เปิด 24 สะพานข้ามทางแยก พื้นที่ กทม. ห้ามรถบรรทุก 10 ล้อขึ้นไปใช้
ราชกิจจาฯ เผยแพร่ ประกาศห้ามรถบรรทุก 10 ล้อขึ้นไป ใช้สะพานข้ามทางแยก ใน กทม. 24 แห่ง มีผลทันที 21 พ.ย. 67
เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศ ข้อบังคับหัวหน้าเจ้าพนักงานจราจรในเขตกรุงเทพมหานคร ว่าด้วยการห้ามรถบรรทุกตั้งแต่ 10 ล้อขึ้นไป ใช้งานสะพานข้ามทางแยก พ.ศ. 2567
ด้วย สภาพทางกายภาพของสะพานข้ามทางแยกรัชโยธิน และสะพานข้ามทางแยกเกษตร ซึ่งได้มีการออกข้อบังคับฯ ห้ามรถบรรทุกตั้งแต่ 10 ล้อขึ้นไป เดินรถบนสะพาน หากแต่ในปัจจุบันนั้น สะพานทั้งสองแห่งได้มีการรื้อถอนอันเนื่องมาจากมีการก่อสร้างรถไฟฟ้า (สายสีเขียว) โดยได้มีการก่อสร้างสะพานข้ามทางแยกทดแทนของเดิมในแนวถนนพหลโยธิน จำนวน 3 สะพาน ประกอบด้วย สะพานข้ามทางแยกรัชโยธิน สะพานข้ามทางแยกเสนานิคม และสะพานข้ามทางแยกเกษตร
เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพทางกายภาพที่เปลี่ยนแปลงไป อีกทั้งหากรถบรรทุกขึ้นใช้สะพานข้ามแยก อาจทำให้เกิดปัญหาการจราจร ทั้งอาจเกิดการชำรุดของสะพานขึ้นได้ ดังนั้น เพื่อเป็นการปลอดภัยลดการเกิดอุบัติเหตุและสะดวกในการจราจร จึงจำเป็นต้องออกประกาศข้อบังคับหัวหน้าเจ้าพนักงานจราจร เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพถนน และการจราจรในปัจจุบัน
ฉะนั้น อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 139 (1) แห่งพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 อันเป็นพระราชบัญญัติที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา 26 ประกอบกับมาตรา 38 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้ โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเพื่อความมั่นคงของรัฐความสงบเรียบร้อยของประชาชน และคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ 62/2566 ลงวันที่ 25 มกราคม พ.ศ.2566 แต่งตั้งผู้บัญชาการตำรวจนครบาล หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติราชการแทน เป็นหัวหน้าเจ้าพนักงานจราจรในเขตกรุงเทพมหานคร จึงได้ออกข้อบังคับไว้ ดังนี้
ข้อ 1 ข้อบังคับนี้เรียกว่า "ข้อบังคับหัวหน้าเจ้าพนักงานจราจรในเขตกรุงเทพมหานคร ว่าด้วยการห้ามรถบรรทุกตั้งแต่ 10 ล้อขึ้นไป ใช้งานสะพานข้ามทางแยก พ.ศ.2567"
ข้อ 2 ข้อบังคับนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
ข้อ 3 ให้ยกเลิกข้อบังคับกองบัญชาการตำรวจนครบาล ว่าด้วยการห้ามรถยนต์บรรทุกตั้งแต่ 10 ล้อขึ้นไป เดินบนสะพานข้ามทางแยกตามถนนสายต่าง ๆ ในเขตกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2539
ข้อ 4 ห้ามรถบรรทุกตั้งแต่ 10 ล้อขึ้นไป ใช้งานสะพานข้ามทางแยก ดังต่อไปนี้
- สะพานข้ามทางแยกถนนเพชรบุรี - ถนนอโศก (แยกอโศก - เพชร)
- สะพานข้ามทางแยกถนนเพชรบุรี - ถนนราชปรารภ (แยกประตูน้ำ)
- สะพานข้ามทางแยกถนนเพชรบุรี - ถนนพญาไท (แยกราชเทวี)
- สะพานข้ามทางแยกถนเพชรบุรี -ถนนรามคำแหง (แยกคลองตัน)
- สะพานข้ามทางแยกถนนพิษณุโลก - ถนนสวรคโลก (แยกยมราช)
- สะพานข้ามทางแยกถนนพระรามที่ 4 - ถนนพญาไท (แยกสามย่าน)
- สะพานข้ามทางแยกถนนพระรามที่ 4 -ถนนอังรีดูนังต์ (แยกอังรีดูนังต์)
- สะพานข้ามทางแยกถนนพระรามที่ 4 - ถนนสีลม (แยกศาลาแดง)
- สะพานข้ามทางแยกถนนพระรามที่ 4 - ถนนวิทยุ (แยกวิทยุ)
- สะพานข้ามทางแยกถนนพหลโยธิน - ถนนรัชดาภิเษก (แยกรัชโยธิน)
- สะพานข้ามทางแยกถนนพหลโยธิน - ถนนเสนานิคม (แยกเสนานิคม)
- สะพานข้ามทางแยกถนนพหลโยธิน - ถนนงามวงศ์วาน (แยกเกษตร)
- สะพานข้ามทางแยกถนนพหลโยธิน - ถนนประดิพัทธิ์ (แยกสะพานควาย)
- สะพานข้ามทางแยกถนนพหลโยธิน - ถนนกำแพงเพชร (แยกย่านพหล)
- สะพานข้ามทางแยกถนนดินแดง - ถนนราชวิถี (แยกสามเหลี่ยมดินแดง)
- สะพานข้ามทางแยกถนสมเด็จพระปิ่นเกล้า-ถนนอรุณอัมรินทร์ (แยกอรุณอัมรินทร์)
- สะพานข้ามทางแยกถนนราชวิถี - ถนนจรัญสนิทวงศ์ (แยกบางพลัด)
- สะพานข้ามทางแยกถนนเพชรเกษม - ถนนรัชดาภิเษก (แยกท่าพระ)
- สะพานข้ามทางแยกถนนลาดพร้าว - ถนนรัชดาภิเษก (แยกลาดพร้าวรัชดา)
- สะพานข้ามทางแยกถนนลาดพร้าว - ถนนสุขาภิบาล 1 (แยกบางกะปิ)
- สะพานข้ามทางแยกถนนรามคำแหง - ถนนศรีนครินทร์ (แยกลำสาลี)
- สะพานข้ามทางแยกถนนประชาชื่น - ถนนงามวงศ์วาน (แยกพงษ์เพชร)
- สะพานข้ามทางแยกถนนประชาชื่น - ถนนรัชดาภิเษก (แยกประชานุกูล)
- สะพานข้ามทางแยกถนนประชาราษฎร์ - ถนนรัชดาภิเษก (แยกวงศ์สว่าง)
ข้อ 5 นับตั้งแต่ วัน เวลา ที่ข้อบังคับนี้ใช้บังคับ ให้ยกเลิก ข้อบังคับ กฎ ระเบียบ คำสั่งใดที่ขัดหรือแย้งกับข้อบังคับนี้
ประกาศ ณ วันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ.2567
พลตำรวจตรี ธวัช วงศ์สง่า
รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ปฏิบัติราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจนครบาล
หัวหน้าเจ้าพนักงานจราจรในเขตกรุงเทพมหานคร