รฟม.เร่งทำความเข้าใจ ผู้ได้รับผลกระทบรถไฟฟ้าสีส้ม

รฟม.เร่งทำความเข้าใจ ผู้ได้รับผลกระทบรถไฟฟ้าสีส้ม

การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย เดินหน้าสร้างความเข้าใจผู้ได้รับผลกระทบรถไฟฟ้าสีส้ม

ตามที่คณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) มีมติเห็นชอบให้คงแนวเส้นทางเดิมของโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงตลิ่งชัน – ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ตามแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และต่อมาคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติในหลักการให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ตะวันออก) ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) แล้วนั้น ส่งผลให้มีประชาชนที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบเข้าร้องเรียนถึงแนวเส้นทางรถไฟฟ้าในช่วงบริเวณสถานีประชาสงเคราะห์ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ

ทั้งนี้ รฟม.ได้ดำเนินโครงการตามแผนประชาสัมพันธ์ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจประชาชนตลอด โดยในส่วนของผู้ได้รับผลกระทบบริเวณสถานีประชาสงเคราะห์ได้นำทีมกลุ่มที่ปรึกษาโครงการ เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายกรรมสิทธิ์ที่ดิน เจ้าหน้าที่ฝ่ายพัฒนาโครงการรถไฟฟ้า และเจ้าหน้าที่ฝ่ายวิศวกรรมและสถาปัตยกรรม ลงพื้นที่ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและตอบข้อซักถามแก่ประชาชนเมื่อวันที่ 28พฤศจิกายน 2558 อย่างไรก็ตาม รฟม.ได้ตระหนักถึงผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากโครงการฯ จึงกำหนดจัดประชุมกลุ่มย่อยสำหรับผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากโครงการฯ โดยเฉพาะในช่วงดินแดง–ประชาสงเคราะห์–ศูนย์วัฒนธรรมฯ

จากการสำรวจมี 184 ราย ประกอบด้วย ชุมชนชานเมือง ชุมชนประชาสงเคราะห์ และชุมชนแม่เนี้ยว โดย รฟม.ได้ส่งหนังสือเชิญเพื่อให้ผู้ได้รับผลกระทบเข้าร่วมประชุม เพื่อชี้แจงเหตุผลความจำเป็นในการกำหนดเส้นทางและสถานี ข้อมูลผลกระทบการเวนคืน แนวทางการเยียวยาที่เหมาะสม ขั้นตอนและหลักเกณฑ์ในการจ่ายค่าทดแทน แผนและขั้นตอนการดำเนินงานโครงการ และข้อมูลอื่นที่เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ 26 – 29 มกราคม 2559 แบ่งการประชุมออกเป็นกลุ่มย่อย 8 กลุ่ม เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมประชุมแต่ละชุมชนได้แสดงความคิดเห็นหรือซักถามข้อมูลในส่วนที่ตนเองได้รับผลกระทบได้โดยตรงจากเจ้าหน้าที่อย่างชัดเจนและถูกต้อง ซึ่งการประชุมกลุ่มย่อยจะเป็นการช่วยสร้างความเข้าใจประชาชนผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง

สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงตลิ่งชัน – มีนบุรี ระยะทางทั้งสิ้นประมาณ 38.8 กม. แบ่งเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงตลิ่งชัน – ศูนย์วัฒนธรรมฯ (ส่วนตะวันตก) ระยะทางประมาณ 17.6 กม. เป็นโครงสร้างทางวิ่งใต้ดินทั้งหมด ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษาออกแบบและช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) (ส่วนตะวันออก) มีระยะทางประมาณ 21.2 กม. เป็นโครงสร้างทางวิ่งใต้ดิน 12.2 กม. และทางวิ่งยกระดับ 9 กม. มี 17 สถานี ปัจจุบันอยู่ระหว่างการนำเสนอ ครม.เพื่อขออนุมัติดำเนินงานโครงการ