'รพ.เดชา' ดีลทองเตะตา LPH

'รพ.เดชา' ดีลทองเตะตา LPH

'โรงพยาบาลลาดพร้าว' เฉลยแผนขยับตัวครั้งใหญ่ เล็งเทคโอเวอร์ 'โรงพยาบาลเดชา' วางงบลงทุนไม่เกิน 700 ล้านบาท

'โรงพยาบาลลาดพร้าว' ของ 'ดร.อังกูร ฉันทนาวานิช' ถือเป็นหนึ่งในธุรกิจการแพทย์ที่สนใจเทคโอเวอร์ 'โรงพยาบาลเดชา' หลัง 'นพ.เดชา สุขารมณ์' ในฐานะผู้ก่อตั้ง ประกาศหาผู้เช่า หรือผู้ประกอบการรายใหม่มาสานต่อกิจการ ด้วยการตั้งราคาขายไม่ต่ำกว่า 500 ล้านบาท

เบื้องหลังของการหาผู้ลงทุนใหม่ เกิดจากบริษัท ศรีอยุธยา จำกัด ของ 'วีรนาถ วีระไวระไวทยะ' ในฐานะผู้เช่าและบริหารงานของโรงพยาบาลเดชาที่ดำเนินงานมากว่า 10 ปีก่อน ประสบปัญหาขาดสภาพคล่องทางการเงิน ส่งผลให้ค้างค่าเช่าพื้นที่ บริษัท สุขารมณ์ จำกัด ไม่ต่ำกว่า 20 ล้านบาท เป็นเหตุให้กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) มีคำสั่งปิดโรงพยาบาลเดชาเมื่อต้นเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา

ทว่าไม่ได้มีเพียงโรงพยาบาลลาดพร้าวเท่านั้นที่สนใจดีลนี้ แต่ยังมีคู่แข่งสำคัญอย่าง 'โรงพยาบาลรามา' ที่ต้องการนำไปพัฒนาเป็นศูนย์การแพทย์เฉพาะทาง และ 'โรงพยาบาลบางมด' ที่มีแผนจะพัฒนาเป็นโรงพยาบาลผิวหนังและความงามในเมือง 

'จุดเด่นสำคัญ' ที่ทำให้ดีลนี้กลายเป็นที่หมายตาของวงการแพทย์ แน่นอนว่า คงหนีไม่พ้นการที่โรงพยาบาลเดชา ในฐานะเจ้าของเตียงผู้ป่วย 100 เตียง มีโควต้าประกันสังคม 50,000 คน และยังมีฐานลูกค้าต่างชาติระดับกลางจำนวนมาก

ที่สำคัญที่ตั้งของโรงพยาบาลเดชา ถือว่าเป็น 'ทำเลทอง' ด้านหลังโรงพยาบาลติดสถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิ้ง ด้านหน้าอยู่ตรงข้ามกับโรงแรมสยามซิตี้

'ดร.อังกูร ฉันทนาวานิช' ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.โรงพยาบาลลาดพร้าว หรือ LPH ยอมรับกับ 'กรุงเทพธุรกิจ BizWeek' ว่า โรงพยาบาลเดชา ถือเป็นดีลที่น่าสนใจ ที่ผ่านมามีโอกาสพูดคัยกับลูกสาวของหมอเดชา หากไม่มีอะไรผิดพลาดภายใน 2 สัปดาห์อาจสามารถเข้าไปประเมินราคาทรัพย์สิน และถ้าผลประเมินออกมาคุ้มค่าบริษัทจะเสนอซื้อกิจการในราคาที่ดีที่สุด และจะพยายามปิดดีลนี้ให้ได้ภายใน 2-3 เดือนข้างหน้า

เมื่อถามถึงความสวยของดีลนี้ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ย้ำว่า โรงพยาบาลเดชามีโครงสร้างรายได้หลักมาจาก 'กลุ่มประกันสังคม' 50,000 คน ซึ่งเป็นโมเดลเดียวกับโรงพยาบาลลาดพร้าว ที่สำคัญยังมีกลุ่มเป้าหมายหลักเป็น 'กลุ่มวัยทำงาน' และ 'กลุ่มผู้ประกันตนเอง 2 สิทธิ' (ประกันสังคม+ประกันชีวิต)

'โรงพยาบาลแห่งนี้ไม่เพียงแต่จะสร้างรายได้จากคนไข้สองสามกลุ่ม แต่ยังมีรายได้จากลูกค้าต่างชาติที่ชำระเงินเองด้วย ถือเป็นฐานที่ใหญ่พอสมควร' 

หากบริษัทได้ดีลนี้มาครอบครองอาจต้องใช้เงินลงทุนเฉลี่ย 500-700 ล้านบาท ซึ่งเราเตรียมความพร้อมเรื่องนี้ไว้เรียบร้อยแล้ว ปัจจุบันได้กันเงิน 200 ล้านบาท และกระแสเงินสด 100 ล้านบาท ไว้เพื่อลงทุนดีลนี้

ที่สำคัญวางแผนไว้ว่า หลังเข้าซื้อกิจการจะแบ่งขายหุ้นโรงพยาบาลเดชาให้แพทย์ท่านอื่นๆ ในสัดส่วน 50% โดยเฉพาะแพทย์กลุ่มตรวจสุขภาพ,กลุ่มทันตกรรม และกลุ่มผิวหนังความงาม คาดว่าจะได้เงินกลับมาประมาณ 300 ล้านบาท

สาเหตุที่ต้องระดมทุนเงินจากบรรดาหมอ เพราะธุรกิจโรงพยาบาลอยู่ได้ด้วยบุคลากรเหล่านี้ นอกจากนั้นอาจเสนอขายหุ้นกู้ ,หุ้นเพิ่มทุนแบบเฉพาะเจาะจง (PP) หรือกู้เงินระยะสั้น แต่คงเลือกช่องทางที่ดีที่สุด และไม่เป็นภาระกับบริษัทและผู้ถือหุ้น

'แม้จะสนใจซื้อกิจการโรงพยาบาลเดชา แต่ไม่ได้อยากได้มากขนาดที่ว่า ถ้าได้มาแล้วกิจการต้องขาดทุน เพราะเป้าหมายของการซื้อกิจการ คือ ต้องมีกำไรทันทีภายใน 1 ปี'

แผนงานเทคโอเวอร์ยังไม่ได้ข้อสรุป และเป็นเพียงการคาดการณ์เท่านั้น เขาย้ำ

'ดร.อังกูร' เล่าต่อว่า ตามแผนต้องการขยายโควต้าประกันสังคมของโรงพยาบาลเดชาเป็น 'แสนคน' โดยคนไข้สามารถใช้สิทธิรักษาได้ทั้งโรงพยาบาลเดชา และโรงพยาบาลลาดพร้าว ถือเป็นการเพิ่มทางเลือกที่หลากหลายให้กับผู้ใช้บริการ

นอกจากนั้นอาจมีการเปิด 'ศูนย์เป็นเลิศทางการแพทย์' ไม่ว่าจะเป็น ศูนย์ตรวจสุขภาพ ,ศูนย์ทันตกรรม และศูนย์ผิวหนังความงาม ซึ่งการมีฐานลูกค้าต่างชาติจำนวนมากจะทำให้ศูนย์ดังกล่าวมีการเข้าใช้บริการตามแผนงาน

'การเข้าบริหารโรงพยาบาลสักแห่งไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะในแง่ของการสรรหาบุคลากรฝีมือดีเข้าไปทำงาน แต่สำหรับเราเรื่องนี้ได้เตรียมการไว้หมดแล้ว อนาคตเราจะเป็นโรงแพทย์จิ๋วแต่แจ๋ว' 

๐ รุกเปิดศูนย์แพทย์เฉพาะทาง

ดอกเตอร์ ยอมรับว่า หากไม่สามารถจบดีลซื้อโรงพยาบาลเดชาได้ บริษัทยังมีสตอรี่อื่นๆ ที่จะทำให้ผลประกอบการขยายตัวจากกิจการเดิม นั่นคือ ภายใน 5 ปีข้างหน้า (2558-2562) ยีงคงเดินหน้าพัฒนา 'ศูนย์การแพทย์เฉพาะทาง' เพื่อก้าวสู่ความเป็นเลิศทางการแพทย์ (Excellent Center)

ที่ผ่านมาได้พัฒนาไปแล้ว '5 ศูนย์ทางการแพทย์' ไล่มาตั้งแต่ ศูนย์ระบบทางเดินอาหารและตับ,ศูนย์ตา ศูนย์ศัลยกรรมกระดูกและข้อ ,ศูนย์สมองและระบบประสาท และศูนย์ผิวหนังและความงาม สอดคล้องกับการที่ประเทศในอาเซียนกำลังก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุ หรือ Aged Society

หากไม่มีอะไรผิดพลาดศูนย์ทางการแพทย์ทั้ง 5 แห่ง จะเสร็จสมบูรณ์ปลายปี 2559 ปัจจุบันอยู่ระหว่างการดำเนินงาน 4 ขั้นตอน คือ 1.ปรับปรุงพื้นที่ ขยายพื้นทีห้องตรวจ เครื่องมือใหม่ 2.ลงทุนเครื่องมือเทคโนโลยีใหม่ๆ 3.จัดหาบุคลากร ที่เป็นระดับ 'แม่เหล็กฝีมือดีระดับประเทศ' เข้ามาประจำในแต่ละศูนย์ และ4.พัฒนาบุคลากรให้มีความเลิศ

'การเพิ่มศักยภาพของศูนย์จะส่งผลให้ผลประกอบการปี 2559 ขยายตัวกว่า 15% จากปี 2558 สะท้อนผ่านฐานะการเงินไตรมาสแรกปี 2559 ที่มีกำไรสุทธิ 42.14 ล้านบาท เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 14.88 ล้านบาท หลังทยอยเปิดศูนย์บางแห่ง' 

ขณะเดียวกันยังจะเพิ่มจำนวนโควต้าประกันสังคมโรงพยาบาลลาดพร้าวเฉลี่ยเดือนละ 1,000 คน โดยในเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา ได้โควต้าเพิ่มขึ้นแล้ว จาก 1.4 แสนคน เป็น 1.6 แสนคน ซึ่งจะส่งผลให้รายได้จากประกันสังคมในช่วงสิ้นปีนี้เพิ่มขึ้น 2-3% และปี 2560 เพิ่มขึ้นเป็น 5-6%

ปัจจุบันกำลังจะขยายศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์เพิ่มเติมอีก 4 แห่งนั่น คือ ศูนย์แม่และเด็ก,ศูนย์สูตินารีเวช,ศูนย์ตรวจสุขภาพทั่วไป และศูนย์ทันตกรรม ซึ่งศูนย์เหล่านี้อาจแล้วเสร็จภายในปี 2561 กลุ่มเป้าหมายหลัก คือ ต่างชาติ ปัจจุบันโรงพยาบาลลาดพร้าวมีคนไข้ต่างชาติ 10,000 ราย

'ตอนนี้อยู่ระหว่างศึกษาการเข้าซื้อหุ้นโรงพยาบาลพัฒนาการ และโรงพยาบาลสมุทรปราการ' 

นอกจากนั้นในปี 2560 ยังเตรียมจะซื้อ 'ธุรกิจโรงเรียนสองภาษา' ย่านลาดพร้าว คืนกลับมาก หลังได้ขายออกไปในช่วงก่อนเข้าตลาดหลักทรัพย์ ปัจจุบันโรงเรียนดังกล่าวมีนักเรียนเกือบ 700 ราย ซึ่งผลประกอบการขยายตัวต่อเนื่อง และมีการจ่ายเงินปันผลมาแล้ว 2-3 ปี

๐ผุดโรงพยาบาลแห่งใหม่

เมื่อถามถึงความคืบหน้าในการก่อสร้าง 'โรงพยาบาลลาดพร้าวลำลูกกา' เขา บอกว่า โรงพยาบาลดังกล่าวมีขนาด 180 เตียง คาดว่าจะใช้เงินลงทุน 600 ล้านบาท ซึ่งปี 2560 จะขอรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) คาดว่าจะใช้เวลา 9-12 เดือน จากนั้นจะเริ่มก่อสร้างในปี 2560 และเปิดดำเนินการในปี 2562

เรื่องหนึ่งที่ต้องยอมรับ คือ โรงพยาบาลแห่งนี้ อาจมีผลประกอบการ 'ขาดทุน' อย่างน้อย 3 ปี ถือเป็นเรื่องปกติของการลงทุนช่วงแรก ฉะนั้นอาจส่งผลกระทบต่อฐานะการเงินของบริษัทแม่บ้าง แต่การนำ AMARC เข้าระดมทุนในปีเดียวกันจะเข้ามา 'ปิดจุดเสี่ยง' ดังกล่าว หรืออาจทำให้องค์กรเติบโตแบบก้าวกระโดดก็ได้

'พื้นที่บริเวณโรงพยาบาลลาดพร้าวลำลูกกา แวดล้อมไปด้วยหมู่บ้าน ห้างต่างๆ และโรงงานอุตสาหกรรม ถือเป็นทำเลทองแห่งหนึ่ง'

๐ กองทุนสนใจหุ้น LPH

'ดร.อังกูร' เล่าว่า หลังจากโรงพยาบาลลาดพร้าว เดินสายโรดโชว์กับนักลงทุนสถาบันภายในประเทศ ผลปรากฏว่า มีกองทุนแสดงความสนใจหุ้น LPH จำนวนมาก ปัจจุบันบริษัทมีสัดส่วนนักลงทุนสถาบัน 10% สาเหตุที่ได้รับความสนใจ อาจเป็นเพราะกองทุนติดตามผลประกอบการของบริษัทมาตลอด และพบว่าขยายตัวต่อเนื่อง

ส่วนตัวมีมุมมองต่อหุ้นกลุ่มโรงพยาบาลว่า ที่ผ่านมาธุรกิจการแพทย์มีอัตราการเติบโตไม่สูงมากขึ้น โดยเฉพาะโรงพยาบาลขนาดใหญ่ที่เจาะตลาด 'กลุ่มระดับไฮเอนด์' ที่เป็นชาวต่างชาติในแถบตะวันออกกลาง ซึ่งประเทศเหล่านั้นได้รับผลกระทบ จากราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลงอย่างหนัก ส่งผลให้ลูกค้าเดินทางเข้ามารับการรักษาในเมืองไทยลดลง

ขณะเดียวกันยังมีกระแสข่าวที่ว่า ภาครัฐในกลุ่มตะวันออกกลางมีนโยบายจะลดจำนวนประชากรที่ต้องการเดินทางออกไปรักษาตัวนอกประเทศ และมีความพยายามที่จะสร้างโรงพยาบาลภายในประเทศ หรือปรับปรุงศักยภาพโรงพยาบาลภายในประเทศให้ดีขึ้น

ทว่าโรงพยาบาลขนาดกลางและเล็ก อย่างโรงพยาบาลลาดพร้าว ไม่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าว ตรงข้ามกับขยายตัวมากกว่าเดิม ส่งผลให้นักลงทุนสนใจและหันมามองหุ้นโรงพยาบาลขนาดกลางและเล็กมากขึ้น

๐ปั้น AMARC เข้าตลาดหุ้นปี 62

'นายใหญ่' บอกว่า อยู่ระหว่างการศึกษาจะผลักดันบริษัทในเครือ ภายใต้ชื่อ บริษัท ศูนย์ห้องปฏิบัติการและวิจัยทางการแพทย์และการเกษตรแห่งเอเซีย จํากัด (AMARC) ผู้ให้บริการตรวจวิเคราะห์ ทดสอบ และ วิจยัด้านอาหาร ผลติผลการเกษตรและยา เข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai)

บริษัทดังกล่าวเป็นเจ้าของ 4 ห้องแล็บ คือ 1.เกษตรอาหาร จะเป็นสินค้าเกี่ยวกับเกษตรอาหารสด-แห้ง หรือ อาหารกระป๋อง อาหารสำเร็จรูป 2.ยา 3.แล็บแพทย์ เป็นแล็บที่ตรวจชิ้นเนื้อ เพื่อหาสารก่อมะเร็งในชิ้นเนื้อ และ 4.แล็บสอบเทียบ (ตรวจสอบเครื่องมือทางการแพทย์ว่าได้มาตรฐานหรือไม่)

ฐานลูกค้าในธุรกิจดังกล่าว ส่วนใหญ่เป็นต่างชาติ คาดว่าเมื่อเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ความต้องการการตรวจสอบจากห้อง LAB จะเพิ่มขึ้น ตามแผนปีหน้าจะขยายสาขาออกไปในต่างจังหวัด เน้นตามแนวชายแดนไทย และในปี 2561 จะขยายสาขาออกไปในต่างประเทศ เบื้องต้นกำลังสนใจประเทศพม่า

'รายได้ปีนี้อาจเติบโตไม่ต่ำกว่า 20% จากปีก่อนที่มีรายได้ 5 ล้านบาท' 

ย้อนกลับไปเมื่อ 2-3 ปีก่อน ห้องแล็บของบริษัทได้รับความสนใจจากต่างประเทศ สะท้อนผ่านการที่มีแล็บชั้นนำของโลกจะเข้ามาเทคโอเวอร์ ตอนนั้นยอมรับหวั่นไหวเหมือนกัน เพราะให้ราคาสูงถึง 3-4 เท่าตัว แต่สุดท้ายตัดสินใจไม่ขายและหันมาพัฒนาเพิ่มขีดความสามารถเอง เพราะบริษัทแห่งนี้มีกำไรตลอด และสามารถจ่ายเงินปันผลให้ผู้ถือหุ้นต่อเนื่อง