์ กล่าวอีกว่า ภาครัฐจำเป็นต้องหามาตรการในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เพื่อสร้างความมั่นใจในเรื่องความมั่นคงทางอาหาร พร้อมทั้งการวางแผนการผลิตน้ำนมดิบอย่างชัดเจน ตลอดจนการบริหารจัดการต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ
“ไทยต้องการตั้งเป้าเป็นศูนย์กลางการผลิตผลิตภัณฑ์นมของอาเซียน ซึ่งเรามีศักยภาพเพียงพอเพราะอุตสาหกรรมนี้มีการพัฒนามากกว่า 50 ปี แล้ว ซึ่งเราควรจะขยายกำลังการผลิตเพื่อการส่งออกไปยังประเทศในอาเซียนและนอกอาเซียน” นายชัยยันต์ กล่าวย้ำ
นายชัยยันต์ กล่าวว่า หากปัญหาการขาดแคลนน้ำนมดิบยังไม่ได้รับการแก้ไข อาจทำให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมนมรายใหญ่ที่เป็นสมาชิกของสมาคมฯ 11 ราย ต้องแย่งซื้อวัตถุดิบแข่งกันเพื่อผลิตนมในเชิงพาณิชย์ และยังต้องแข่งขันกับผู้ที่ได้รับสัมปทานผลิตนมโรงเรียนด้วย เนื่องจากในช่วงการพักท้องของแม่โค จะอยู่ในช่วงเดือนสิงหาคมและกันยายนเป็นต้นไป ดังนั้นรัฐบาลควรมีมาตรการออกมาทันทีในช่วงนี้ โดยเฉพาะการส่งเสริมการเลี้ยงและพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตควรเริ่มตั้งแต่วันนี้ เนื่องจากโคจะให้น้ำนมได้อีก 3 ปีข้างหน้า