ปตท.สผ. เชื่อ ไตรมาส 4/58 พลิกมีกำไร
"ปตท.สผ." เชื่อผลประกอบการไตรมาส 4/58 พลิกกำไร คาดไม่ตั้งด้อยค่าสินทรัพย์อีกเหมือนในไตรมาสก่อน
นางเพ็ญจันทร์ จริเกษม รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มงานการเงินและการบัญชี บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) คาดว่าผลการดำเนินงานในไตรมาส 4/58 จะพลิกมีกำไรสุทธิจากที่ขาดทุนสุทธิ 4.6 หมื่นล้านบาทในไตรมาส 3/58 หลังคาดว่าจะไม่มีการตั้งด้อยค่าสินทรัพย์อีกเหมือนในไตรมาสก่อนที่ตั้งด้อยค่าสินทรัพย์ สูงถึง 1.39 พันล้านเหรียญสหรัฐ
ประกอบกับคาดว่าปีนี้ปริมาณขายปิโตรเลียมจะเพิ่มขึ้นมาที่ 3.35 แสนบาร์เรล/วัน จากเฉลี่ย 9 เดือนแรกปีนี้ที่มีปริมาณขาย 3.28 แสนบาร์เรล/วัน จากการเริ่มผลิตของแหล่งน้ำมันดิบแอลจีเรีย 433เอ และ 416บี ขณะที่คาดว่าค่าเงินบาท/ดอลลาร์ น่าจะอยู่ในระดับใกล้เคียงกับไตรมาส 3/58 ซึ่งจะทำให้ไม่ได้รับผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนจำนวนมากเหมือนในไตรมาสก่อน
ทั้งนี้ ปริมาณขายที่เพิ่มขึ้นในไตรมาส 4/58 ทำให้คาดว่าปริมาณการขายปิโตรเลียมในปีนี้จะเติบโตได้ราว 3% จากระดับ 3.22 แสนบาร์เรล/วันในปีก่อน ซึ่งเป็นการเติบโตตามความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้น
“ถ้าดูก็น่าจะมีกำไร จากยอดขายที่เพิ่มขึ้น และเราไม่ตั้ง impairment บาทก็น่าจะใกล้เคียงกับไตรมาส 3 ก็มั่นใจว่าไม่มีผลกระทบต่ออัตราแลกเปลี่ยน แต่ถ้าแข็งค่าขึ้นเราก็จะมีกำไร"นางเพ็ญจันทร์ กล่าว
นางเพ็ญจันทร์ กล่าวว่า ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงทุก 1 บาท/ดอลลาร์ จะทำให้บริษัทมีผลขาดทุนทางตัวเลขบัญชีราว 100 ล้านเหรียญสหรัฐ ที่มาจากภาษีรอจ่าย และเงินกู้ยืมที่ส่วนใหญ่เป็นเงินสกุลดอลลาร์ แต่ในทางกลับกันหากค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นทุก 1 บาท/ดอลลาร์ บริษัทก็จะมีผลกำไรทางบัญชีราว 100 ล้านเหรียญสหรัฐเช่นกัน โดยกรณีดังกล่าวเป็นเรื่องทางบัญชีเท่านั้น ไม่ได้กระทบต่อกระแสเงินสดของบริษัทแต่อย่างใด
ขณะที่การบันทึกขาดทุนด้อยค่าสินทรัพย์จำนวนมากในไตรมาส 3/58 ที่ระดับ 1.39 พันล้านเหรียญสหรัฐนั้น เป็นผลจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลงมามากโดยการบันทึกดังกล่าวบนพื้นฐานราคาน้ำมันดิบที่ 48 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล โดยเชื่อว่าหากราคาน้ำมันยืนในระดับปัจจุบันบริษัทก็จะไม่มีการบันทึกขาดทุนจากการด้อยค่าสินทรัพย์ฯอีก
บริษัทยังคงเป้าหมายจะมีอัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย,ภาษี,ค่าเสื่อม และค่าตัดจำหน่าย(EBITDA margin) ในระดับ 70% และคาดว่าจะมีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานในระดับ 3 พันล้านเหรียญสหรัฐ
ส่วนในปีหน้าบริษัทคาดว่าจะมียอดขายปิโตรเลียมที่ราว 3.3 แสนบาร์เรล/วันใกล้เคียงกับปีนี้ เนื่องจากยังไม่มีการผลิตจากแหล่งปิโตรเลียมใหม่เข้ามาเพิ่มเติม แต่จะรับรู้การผลิตจากแหล่งในแอลจีเรียได้เต็มปี ขณะที่ราคาขายผลิตภัณฑ์เฉลี่ยคาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 43 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ลดลงจากคาดเฉลี่ย 45-46 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลในปีนี้ แม้จะมองว่าราคาน้ำมันดิบจะขยับขึ้นเล็กน้อย แต่ราคาขายก๊าซธรรมชาติจะปรับลดลงล่าช้ากว่าทิศทางของราคาน้ำมัน โดยบริษัทมีสัดส่วนการขายก๊าซฯราว 70% และการขายน้ำมันราว 30%
สำหรับงบลงทุนในปีหน้าคาดว่าจะอยู่ในระดับใกล้เคียงปีนี้ที่ราว 2 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อใช้ในการลงทุนตามแผนและรักษาระดับการผลิตในระดับเดิม ขณะที่วางเป้าหมายจะรักษาต้นทุนการผลิตต่อหน่วยไม่ให้เกิน 40 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล หลังในช่วง 9 เดือนแรกปีนี้สามารถลดต้นทุนการผลิตลงมาที่ 40.20 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว มีต้นทุนการผลิตในระดับ 42.22 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล