“VARNI” หัตถกรรมชุมชนบนเวทีโลก
“หัตถกรรมกระจูดวรรณี”พลังคนรุ่นใหม่ ร่วมพลิกฟื้นงานหัตถศิลป์ท้องถิ่นให้เฉิดฉายอยู่ในตลาดโลก เพื่อความสำเร็จในเชิงธุรกิจและสุขร่วมกันของชุมชน
ผลิตภัณฑ์สีสันสดใส แปลงกลายเป็น ตะกร้าใส่ของ กระเป๋าคลัทช์ เคสโทรศัพท์ เฟอร์นิเจอร์ชิคๆ อย่าง โต๊ะ เก้าอี้ ฯลฯ โทนสีดอกไม้ หาดทราย ท้องทะเล ไม่ได้ดูเฉิ่มเชยเหมือนงานกระจูดในภาพจำใครหลายคนเลยสักนิด
นี่คือ “หัตถกรรมกระจูดวรรณี” (VARNI) ผลิตภัณฑ์ชุมชน ในจังหวัดพัทลุง ที่เหล่าทายาทของครูช่างหัตถศิลป์ไทย “วรรณี เซ่งฮวด” อย่าง “ณัทศศิร์” และ “มนัทพงค์” ลูกสาวและลูกชาย ร่วมกันขับเคลื่อนอยู่เบื้องหลัง
ทั้งสองคนผูกพันกับอาชีพสานกระจูดของครอบครัวมาแต่เล็ก ซึมซับมรดกแห่งภูมิปัญญาที่สืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น จนวันที่เรียนจบเลยคิดพัฒนาต่อยอดภูมิปัญญานี้ โดย มนัทพงค์ ซึ่งเรียนจบสาขาภาพพิมพ์ คณะศิลปกรรม ม.ทักษิณ ก่อนไปต่อโท คณะมัณฑนศิลป์ ม.ศิลปากร คือคนที่มาปรับลุ้คใหม่ให้กับผลิตภัณฑ์กระจูดวรรณี
เราเลยได้เห็นผลิตภัณฑ์ที่มาพร้อมรูปแบบและดีไซน์หลากหลาย มีการใช้เทคนิคการย้อมสีเพิ่มเสน่ห์ให้ผลงาน โดยใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติในการย้อม ใช้ใบลานมาทอร่วมกับกระจูด เพื่อปิดข้อด้อยของกระจูดที่ทำสีสันได้ไม่มาก ให้ย้อมสีได้หลากหลายขึ้น ที่สำคัญยังคงคุณสมบัติของกระจูด อย่าง ยืดหยุ่นสูง ไม่แตกหักเมื่อพับงอ ไว้ได้ครบถ้วน
“จากรูปแบบทั่วๆ ไป น้องชายมาพัฒนาดีไซน์ และเฉดสี ให้ดูแปลกตาไป อย่างการใช้กระจูดมาผสมกับใบลาน ที่ช่วยเพิ่มความหลากหลายด้านสีสัน และยังคงทนเหมือนเดิม แถมน้ำหนักเบากว่าเดิมด้วย เป็นการทำให้มีคุณสมบัติที่ดีขึ้น”
ทายาทสาวกระจูดวรรณีบอกกับเรา เธอจบมาทางด้านบัญชี ที่ มอ.สงขลานครินทร์ วันนี้กลับมาช่วยกิจการของครอบครัวโดยดูแลด้านการตลาด และระบบบัญชี เป็นหลัก
วรรณี ใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติ นำกระจูดที่เป็นเพียงวัชพืช มาสร้างให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ ขณะที่ยังให้ความสำคัญกับกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ใช้สีย้อมจากพืชธรรมชาติ บางคอลเลคชั่นที่ใช้สีเคมี ก็มีใบรับรองในเรื่องความปลอดภัย ไม่มีสารพิษ เพื่อให้สามารถส่งออกได้อย่างราบรื่น เพิ่มความสบายใจแก่ผู้ใช้
วัตถุดิบหลักอย่างกระจูดก็มาจากในท้องถิ่น ส่วนใบลาน นำมาจากกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ในปราจีนบุรี และสระบุรี เพื่อกระจายรายได้สู่กลุ่มอื่นด้วย ขณะแรงงานฝีมือ มาจากสมาชิกกลุ่มที่มีอยู่ 65 ชีวิต รวมถึงเครือข่ายอีกนับ 250 คน ซึ่งกระจายงานไปยังเครือข่ายในจังหวัดใกล้เคียง เพื่อให้พร้อมรองรับออเดอร์ที่ใหญ่ขึ้น
ผลงานคุณภาพขายกันตั้งแต่หลักสิบ ไปจนระดับ 8,500 บาท สูงกว่าผลิตภัณฑ์ชุมชนที่เห็นอยู่ทั่วไปมาก เธอยกตัวอย่าง กระจูดบ้านๆ ขายกันเต็มที่ ใบละไม่เกิน 350 บาท ขณะกระจูดนวัตกรรมวรรณี สามารถขายได้สูงถึงใบละ 1,550 บาท ซึ่งการตั้งราคาไม่ได้มาจากแค่ให้คุณค่ากับงานดีไซน์และนวัตกรรม ทว่ายังให้ค่ากับเหล่าแรงงานฝีมือ ซึ่งเธอเชื่อว่า ควรได้รับค่าตอบแทนที่สูง เมื่อเทียบกับผลงานดีงามเหล่านั้น
“การที่เราตั้งราคาผลิตภัณฑ์ไว้ค่อนข้างสูง เพราะต้นทุนที่เราให้กับชุมชนก็สูงมากเช่นเดียวกัน เรามองความยากในการทำงาน เลยรู้สึกว่า ถ้าทำตลาดได้ ก็ควรให้ค่าแรงชุมชมที่คุ้มกับเขาด้วย” เธอบอก
วันนี้ตลาดของกระจูดวรรณี ไม่ได้อยู่ที่แผงขายของโอทอป ทว่าเฉิดฉายอยู่ทั้งใน คิง เพาเวอร์ ศูนย์การค้าเกษร สยามดิสคัฟเวอรี่ เซ็นทรัลชิดลม ลาดพร้าว และภูเก็ต ฯลฯ ส่วนต่างประเทศก็ไปมาแล้วทั้ง อังกฤษ สวีเดน เยอรมนี จีน และ ญี่ปุ่น มีสัดส่วนส่งออกประมาณ 60% ที่เหลือขายในประเทศ ทั้งยังเคยส่งผลงานจากภูมิปัญญา จนคว้ารางวัลจากเวทีประกวด DEmark 2014 ในไทย และ GMark 2014 จากประเทศญี่ปุ่นมาแล้ว
ถึงวันนี้ คุณแม่วรรณีและสองพี่น้อง ยังคงพัฒนาผลงานของพวกเขาไม่หยุดนิ่ง ทั้งด้าน รูปแบบ ดีไซน์ หรืออย่าง นวัตกรรมน้ำยาเคลือบผลิตภัณฑ์ เพื่อป้องกันรอยขีดข่วน และกันกระแทก ซึ่งอยู่ระหว่างการคิดค้นและพัฒนา เพื่อไม่ให้ภูมิปัญญาดีๆ ของไทย ต้องสูญหายไปแค่ยุคนี้
เป็นคนรุ่นใหม่ การศึกษาดี และยังมีทางเลือกมากมายในชีวิต ทว่าทำไมถึงเลือกมาสานต่อกิจการเล็กๆ ของครอบครัว ณัทศศิร์ บอกเราว่า งานนี้ทำให้เธอได้อยู่บ้าน อยู่กับครอบครัว และยังได้อยู่ร่วมกับชาวชุมชน ซึ่งทำงานด้วยกันมา จนกลายเป็นเหมือนส่วนหนึ่งของครอบครัวไปแล้ว
“บางคนบอกว่า เพราะงานนี้เลยทำให้เขาสามารถส่งลูกเรียนจนจบปริญญา ให้โอกาสเขามีรายได้ ขณะที่ยังได้ทำงานกับครอบครัว ได้อยู่กับลูกๆ ไม่ต้องเข้ามาหางานทำในกรุงเทพฯ นี่เป็นความสุขที่เขาได้รับ” และนั่นคือเหตุผลเดียวกัน ที่ทายาทอย่างเธอยังคงมุ่งมั่นกับงานนี้ เพื่อให้วรรณี ได้เป็นส่วนหนึ่งที่สร้างสุขยั่งยืนให้กับทั้งตัวเธอ และชุมชนตลอดไป
ส่วนน้องชาย มนัทพงค์ ก็ยังแบ่งภาคมาทำงานเพื่อสังคมอย่างต่อเนื่อง โดยเขาเป็นวิทยากรของ ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ(องค์การมหาชน) ไปช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชน และได้รับการยกย่องจากหน่วยงานเดียวกันให้เป็น “ทายาทหัตถศิลป์” ประจำปี 2557 ที่มีอายุน้อยที่สุด (มีอายุเพียง 27 ปี ณ ตอนนั้น)
วันนี้หัตถกรรมกระจูดวรรณี ไม่ได้เป็นเพียงแหล่งสร้างงานสร้างรายได้ให้ชุมชน ทว่ายังเปิดเป็นศูนย์เรียนรู้เชิงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวชุมชนอีกด้วย เพื่อให้ผู้คนที่สนใจได้เข้ามาศึกษาเรียนรู้ภูมิปัญญาไทยดีๆ ไปจากพวกเขา
“ที่ผ่านมา เราประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่อง เพราะยังคงพัฒนารูปแบบและดีไซน์ไปเรื่อยๆ มีความแปลกใหม่ขึ้นทุกวัน ซึ่งการปรับตัวและพัฒนารูปแบบดีไซน์ที่ใหม่อยู่ตลอดเวลานี้เอง เป็นตัวสร้างรายได้ที่ยั่งยืนให้กับชุมชนของเรา”เธอบอก
ความสำเร็จของหัตถกรรมกระจูดวรรณี เลยไม่เพียงแค่ผลตอบแทนในเชิงธุรกิจ ทว่ายังหมายรวมถึง “ความสุขร่วมกัน” ของคนทั้งชุมชนอีกด้วย