'โลจิสติกส์'เรื่องต้องแก้ปัญหาเมื่อเปิดประตูการค้าสู่เออีซี

'โลจิสติกส์'เรื่องต้องแก้ปัญหาเมื่อเปิดประตูการค้าสู่เออีซี

ส่วนการขนส่งสินค้า การใช้เส้นทางจากระหว่างชายแดนลาวข้ามไปในตัวของเวียดนาม ยังใช้บริการผู้ประกอบการทางด้านโลจิสติกส์ทางฝั่งเวียดนาม

ในการเปิดประตูสู่อาเซียนของประเทศสมาชิกทั้ง 10 ประเทศนั้น สิ่งที่หลายฝ่ายมองว่าเป็นปัญหาอยู่ โดยเฉพาะการขนส่งสินค้าไปยังประเทศเพื่อนบ้านนั้น นั่นคือเรื่องของระบบโลจิสติกส์ เพราะในการขนส่งสินค้านั้น ต้องยอมรับว่า การที่่รถพวงมาลัยขวาของไทย จะไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ยังเป็นปัญหาอยู่ โดยเฉพาะการส่งสินค้าไปยังเวียดนามและจีนตอนใต้ ประกอบกับเรื่องของภาษี โดยเฉพาะภาษีการขนส่งสินค้าไปยังประเทศจีน ซึ่งไทยยังเจอปัญหาการจัดเก็บภาษีในอัตราที่แพง เนื่องจากไม่ได้มีอาณาเขตติดต่อกับจีนเหมือนเวียดนาม 

เรื่องนี้ ชาญยุทธ อุปพงษ์ ประธานหอการค้าจังหวัดนครพนม กล่าวถึง ปัญหาในการขนส่งสินค้าสู่ประเทศสมาชิกอาเซียนว่า ปัญหาที่พบเห็นอยู่ขณะนี้คือการต้องเปลี่ยนหัวลากที่ชายแดนระหว่างลาวกับเวียดนาม เนื่องจากรถพวงมาลัยขวา ทางเวียดนามยังไม่อนุญาตให้เข้าประเทศได้ ซึ่งขณะที่มีการขนสินค้าข้ามไปสะพานมิตรภาพแห่งที่3บริเวณปลายสะพานฝั่งเวียดนามก็จะมีพื้นที่เพื่อให้เปลี่ยนหัวลาก ซึ่งก็จะมีรถทางเวียดนามมาขนตู้คอนเทนเนอร์เข้าไป ส่วนจุดที่2ก็จะเปลี่ยนกันที่ รถไทยวิ่งในลาว และพอไปถึงด่านนาพร้าว ก็จะไปเปลี่ยนหัวลากเป็นหัวลากของเวียดนาม เพื่อเข้าไปยังประเทศเวียดนาม ซึ่งก็ยังมีการใช้วิธีนี้กันอยู่ เพราะรถไทยไม่สามารถเข้าไปในเวียดนามได้เลย

ทางเวียดนาม ทางลาว ยังกีดกันในเรื่องการขนส่งบางอย่างอยู่ เพราะถือเป็นประโยชน์ของประเทศเขาเอง ซึ่งจะต้องใช้รถของประเทศเขาที่เป็นพวงมาลัยซ้ายมาขนถ่ายสินค้าจากฝั่งไทย จึงเหมือนกับกลายเป็นข้อกีดกันทางการค้าอย่างหนึ่งที่ยังเป็นอุปสรรคอยู่ แต่ถ้าหากทางประเทศลาวและเวียดนามปล่อยให้รถจากฝั่งไทยวิ่งเข้าไป นั่นอาจจะส่งผลถึงระบบโลจิสติกของประเทศเขาก็จะเกิดปัญหา เพราะฉะนั้นจึงเกิดข้อกีดกันเพื่อให้เกิดความเสมอภาค ให้ฝั่งไทยได้บ้าง ฝั่งประเทศเพื่อนบ้านได้ประโยชน์บ้าง ก็ต้องเอื้อกัน จึงทำให้ระบบการขนส่งยังต้องอยู่ในรูปแบบนี้อยู่ ซึ่งเรื่องนี้เคยยกขึ้นมาเจรจาในที่ประชุม แต่ก็ยังไม่ประสบผลสำเร็จในเรื่องของการใช้รถพวงมาลัยซ้าย ขวา ที่จะสามารถวิ่งเจ้าไปถึงประเทศเวียดนาม

จ.นครพนม ก็ถือเป็นชายแดนการค้าที่สำคัญ ซึ่งมีการเตรียมความพร้อมที่เกือบจะสมบูรณ์ ในการรองรับอาเซียน ทั้งเรื่องของการเตรียมพื้นที่ ที่จะเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ1ใน10จังหวัดที่รัฐบาลมีการประกาศแล้ว ซึ่งการเตรียมพื้นที่ที่จะเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษมีการเตรียมไว้หลายจุด เช่น ในบริเวณเชิงสะพานก็มีประมาณ2,000กว่าไร่ ที่จะเป็นศูนย์One stop serviceทั้งหมดในการที่จะทำเรื่องเกี่ยวกับ การส่งออกสินค้า ในเรื่องของการผ่านแดนต่างๆ ก็จะเป็นจุดเดียว ทั้งด่านศุลกากร ด่านกักกัน และอื่นๆ นอกจากนี้ยังเป็นจุดกระจายสินค้า คลังสินค้า ในบริเวณนี้ ซึ่งรถขนส่งสินค้าก็สามารถมาเปลี่ยนหัวลากหรือพักสินค้าที่นี่ได้

การเตรียมความพร้อมของ จ.นคพนม มีการเตรียมพร้อมมากกว่า จ.หนองคาย หรือมุกดาหาร เนื่องจากนครพนมมีพื้นที่สาธารณะมากกว่า และเป็นพื้นที่แปลงใหญ่อีกหลายแปลงซึ่งถือว่ามีความพร้อมประมาณ80%

ขณะที่สะพานที่มุกดาหารกับสะพานที่หนองคาย ขณะนี้มีความแตกต่างกัน และสะพานยังไม่ได้มีการบรรจุเข้าไปอยู่ในกรอบของเส้นทางการค้าที่ลดต้นทุนของการขนส่ง ยังมีการเสียภาษีที่แพงกว่าหากมีการมาใช้สะพานมิตรภาพแห่งที่3จึงอยากให้รัฐบาลนำเข้าสู่เส้นทางเช่นเดียวกับเส้นทางหมายเลข9ที่ไม่มีการเก็บภาษี

ส่วนการขนส่งสินค้า การใช้เส้นทางจากระหว่างชายแดนลาวข้ามไปในตัวของเวียดนาม ยังใช้บริการผู้ประกอบการทางด้านโลจิสติกทางฝั่งเวียดนามเนื่องจากมีความชำนาญในพื้นที่มากกว่าคนไทย ทั้งเรื่องคนขับรถที่ชำนาญเส้นทางกว่า และภาษาการสื่อสารกับเจ้าหน้าที่ก็ดีกว่า ทำให้ผู้ประกอบการเองก็นิยมที่จะใช้รถบรรทุกหรือรถขนส่งของอทางเวียดนามในการขนถ่ายสินค้าเข้าไปที่เวียดนาม เพื่อความสะดวก

ด้าน แหล่งข่าวที่เป็นผู้ประกอบการ ก็ยังประสบปัญหาที่หลายคนมองข้าม ซึ่งเปิดเผยว่า หากมีการเปิดตลาดอาเซียนในช่วงปลายปีนี้ คาดว่าการขนส่งสินค้าต้องมีปัญหาแน่นอน คือปัญหาหนึ่งเรื่องของภาษา คนขับรถพูดภาษาต่างประเทศไม่ได้ ส่วนปัญหาที่ตามมาอีกคือ การรีดไถรถต่างประเทศของเจ้าหน้าที่ ทุกประเทศเป็นแบบเดียวกัน ซึ่งเรื่องนี้ต้องแก้ไขโดยการเข้มงวด ตรวจตราความถูกต้อง แต่อาจจะทำให้เสียเวลาในการขนส่งสินค้า ซึ่งผู้ประกอบการเองก็อาจจะไม่ต้องการแบบนั้นเพราะจะทำให้เสียเวลา

ส่วนการเตรียมความพร้อมรับอาเซียน การขนส่งสินค้าปัจจุบันนี้ก็เหมือนการทำตลาดอาเซียนอยู่ในตัวอยู่แล้ว เพราะมีการติดต่อกับต่างประเทศ จึงไม่ต้องเตรียมพร้อมอะไรมาก เพียงแต่ว่าหลายอย่างต้องใช้เงินเป็นใบเบิกทาง ไม่ว่าจะเปิดAECหรือไม่ก็ยังต้องเป็นแบบนี้ นี่คือปัญหาหลัก คือเรื่องการเคลียร์กับเจ้าหน้าที่ ส่วนตัวมองว่า ถ้าหากไม่มีเงินเป็นใบเบิกทาง ก็ทำให้งานช้าลง

นอกจากนั้น การเจรจากับเจ้าหน้าที่ บางครั้งช่วยได้ในเบื้องต้น แต่การปฏิบัติก็อีกเรื่องหนึ่ง นั่นคือปัญหาที่ผู้ประกอบการกำลังเจอกันอยู่ ซึ่งมันก็ไม่พ้นเรื่องของการคอรัปชั่นเรื่องการตลาด ขณะนี้ต่างชาติพร้อมที่จะบุกตลาดของไทยตลอดเวลา หากยกเว้นภาษี ซึ่งแทนที่เราจะได้เปรียบ เราอาจจะเสียเปรียบด้วยซ้ำ ซึ่งจะเสียเปรียบในเรื่องอัตราภาษี แม้แต่ทุกวันนี้มีอัตราภาษีกั้นอยู่ ต่างประเทศอย่างจีน ก็ยังบุกตลาดทั่วประเทศไทยได้ในเรื่องการค้า ในขณะที่ฝั่งไทยส่งออกไปประเทศเขา ก็ยังต้องมีเงื่อนไขอีกหลายอย่างสารพัด แม้แต่ผลไม้ไทยที่ส่งออกไปประเทศจีน สามารถเช็คได้เลยว่าสถิติการส่งออกผลไม้จีน ไม่ค่อยมีของไทย มีแต่ส่งไปประเทศเวียดนาม เพราะถ้าหากส่งออกไปจีน จะต้องมีเงื่อนไขเรื่องภาษีถึง13เปอร์เซ็นต์ แต่ถ้าส่งประเทศที่มีอาณาเขตติดต่อกัน ภาษีจะอยู่ที่5% ไทยก็เลยจำเป็นต้องส่งออกไปแค่เวียดนาม แล้วพ่อค้าเวียดนามก็มารับไปส่งต่อ ทำให้เราค่อนข้างเสียเปรียบ