แนะ 'ออมสิน-ธ.ก.ส.' ดึงกำไรช่วยประชาชน

แนะ 'ออมสิน-ธ.ก.ส.' ดึงกำไรช่วยประชาชน

สศค. เตรียมถก รมว.คลัง จี้ "ออมสิน-ธ.ก.ส." ดึงกำไรช่วยประชาชน ระบุดอกเบี้ยลูกค้ารายย่อยชั้นดีเฉลี่ย 7% สูงเกินไป

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า สศค.เตรียมหารือกับนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง เกี่ยวกับแนวทางการดำเนินงานของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (แบงก์รัฐ) โดยเฉพาะธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร เนื่องจากมีกำไรจากผลประกอบการแต่ละปีจำนวนมาก จึงอยากให้นำส่วนนี้เข้ามาช่วยเหลือประชาชนที่เป็นลูกค้าของธนาคาร เช่น การปรับลดอัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายย่อยชั้นดี (เอ็มอาร์อาร์) ที่ปัจจุบันมีอัตราเฉลี่ยอยู่ที่ 7% ลง หรือมีผลิตภัณฑ์ที่ทำให้ประชาชนเข้าถึงการบริการของธนาคาร

ทั้งนี้ แนวทางการจัดตั้งแบงก์รัฐ เพราะต้องการให้แบงก์รัฐเข้าไปช่วยเหลือประชาชนผู้มีรายได้น้อยให้เข้าถึงแหล่งเงินทุน เพื่อใช้ในการประกอบอาชีพ โดยไม่ควรที่จะมีการดำเนินงานที่มีผลประกอบการหรือกำไรจำนวนมาก เหมือนกับธนาคารพาณิชย์ทั่วไป โดยเชื่อว่า หากทั้ง 2 ธนาคาร สามารถเข้าไปช่วยเหลือประชาชนให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินด้วยด้วยอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำจะช่วยแก้ปัญหาหนี้นอกระบบได้อย่างแน่นอน

“มองว่าการดำเนินงานของ ออมสิน และธ.ก.ส. ไม่ควรที่จะเน้นการดำเนินงานที่แสวงหากำไรมากเกินไป แต่นำกำไรเข้ามาช่วยเหลือประชาชน โดยเฉพาะอัตราดอกเบี้ยเอ็มอาร์อาร์ ที่ปัจจุบันมีอัตราเฉลี่ยอยู่ที่ 7% มองว่าสูงเกินไป หากปรับลดลงได้ ก็ช่วยให้ประชาชนเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพิ่มขึ้น หรือจะดำเนินการในรูปแบบอื่นก็ได้ เช่นการคิดสินเชื่อให้กับประชาชน ไม่ต้องคิดอัตราดอกเบี้ยแพง ๆ หรือจะมีผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ให้กับประชาชนที่เป็นลูกค้าธนาคาร”

อย่างไรก็ตาม การประชุมร่วมระหว่างผู้บริหารกระทรวงและผู้บริหารแบงก์รัฐที่ผ่านมา รมว.คลังได้มอบนดยบายให้หารือกับแบงก์รัฐ เพื่อติดตามผลการดำเนินงาน และหารือในหลักการทำงานในระยะต่อไปของแบงก์รัฐที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ตามพันธกิจของแต่ละธนาคาร รวมทั้งเติมเต็มช่องทางในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของประชาชนด้วย โดยไม่อยากให้คิดถึงแค่การทำกำไรแต่เพียงอย่างเดียว

นอกจากนี้ รมว.คลัง มีความเป็นห่วงเกี่ยวกับภัยแล้ง ปี 59 โดยสั่งการให้ธนาคารออมสินและ ธ.ก.ส.หามาตรการรองรับเพื่อช่วยเหลือประชาชนที่เป็นลูกค้าของทั้ง 2 ธนาคาร ให้สามารถประกอบอาชีพและดำรงชีวิตประจำวันได้ ซึ่งที่ผ่านมา ธ.ก.ส.ก็มีสินเชื่อให้กับเกษตรกรที่ต้องการเปลี่ยนอาชีพเพาะปลูกพืชชนิดอื่นแทนข้าวที่ได้รับจากปัญหาภัยแล้ง