ถอดรหัสรวย 2016 ฝ่าวิกฤติ “แก่-จน-เป็นหนี้”

ถอดรหัสรวย 2016 ฝ่าวิกฤติ “แก่-จน-เป็นหนี้”

จะเกิดอะไรขึ้นในปีวอก ลิงซนจะปั่นป่วนเงินในกระเป๋าคุณแค่ไหนหรือจะต้องจนมุมติดกับดัก “แก่ จน เป็นหนี้” ร่วมถอดรหัสรวยปี 2016 กับสูตรวางแผนรวย

จะเกิดอะไรขึ้นกับเศรษฐกิจไทยในปีวอก ?

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจไทยปี 2559 ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง แต่เป็นในลักษณะ “ดีขึ้นแบบระมัดระวัง” โดยคาดว่าอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) จะอยู่ที่ประมาณ 3% แรงขับเคลื่อนสำคัญ มาจากการใช้จ่ายของภาครัฐ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยว

อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของเศรษฐกิจอาจค่อนข้างจำกัด เนื่องจากยังมีหลายปัจจัยเสี่ยงที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด ไม่ว่าจะเป็นความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก และวิกฤติภัยแล้งในประเทศ

“ภัยแล้ง ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงให้ต้องติดตามในปีหน้า โดยภาคเกษตรจะเริ่มผลิตของยากขึ้น รายได้ใหม่ไม่เข้า นั่นอาจทำให้ “หนี้ครัวเรือนสูง” ขึ้นได้ และเมื่อภาคเกษตรผลิตสินค้าไม่ได้ ก็จะสะท้อนมาที่ราคาสินค้าในประเทศ โดยเราอาจเริ่มมีต้นทุนในการบริโภคที่สูงขึ้น หากภัยแล้งรุนแรง”

“วีระพล บดีรัฐ” รองผู้อำนวยการ ฝ่ายวางแผนและให้คำปรึกษาลูกค้าบุคคล ธนาคารกสิกรไทย ชี้สถานการณ์ในปีวอก ว่า เป็น “ปีแห่งค่าครองชีพสูง” ที่อาจกระทบเงินในกระเป๋าของผู้คน ถ้าต้นทุนราคาสินค้าสูงขึ้น ใครที่มีหนี้ อาจเป็นหนี้เพิ่มขึ้น ส่วนคนไม่มีหนี้ ก็ชะล่าใจไม่ได้ ในเมื่อยังต้องแบกรับรายจ่ายที่เท่าทวีตามราคาสินค้าไปด้วย

“เราอาจไม่ได้เป็นคนมีหนี้เยอะมาก แต่มีการใช้จ่ายปกติ ถ้ารู้ว่าสินค้าในปีหน้ามีโอกาสที่ราคาจะสูงขึ้นอีก นั่นหมายความว่า เราต้องสำรองเงินให้มากกว่าปกติ เพื่อที่เวลาราคาสินค้าแพงขึ้น จะได้ไม่กระทบคุณภาพชีวิตของเรามากนัก” เขาแนะเช่นนั้น

สำหรับทิศทางอัตราดอกเบี้ยในปีวอก มีแนวโน้มทรงตัวอยู่ที่ระดับ 1.5% ต่อเนื่องตลอดทั้งปี เป็นสัญญาณบอกว่า ผู้ที่กำลังตัดสินใจขอสินเชื่อเพื่อซื้อบ้านหรือใครกำลังจะรีไฟแนนซ์เงินกู้ อาจพิจารณาเลือกสินเชื่อที่กำหนด “อัตราดอกเบี้ยคงที่” เพื่อลดภาระดอกเบี้ยในอนาคต

ขณะการลงทุน อาจเลือกลงทุนใน “ตราสารหนี้ระยะสั้น” เพื่อลดความเสี่ยงจากการเสียโอกาสในการปรับขึ้นของดอกเบี้ย ส่วนการลงทุนระยะกลาง-ยาว แนวโน้มผลตอบแทน (Yield) ของตราสารหนี้ระยะกลางมีทิศทางปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลลบต่อกองทุนรวมตราสารหนี้ ดังนั้น แนะให้ปรับลดสัดส่วนการลงทุนในตราสารหนี้ที่มีอายุเกินกว่า 1 ปีขึ้นไป ลงในปีหน้า

วกกลับมาดู “ค่าเงินบาท” ทิศทางยังคงอ่อนค่า โดยคาดว่า ค่าเงินบาท มีแนวโน้มอ่อนค่าลงไปอยู่ที่ 38 บาท ต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ในสิ้นปี 2559 ส่งผลดีต่อภาคการส่งออกและการท่องเที่ยว 

ทว่าที่จะเจ็บหนัก ก็กลุ่มคนไทยที่ต้องไปใช้จ่ายเงินในต่างแดน เช่น นักเรียนนอก นักท่องเที่ยวโกอินเตอร์ ตลอดจนผู้นำเข้าสินค้าจากต่างประเทศมาทำตลาดในไทย ที่จำต้องแบกรับภาระ “ต้นทุน” ที่สูงขึ้นอย่างเลี่ยงไม่ได้

กลัวเจ็บไม่พอ ลองมาดูเทรนด์คนไทยปี 2559 ที่ “คนางค์ ดวงมณี” Head Research ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ให้คำจำกัดความสั้นๆ ว่า 

“แก่-จน-เป็นหนี้”

ความจริงที่หนีไม่พ้น คือการที่พลเมืองไทยเข้าสู่ภาวะที่ แก่ขึ้น จนลง และเป็นหนี้มากขึ้น

“ตอนนี้ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุไปเรียบร้อยแล้ว เมื่อ 10% ของประชากรไทย อายุเกิน 60 ปี และไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ (Aged Society) ภายใน 10 ปี ข้างหน้า” 

สถานการณ์ที่เกิดขึ้น เป็นผลจากคนไทยนิยมมีลูกน้อยลง คนส่วนหนึ่งมีลูกยากขึ้น คนแต่งงานน้อยลง มีแนวโน้มอยู่คนเดียวและพึ่งตนเองมากขึ้น ขณะ 1 ใน 3 ของผู้สูงวัย อยู่ต่ำกว่าเส้นความยากจน และต้องได้รับความช่วยเหลือ ไม่เท่านั้นยังมีแนวโน้มที่คนแก่ต้องทำงานเลี้ยงตัวเองมากขึ้นด้วย เพราะไม่ได้เตรียมความพร้อม ไม่ได้มีการสำรองเงินไว้ใช้ชีวิตหลังเกษียณ

ระหว่างทางของการที่ยังต้องทำงานเลี้ยงดูตัวเอง ซึ่งประสิทธิภาพการทำงานก็คงสู้วัยแรงงานที่ยังฟิตปั๋งไม่ได้ ทว่าผู้สูงวัยยังต้องเสี่ยงกับการเป็น “โรคร้าย” โดยพบว่า..

ผู้สูงวัย 53% เป็น 1 ใน 15 โรคฮิต อาทิ มะเร็ง ความดัน โรคหัวใจ ฯลฯ

ฉะนั้นเราจะไม่ได้แค่แก่ แต่ยังมีโรคเป็นของตัวเองอีกด้วย (ที่มา : มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทยและสำนักงานสถิติแห่งชาติ)

“สิ่งที่เราอยากเห็นคือ คนแก่ที่เตรียมตัว แม้หยุดทำงาน แต่ก็ยังมีรายได้เข้ามาอย่างต่อเนื่อง สามารถพึ่งพา Passive Income (เงินที่สร้างดอกผลให้เขาได้ใช้) ซึ่งคำว่า เตรียมตัวนี้ ไม่ใช่แค่ เก็บเงินไว้ใช้ แต่คือการเก็บเงินไว้ดูแลตัวเอง เพื่อให้เขายังมีคุณภาพชีวิตที่ดีเหมือนก่อนเกษียณ”

แล้วต้องมีเงินสักเท่าไร ถึงจะเพียงพอต่อชีวิตหลังเกษียณ พวกเขาบอกว่า ถ้าจะใช้ชีวิตไปจนอายุ 85 แบบแฮปปี้ ในวันที่อายุครบ 60 ปี เราต้องมีเงินอย่างน้อย “8 ล้านบาท” บวกกับโรคร้าย อีกโรคละ “1 ล้าน”

ง่ายๆ 8 ล้านเอาไว้ใช้ ส่วนอีก 1 ล้าน เอาไว้รักษาตัว

“คนทั่วไปจะอยู่กินปกติได้ต้องใช้เงินประมาณ 1.5 หมื่นบาทต่อเดือน ถ้าคุณอายุ 60 ปี อยู่ต่อไปอีก 20 ปี เราคำนวณให้แล้วว่า ต้องมีอย่างน้อย 8 ล้านบาท แล้วโดยสถิติ ผู้สูงอายุ จะมีโรคร้ายแรงอย่างน้อย 1 โรค ก็ตีไปโรคละ 1 ล้านบาท ก็ 9 ล้าน แต่ 9 ล้าน ในวันนี้ อาจหมายถึง 12 ล้าน หรือ 15 ล้าน ในตอนที่ท่านเกษียณก็ได้ ฉะนั้นต้องรีบจัดการเรื่องนี้เสียแต่วันนี้ โดยต้องเร่งสะสมเงิน และออมทันที”

เจอเทรนด์ “แก่” ว่าเจ็บแล้ว มาซ้ำเติมด้วยคำว่า “จน” ให้จุกอกหนักเข้าไปอีก

คำว่า จนที่จะเกิดขึ้นในปีลิงวอก เป็นผลมาจากการวิจัยที่พบว่า เกือบ 80% ของผู้จบการศึกษาใหม่ในแต่ละปีอยู่ในสาขาที่ “แรงงานล้นตลาด” พอแรงงานไม่ตรงกับความต้องการของตลาดงาน เด็กจบใหม่เลย หางานยากขึ้น ทำงานไม่ตรงกับสายที่เรียน และอาจต้องยอมแลกกับเงินเดือนที่น้อยลงไปด้วย 

นี่คือที่มาของคำว่า “จน” ที่พวกเขาได้กล่าวไว้

“พอเริ่มต้นที่เงินเดือนต่ำๆ มันก็เป็นที่มาของคำว่า จน เงินน้อย แล้วยังทำงานไม่ตรงสายอีก ทางแก้ที่ดีที่สุดคือต้องแนะนำให้ลูกหลานเรียนตรงสาขาที่ตลาดต้องการมากขึ้น อย่างพวก คอมพิวเตอร์ สถาปัตยกรรม วิศวกรรม ฯลฯ ที่ยังผลิตออกมาไม่เพียงพอ แต่บางสายอย่าง สังคมศาสตร์ บริหารธุรกิจ ฯลฯ พวกนี้ผลิตมาจนล้น”

แก่ จน ไม่พอ ต้อง “เป็นหนี้” ด้วย ถึงจะครบสูตร เทรนด์คนไทยในปีวอก โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยบอกว่า ในปีหน้ามีแนวโน้มที่ “หนี้ครัวเรือน” จะปรับตัวสูงขึ้น

“ตัวเลขหนี้ครัวเรือนของไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยอยู่ที่ประมาณ 80% ต้นๆ ของจีดีพี เรียกว่า อยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูง ซึ่งหนี้เยอะหมายความว่า กำลังซื้อในอนาคตจะจำกัดลง เนื่องจากคนจะเหลือเงินใช้จ่ายน้อยลง เพราะต้องเอาไปใช้หนี้”

ขณะคนกลุ่มใหญ่ที่แบกภาระหนี้อยู่เกินครึ่ง คือกลุ่มคนผู้มีรายได้น้อย ต่ำกว่า 8 พันบาทต่อเดือน โดยมีภาระหนี้อยู่ถึงประมาณ “50.9%”

“นั่นแปลว่า เงินรายได้ 8 พันบาท เขาต้องผ่อนหนี้เกิน 4 พันบาท เหลือใช้แค่เดือนละ 3 พันบาท หรือต่ำกว่านั้น ฉะนั้นไม่ต้องคิดถึงเรื่องการไปสร้างภาระหนี้ต่อ หรือการบริโภคเพิ่มขึ้นในแบบที่เราต้องการไปกระตุ้นให้เขาใช้ เพราะจะไม่เหลือใช้ และหนี้เยอะยังมีความเสี่ยงต่ออัตราดอกเบี้ยที่อาจจะเพิ่มขึ้นอีก เนื่องจากเขาอาจจ่ายหนี้ไม่ได้ เพราะเงินไม่พอ”

รู้อย่างนี้แล้ว จะรับมืออย่างไรดี ถ้ายังอยากจะ “อยู่ดีกินดี” ในปีวอก “ศาสตรา มังกรอัศวกุล” ผู้อำนวยการฝ่าย ผู้บริหารฝ่ายวางแผนและให้คำปรึกษาลูกค้าบุคคล สายงานธุรกิจลูกค้าบุคคล และเครือข่ายบริการ ธนาคารกสิกรไทย บอกว่า เมื่อรู้แล้วว่า ปีหน้าค่าครองชีพอาจสูงขึ้น ราคาสินค้าอาจแพงขึ้นจากผลพวงภัยแล้งในประเทศ สิ่งที่ต้องทำคือ “ออมเงินให้มากขึ้น” โดยอย่างน้อยแบ่ง 10-20% ของรายได้แต่ละเดือนไปเก็บออม ขณะที่ควรมีการกันเงินสำรองเผื่อเหตุฉุกเฉินไว้ที่ “6-8 เท่า” ของค่าใช้จ่ายประจำต่อเดือน

“ทุกวันนี้คนก็ยังออมกันไม่ค่อยถึง แต่จากข้อมูลที่บอกไปแล้วว่า ปีหน้าจะมีภัยแล้ง สินค้าอุปโภคบริโภคอาจจะแพงขึ้น ดังนั้นถ้าของแพงขึ้น ก็ต้องมีเงินสำรองเพิ่มขึ้นด้วย ยกเว้นเราจะยอมคุณภาพชีวิตแย่ลง อย่างกินข้าวนอกบ้านน้อยลง ทำกับข้าวทานเองมากขึ้น แบบนั้นก็พอช่วยได้"

ส่วนเงินสำรองเผื่อฉุกเฉินที่เขาว่า เก็บไว้สัก 6-8 เท่า ของค่าใช้จ่ายแต่ละเดือน เพื่อที่หากเกิดการตกงาน หรือมีสถานการณ์ฉุกเฉินกับชีวิต ที่อาจทำให้ไม่มีรายได้เข้ามาเลย ภายใต้ 6 เดือนนั้น คุณจะยังมีเงินเลี้ยงชีพ

ในการออมเงินคนไทยส่วนใหญ่เกิน 50% ชอบเอาเงินฝากไว้กับธนาคาร แต่เขาย้ำว่า เงินฝากไม่เคยชนะเงินเฟ้อ ดังนั้นเราควรนำเงินไปอยู่ในที่ที่สามารถสร้างผลตอบแทนให้กับเงินได้ โดยอย่างน้อยต้องไปวางในที่ให้ผลตอบแทนเกิน 3%  นั่นแปลว่า ต้องมีสัดส่วนของการลงทุน “ในหุ้น” เพิ่มขึ้น

“สำหรับการลงทุนผมว่า ควรเอาไปลงในกองทุนที่มีส่วนผสมของหุ้น อย่างน้อย 15% ขึ้นไป หรือว่าใครรับความเสี่ยงได้เยอะกว่านี้ ก็อาจเป็นหุ้น 30% คราวนี้ถ้ายังรู้สึกว่าผลตอบแทนไม่พอ ตลาดในประเทศยังไม่น่าสนใจ ก็ให้ลองแบ่งเงินบางส่วน อาจจะ 5-10% ไปลงทุนต่างประเทศ โดยเฉพาะตลาดสหรัฐฯ หรือญี่ปุ่น ซึ่งมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่องจะได้ไม่เสียโอกาสในการลงทุน”

สำหรับการลงทุนในภาคอสังหาริมทรัพย์ มีโอกาสที่ต้นทุนจะสูงขึ้นจากเรื่อง “ภาษีที่ดิน” ฉะนั้นอาจต้องใช้ความระมัดระวังมากขึ้น ในกรณีที่ซื้ออสังหาฯ เพื่อเก็งกำไร ซื้อเพื่อการปล่อยเช่า แต่ไม่สามารถทำประโยชน์ได้เต็มที่ อาจต้องรับภาระภาษี ซึ่งจะกลายเป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้นได้

ส่วนใครวางแผนจะเป็นหนี้ ต้องการกู้ หรือขอสินเชื่อ พวกเขาว่า จากทิศทางดอกเบี้ยในปีหน้า แนะนำให้เลือกสินเชื่อที่มีการกำหนดอัตราดอกเบี้ยแบบคงที่

ส่วนคนที่หวั่น แก่ จน เป็นหนี้ ก็ให้เริ่ม “วางแผนเกษียณ” เสียแต่เนิ่นๆ โดยจัดสัดส่วนการลงทุนให้เหมาะสม ด้วยเครื่องมือทางการเงินประเภทต่างๆ ทั้ง การออม ลงทุน และประกันชีวิต

“การประกัน อาจไม่ได้ตอบโจทย์เรื่องของการลงทุน แต่การทำประกัน คือการป้องกันความเสี่ยง สำหรับคนที่มีครอบครัวควรทำอยู่แล้ว เพราะว่าเดี๋ยวนี้โรคร้ายต่างๆ มีมากขึ้น อีกส่วนคือการประกันเพื่อเตรียมตัวสำหรับเกษียณ อย่างพวกประกันออมทรัพย์ระยะยาว ที่จะช่วยล็อกเงินให้เราได้ แล้วถ้าเกิดเป็นอะไรไประหว่างทาง ก็ยังมีเงินก้อนหนึ่งให้กับครอบครัวด้วย”

เหล่าไอเดียจัดสรรเงินในกระเป๋า เพื่อให้เราพ้นวิกฤติ “แก่ จน เป็นหนี้” ในปีวอก

...............................

สูตรวางแผนเงิน 

มนุษย์เงินเดือน-ฟรีแลนซ์ - ผู้ประกอบการ

สูตรบริหารการเงินไม่ได้มีส่วนผสมเดียวกันสำหรับคนทุกกลุ่ม และไม่มีทฤษฎีตายตัว ชนิดที่จะยกไปใช้กับใครก็ได้ เมื่อต่างคน ต่างสถานะ ต่างอาชีพ ต่างความฝันและเป้าหมายในชีวิต แม้แต่มนุษย์เงินเดือน พลเมืองฟรีแลนซ์ หรือเจ้าของกิจการ ก็มีแนวทางบริหารการเงินที่แตกต่างกันไปด้วย

“มนุษย์เงินเดือน”

“ศาสตรา มังกรอัศวกุล” ผู้อำนวยการฝ่าย ผู้บริหารฝ่ายวางแผนและให้คำปรึกษาลูกค้าบุคคล สายงานธุรกิจลูกค้าบุคคลและเครือข่ายบริการ ธนาคารกสิกรไทย บอกว่า มนุษย์เงินเดือนจะมีความกังวลในเหตุการณ์ฉุกเฉินน้อยกว่ากลุ่มอื่น เพราะมีรายได้คงที่ แต่เงินเก็บน้อย เงินเดือนตายตัว ขณะที่ค่าใช้จ่ายสูงลิ่ว

“ด้วยเงินที่เหลือน้อย แต่เขายังต้องตอบโจทย์ชีวิต ไม่ว่าจะอยากมีบ้าน มีรถ ฯลฯ สิ่งที่อยากย้ำ คือ ปีหน้าดูแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยน่าจะเพิ่มขึ้นในตอนปลายปี ถ้าคนที่อยากซื้อบ้านก็น่าจะซื้อในอัตราดอกเบี้ยแบบคงที่ และพยายามทำตัวให้ปลอดจากหนี้ที่เรียกว่า หนี้ไม่มีหลักประกัน เช่น พวกหนี้บัตรเครดิต หนี้บัตรกดเงินสด มนุษย์เงินเดือนควรหลีกเลี่ยงอย่างมาก เพราะปีหน้าของทุกอย่างจะแพงขึ้น และการลงทุนก็อาจผันผวน”

ฉะนั้นมนุษย์เงินเดือน ที่อยากอยู่สบายในปีวอก เขาว่า อย่าปล่อยให้มีหนี้ที่ไม่มีหลักประกัน สอง หาที่เก็บเงินออมที่สร้างผลตอบแทนให้สูงขึ้น และสาม หาวิธีประหยัดภาษีที่เหมาะสม

“ฟรีแลนซ์”

สำหรับคนที่ทำงานไม่ประจำ อย่าง “ฟรีแลนซ์” กลุ่มนี้หารายได้ได้เยอะ ไม่มีเพดานเหมือนมนุษย์เงินเดือน แต่มีความไม่แน่นอนสูง เพราะบางช่วงอาจไม่มีงาน ดังนั้นประเด็นของกลุ่มฟรีแลนซ์ คือต้องมีเงินออมที่เยอะกว่ามนุษย์เงินเดือน โดยสูตรเงินสำรองเผื่อฉุกเฉินที่บอกว่า อย่างน้อยควรมี 6 เท่าของค่าใช้จ่ายแต่ละเดือนนั้น สำหรับกลุ่มฟรีแลนซ์เขาว่า เอาไปเลย 12 เดือน ! เรียกว่า เพื่อให้มีชีวิตอยู่รอดได้เป็นปีๆ เวลาที่เกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน

ประเด็นต่อมา ฟรีแลนซ์ ไม่มีสวัสดิการ ต่างกับมนุษย์เงินเดือน ที่ยังมีพวกประกันสังคม สวัสดิการพนักงาน มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เป็นผู้ช่วยเก็บเงินให้ ดังนั้นกลุ่มฟรีแลนซ์ ต้องมีวินัยทางการเงิน และมีแผนการเงินที่ดีมากๆ

“เขาต้องคำนวณเลยว่า จะทำงานไปจนอายุเท่าไร ต้องวางแผนเกษียณอย่างไร ด้วยกระแสเงินสดของเขาที่ไม่สม่ำเสมอ ทำให้เขาวางแผนการเงินได้ไม่ถูกต้องนัก แล้วยังไม่มีสวัสดิการอีกด้วย อย่างค่ารักษาพยาบาล พวกนี้ก็ต้องรับเองหมด ดังนั้นเขาต้องวางแผนเรื่องเหล่านี้ให้ดี”

ในส่วนการลงทุน เขาว่า ต้องมีวินัยที่ชัดเจน ต้องมีการวางแผนออมเงินล่วงหน้า เพราะไม่ได้มีรายได้สม่ำเสมอ ขณะที่การทำประกันจำเป็นสำหรับ กลุ่มฟรีแลนซ์ เพราะถ้าเกิดเป็นอะไรขึ้นมา ไม่มีเงินก้อนไหนมาชดเชยได้เลย ฉะนั้นครอบครัวเขาจะอยู่ลำบาก ซึ่งประกันช่วยได้

“ผู้ประกอบการ”

แบ่งเป็นสองกลุ่ม คือกลุ่ม Startup ที่เพิ่งก่อตั้งธุรกิจ กับกลุ่มเอสเอ็มอีที่เริ่มตั้งตัวได้

สำหรับ Startup  ซึ่งเติบโตตามเทรนด์ของเด็กยุคใหม่ ที่ไม่อยากเป็นพนักงานประจำ แต่อยากออกมาทำธุรกิจของตัวเองมากขึ้น ศาสตราบอกว่า ต้องพยายามหา “ไอเดียธุรกิจ” ที่ไม่ต้องใช้การลงทุนที่สูงนัก ดังนั้นการเริ่มต้นที่ดีที่สุดคือการใช้ช่องทางออนไลน์ช่วยทำธุรกิจ เพราะสามารถเริ่มได้ฟรี แต่สิ่งที่ต้องคิดให้ดีคือ โพรดักส์อะไรที่จะโดนใจลูกค้า

“เริ่มต้นเขาไม่ควรกู้ยืมเงินมาลงทุน เพราะการมีหนี้ตั้งแต่เริ่มธุรกิจ ไม่ถูก แต่เขาควรจะเริ่มจากเล็กๆ ผ่านช่องทางออนไลน์ ถ้าเริ่มมีวอลุ่มการขายที่สูงขึ้น แล้วอยากขยายจริงๆ ก็ค่อยคิดเรื่องเงินกู้”

เริ่มต้นทำธุรกิจใหม่ คนที่ผิดพลาดส่วนใหญ่ คือเอาเงินส่วนตัวและเงินธุรกิจมาปนกัน เรียกว่า เข้ากระเป๋าซ้าย ย้ายไปกระเป๋าขวา ขายของได้ ก็เอามาซื้อรถส่วนตัว ประมาณนี้ ซึ่งเขาว่า 

นี่เป็นเหตุผลที่ธุรกิจส่วนใหญ่ “เจ๊ง!”

“คุณควรแยกกระเป๋าให้ชัดเจน พูดง่ายๆ มีระบบบัญชีธุรกิจ เงินส่วนตัวก็เงินส่วนตัว ส่วนจะให้ค่าจ้างตัวเองเท่าไรก็คิดเป็นค่าจ้างไป เพราะเงินของธุรกิจต้องเอาไว้สำหรับรักษาสภาพคล่อง และการขยายธุรกิจ ไม่ใช่ใช้ส่วนตัว”

ข้ามมาที่กลุ่ม “เอสเอ็มอี” ที่เริ่มเอาตัวรอดได้ เขาว่า หลักๆ มีสองเรื่องให้ห่วง คือ “สภาพคล่อง” ที่ต้องมีเงินหมุนเวียนเพียงพอ เพื่อที่ถ้าเกิดโอกาสทางธุรกิจอะไรขึ้นมา แล้วต้องการเงินสภาพคล่องมาหมุน หรือยามที่เศรษฐกิจผันผวน ก็ต้องมีเงินสำรองเผื่อไว้ใช้จ่าย ดังนั้นสภาพคล่องของเงิน หรือกระแสเงินสดเป็นสิ่งที่เอสเอ็มอีต้องดูแลให้ดี

สอง ต้องคอยมอนิเตอร์ดัชนีการทำกําไรของธุรกิจ (Monitor Profitability Index) เนื่องจากธุรกิจส่วนใหญ่มักทำไปแบบมีเงินใช้เดือนชนเดือน หมุนเงินไปเรื่อยๆ แต่ไม่เคยมาดูเลยว่า รายได้ต่อต้นทุนเป็นเท่าไร แบบนั้นธุรกิจก็อยู่รอด และยั่งยืนไม่ได้

สูตรจัดสรรเงินของคน 3 กลุ่ม ที่จะทำนายอนาคตได้ว่า ปีวอก จะรอดหรือร่วง

...................................................

สูตรใครสูตรมัน จัดสรรเงินให้เป็นสุข

“สุวรรณ ตรงจิตวิกรัย” หนุ่มวัย 50 ปี ที่สามารถเกษียณตัวเองจากงานประจำตั้งแต่ยังไม่ถึง 60 ปี และทุกวันนี้มี Passive Income คือรายได้ที่เกิดจากการนำเงินไปลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ จนเกิดดอกผล และใช้หล่อเลี้ยงชีวิตได้สบายแม้ไม่ทำงาน

“ผมเออร์ลีรีไทร์ตอนอายุ 50 ปี ก็ไม่ได้ตั้งใจ แต่วางแผนการเงินมาตลอด ผมตั้งใจสร้างสิ่งที่เป็น Passive Income ตั้งแต่แรก โดยก่อนหน้านี้ ผมเป็นผู้บริหาร รายได้ค่อนข้างดี ทำงานมา 20 ปี และวินัยในการออมที่เริ่มต้นเร็วกว่าคนอื่น เลยสามารถสร้าง Passive Income ให้มีเงินใช้ได้ตลอด”

สุวรรณ เริ่มออมเงินตั้งแต่ยังเรียน เขาบอกว่า ครอบครัวปลูกฝังให้ประหยัด อดออม ตั้งแต่เด็ก บวกประสบการณ์ตอนไปเรียนต่างประเทศ ต้องทำงานช่วยเหลือตัวเอง จึงเริ่มตระหนักถึงการเลือกใช้จ่ายเฉพาะที่จำเป็น(Need) ส่วนมีเงินเหลือเท่าไร ก็ออมเท่านั้น

ช่วงแรกของชีวิตเน้นเงินฝากประจำเป็นหลัก เรียกว่า สะสมเงินไว้นิ่งๆ จนตอนหลังเริ่มมาสนใจเรื่องการบริหารการเงินมากขึ้น เลยเริ่มที่ซื้อพันธบัตรรัฐบาล หุ้นกู้ และผลิตภัณฑ์ทางการเงินอื่นๆ จน 3 ปีก่อน ก็เริ่มมาสนใจศึกษาเรื่องหุ้นมากขึ้น รวมถึงนำเงินมาลงทุนกับอสังหาฯ เพื่อเก็บค่าเช่า

“วินัยทางการเงินสำคัญมาก ถ้าเราอยากเออร์ลีรีไทร์ให้เร็ว คุณต้องมีรายได้มากพอที่จะรีไทร์ตัวเอง ผมมองว่า แต่ละคนต้องฝึกให้มีความรับผิดชอบตั้งแต่เด็ก ไม่ว่าจะชีวิต การเรียน การใช้จ่าย เพราะเงินเป็นสิ่งที่อยู่กับเราตลอดชีวิต ถึงจุดหนึ่งถ้าใครเริ่มก่อน สามารถบริหารการเงินให้เป็นไปตามแผนได้ ก็ไม่ต้องกังวลอะไร สุดท้ายเราบรรลุอิสรภาพทางการเงินอย่างแท้จริง”

“ทัสธนนท์ โอฬารวัชระสิริ”  หนุ่มวัย 32 ปี ทายาทธุรกิจกงสี ที่เคยใช้ชีวิตสะดวกสบายตามประสาลูกเถ้าแก่ จนวันที่ถูกส่งตัวไปเรียนเมืองนอก ต้องทำทุกอย่างด้วยตัวเอง เขาเลยเปลี่ยนพฤติกรรม จากที่ซื้อทุกอย่าง เป็นควักเงินซื้อเฉพาะสิ่งจำเป็น(Need) เท่านั้น อย่าง โทรศัพท์มือถือ ถ้ายังไม่พังคามือ อย่าคิดว่าจะได้เงินจากเขา

เป็นลูกเถ้าแก่ มีกิจการครอบครัวให้ดูแล แต่คนหนุ่มยังหาทางสร้าง Passive Income ให้ตัวเอง ด้วยการใช้เวลาว่างไปทำอาชีพเสริม จนมีรายได้เพิ่มมาอีกหลายหมื่นบาทต่อเดือน พอมีเงินเหลือก็นำไปลงทุน โดยได้คนรักที่จบมาทางด้านการเงิน ช่วยบริหารการลงทุนให้อีกที

“ผมคิดว่า ตอนนี้ผมอายุประมาณนี้ ในวันที่เกษียณคือช่วง 30 ปี นับจากนี้ ถึงตอนนั้น แม้ไม่เอากิจการของที่บ้าน ไม่เอาอย่างอื่นเลย เฉพาะเงินตรงนี้ ผมเชื่อว่าน่าจะทำให้ผมใช้ชีวิตอยู่ได้สบายแล้ว”

มองสถานการณ์ที่เกิดกับธุรกิจ และเทรนด์ที่ต้องรับมือในปีหน้า เขาว่า ธุรกิจคงต้องระมัดระวังเรื่องการลงทุนมากขึ้น โดยคงไม่ลงทุนหรือขยายอะไรเพิ่มในปีหน้า แต่จะดูแลลูกค้าเก่าให้ดี ส่วนอสังหาฯ ของครอบครัว ที่ซื้อเก็บไว้เพื่อลงทุน ก็จะพยายามเติมคนเช่าให้เต็ม เพื่อรับมือกับเรื่องต้นทุนอสังหาฯ ต่างๆ ที่อาจเพิ่มขึ้นในปีหน้า

ทัสธนนท์ เป็นตัวแทนของคนรุ่นใหม่ ที่สนใจเรื่องการเก็บออม เขาบอกว่า ทุกคนมีจังหวะชีวิต และไม่ได้มีแต่ช่วงเวลาดีๆ ตลอดไป ดังนั้นการป้องกันความเสี่ยง ด้วยการสร้างหลักประกันทางการเงินให้กับตัวเองจึงเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง

“เพื่อนผมบางคนจบมา อยากเปิดร้านสปา ร้านอาหาร ก็ง่ายมาก ไปขอเงินพ่อแม่มาทำเลย เพราะคิดว่ามีคนซัพพอร์ตอยู่ตลอด แต่ผมเคยผ่านช่วงที่กิจการของครอบครัวมีปัญหามาแล้ว ผมเลยต้องคิดเยอะขึ้น และพึ่งคนอื่นให้น้อยลง เพราะวันหนึ่งถ้าไม่มีใครอยู่ให้พึ่งแล้ว เราจะได้ไม่ลำบาก ผมถึงใช้จ่ายค่อนข้างระมัดระวัง และให้ความสำคัญกับเรื่องเงิน”

“ฤทัย อุดมแก้วกาญจนา” แม่ค้าขนมระดับอดีตเชฟโรงแรม 5 ดาว วัย 40 ปี ที่ฝันอยากมีกิจการของตัวเอง เธอก็ต้องวางแผนทางการเงิน เพื่อที่จะทำความฝันของตัวเองให้บรรลุ จนมีธุรกิจได้ตามฝัน เมื่อ 3 ปีก่อน ทำลูกชุบ และเบเกอรี่ ส่งร้านกาแฟกว่า 40 เจ้า และโรงแรม 5 ดาว โดยมี โรงแรมเพนนินซูล่า เป็นลูกค้ารายแรก

ธุรกิจเธอลงทุนด้วยเงินส่วนตัว ไม่กู้แบงก์

“เนื่องจากคุณพ่อเคยทำโรงงานทอผ้ามาก่อน แล้วธุรกิจล้มละลายเพราะท่านเอาเงินไปเล่นที่ แล้วดอกเบี้ยแบงก์สูงมาก จากนั้นเลยมีนโยบายส่วนตัวว่า ไม่จำเป็นจะไม่กู้ แต่จะทำให้ธุรกิจค่อยๆ โตไป ถ้าจำเป็นต้องกู้ ก็จะกู้ญาติ เพราะไม่เสียดอก ด้วยความเป็นคนที่ทำงานมาตลอด และทำอะไรทำจริง เวลาไปเอ่ยปากขอผู้ใหญ่ เขาก็ให้”

แนวทางการบริหารการเงิน แบบคนทำธุรกิจ เธอว่า ในการออมเงินต่างๆ จะไม่เลือกออมระยะยาวโดยไม่จำเป็น แต่จะเลือกลงทุนระยะสั้น เพราะจำเป็นต้องใช้เงินมาทำธุรกิจ ขณะปีวอก คนอื่นเตือนให้ระวัง และหลายธุรกิจก็เลือกไม่ขยาย แต่กับเธอเป็นปีที่ต้องลงทุน เพื่อขยายตลาดให้มากขึ้น

“ถ้าเราจะโต ก็ต้องขยาย ต้องลงทุน ต้องจ้างคนเพิ่มขึ้น ความเสี่ยงสูงก็จริง แต่ก็ต้องยอมรับว่า ถ้าจะทำธุรกิจก็ต้องกล้าเสี่ยงพอสมควร”

เธอว่า ทุกคนควรมีเป้าหมายของชีวิต ไม่ว่าจะ ระยะสั้น ระยะกลาง หรือ ระยะยาว เพื่อที่จะได้วางแผนให้ถูกและไปสู่เป้าหมายให้ได้ตามแผน ส่วนใครที่คิดว่า อยากสบายตอนแก่ ในตอนที่ยังเด็กก็ต้องเก็บเงินและทำงานหนัก

จะได้มีชีวิตที่สุขสบายในบั้นปลายได้