เปิด  7 ทิศทางสุขภาพคนไทย ต้องจับตาในปี 2568 

เปิด  7 ทิศทางสุขภาพคนไทย ต้องจับตาในปี 2568 

สสส. เปิด 7 ทิศทางสุขภาพคนไทยต้องงจับตา ปี 2568วิกฤติโลกเดือด  -ชีวิตอมฝุ่น-ปัญหาสุขภาพจิต-ภัยออนไลน์-เด็กอ้วน ผู้ใหญ่ความดันพุ่ง สุขภาพทรุด เศรษฐกิจโทรม-โรคติดต่อ-บุหรี่ไฟฟ้า ไม่แค่สร้างปัญหาสุขภาพแต่บั่นทอนเศรษฐกิจโดยรวมประเทศ 

เมื่อวันที่ 17 ธ.ค.2567ที่อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ กรุงเทพฯ นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวเปิดงานจับตาทิศทางสุขภาพคนไทย 2568 (ThaiHealth Watch 2025) ว่า สสส. ร่วมกับภาคีเครือข่ายขับเคลื่อนสังคมด้วยข้อมูล (Data-Driven Society) พัฒนานวัตกรรม ThaiHealth Watch เพื่อนำเสนอแนวทางลดปัจจัยเสี่ยงสุขภาพที่มีแนวโน้มเกิดขึ้นใหม่ต่อเนื่องเป็นปีที่ 6

โดยรวบรวมองค์ความรู้จากสถานการณ์สุขภาพคนไทย ปี 2567 ประกอบกับความคิดเห็นเรื่องสุขภาพยอดนิยมบนสื่อออนไลน์ และข้อแนะนำทั้งระดับปัจเจกบุคคลและนโยบายต่อสังคม เกิดเป็นประเด็นกระแสสังคม 7 ประเด็น ได้แก่ 
 1.ยิ่งเปราะบาง ยิ่งเดือดร้อน วิกฤตโลกเดือด สำนักบริการด้านสภาพแวดล้อมของสหภาพยุโรป พบปี 2566 เป็นปีที่โลกมีอุณหภูมิร้อนที่สุด โลกร้อนขึ้นทำให้เกิดความเสี่ยงต่อความหลากหลายทางระบบนิเวศ ระบบสิ่งแวดล้อม และสุขภาพ ไทยเสี่ยงจากผลกระทบสภาพภูมิอากาศเป็นอันดับ 9 ของโลก โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางคือกลุ่มเสี่ยงที่สุด 

เปิด  7 ทิศทางสุขภาพคนไทย ต้องจับตาในปี 2568 

2.ชีวิตอมฝุ่น ตัวเลขผู้ป่วยก้าวกระโดด นโยบายก้าวไม่ทัน รายงานคุณภาพอากาศปี 2566 พบไทยมีมลพิษมากเป็นอันดับที่ 36 ของโลก เฉลี่ยรายปีอยู่ที่ 23.3 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร(มคก./ลบ.ม.) มากกว่าค่าเฉลี่ยรายปีที่องค์การอนามัยโลก(WHO)กำหนดถึงเกือบ 5 เท่า

โดยเฉพาะคนกรุงเทพฯ ได้รับผลกระทบเทียบเท่ากับสูบบุหรี่ 1,224 มวน ส่งผลให้มีผู้ป่วยทางเดินหายใจกว่า 11 ล้านคนต่อปี จึงอยากชวนจับตาร่าง พ.ร.บ.บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. ... ที่จะเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรในวาระที่ 2-3 ในต้นปี 2568 

3.เยียวยาจิตใจ ปรับพฤติกรรมใหม่ เข้าถึงการดูแลได้ทุกคน พบผู้ป่วยจิตเวชเพิ่มขึ้นจาก 1.3 ล้านคนในปี 2558 เป็น 2.9 ล้านคน ในปี 2566

4.ต่างวัยต่างติดจอ เผชิญปัญหาต่าง กระทบชีวิตไม่แตกต่าง พฤติกรรมของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทย 2565 โดยสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พบคนไทยใช้อินเทอร์เน็ต 7.04 ชม./วัน แต่กลับมีความรู้ด้านการป้องกันภัยออนไลน์ต่ำ ส่งผลให้เสพติดพนันออนไลน์ โดนกลั่นแกล้ง คุกคามทางเพศ 

สร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจ

5.เด็กอ้วนเพิ่ม ผู้ใหญ่ความดันพุ่ง ทำสุขภาพทรุด เศรษฐกิจโทรม พบคนไทยเสียชีวิตจากโรคไม่ติดต่อ (NCDs) สูงถึง 74% ของการเสียชีวิตทั้งหมด คิดเป็น 4 แสนคนต่อปี เด็กที่อ้วนมีแนวโน้มเป็นผู้ใหญ่ที่ป่วยโรค NCDs โดยเฉพาะโรคเบาหวานที่คาดการณ์ว่าจะเพิ่มจาก 4.8 ล้านคนในปี 2566 เป็น 5.3 ล้านคนในปี 2583 สาเหตุเกิดจากการบริโภคอาหารที่ไม่มีประโยชน์ เช่น เครื่องดื่มชง เนื้อสัตว์แปรรูป อาหารกึ่งสำเร็จรูป

นอกจากนี้ ยังพบสร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจสูงถึง 1.6 ล้านล้านบาท คิดเป็น 9.7%ของGDP เป็นการสูญเสียจากการรักษา การออกจากตลาดแรงงานก่อนวัยอันควร  การทำงานไม่เต็มกำลังความสามารถ และการขาดงานบ่อย  

โดยในการสูญเสียที่จะเกิดจากการออกจากตลาดแรงงานก่อนวัยอันควร คิดเป็น 86% ซึ่งมีอัตราการสุญเสียมากที่สุดนั้น ในจำนวนนี้แบ่งออกเป็น   การเสียชีวิต52%  และการออกจากงานก่อนวัยอันควร 34% 
6.โรคติดต่อจะไม่ติดต่อ เติมความรู้ให้แน่น ก่อนจะเล่นกับความรัก พบคนไทยป่วยโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เพิ่มขึ้นจาก 28.8 คนต่อประชากรแสนคน ในปี 2560 เป็น 53 คนต่อประชากรแสนคน ในปี 2566

และ7.การตลาดบุหรี่ไฟฟ้า ภาพหวานเหมือนขนม ซ่อนพิษขมสำหรับเด็ก ข้อมูลจากกรมสนับสนุนบริการสุขภาพปี 2566 พบเด็กสูบบุหรี่ไฟฟ้า 9.1% จากการตลาดที่มุ่งเน้นกลุ่มนักสูบหน้าใหม่ โดยออกแบบผลิตภัณฑ์สีสันสดใส ทันสมัย และกลิ่นหอม โฆษณาว่าเป็นสินค้าที่เท่และปลอดภัย ประกอบกับผู้ปกครองขาดความรู้เกี่ยวกับอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้า

 กลยุทธ์ 3P ลดโรค 

“คนไทยเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ในช่วงวัยเด็ก วัยรุ่น วัยทำงาน 1.7 แสนคนต่อปี มีสาเหตุจากพฤติกรรมเสี่ยง ซึ่งสสส.มีการขับเคลื่อนกลยุทธ์ 3P ร่วมกับภาคีต่างๆเพื่อลดโรคNCDs  ได้แก่ People  ปรับไลฟ์สไตล์ระดับปัจเจก สร้างสิ่งแวดล้อมในที่ทำงานให้เอื้อต่อการออกกำลังกาย เป็นแฮปปี้เวิร์กเพลส

Publicงานสื่อสารสาธารณะในวงกว้าง  เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจ  และPolicy ขับเคลื่อนงานระดับนโยบาย เช่น ที่ดำเนินการแล้วเรื่องของการเก็บภาษีความหวาน และกำลังพิจารณาเรื่องการผลักดันการลดหย่อนภาษีในคนที่สุขภาพดี  อย่างอายุ 50 ปีแล้วไม่ป่วยเป็นโรคเบาหวานควรได้รับการลดหย่อนภาษี เป็นต้น”นพ.พงศ์เทพกล่าว 

เปิด  7 ทิศทางสุขภาพคนไทย ต้องจับตาในปี 2568 

ตัวแปรทำให้ลดNCDsยาก 
  ด้านน.ส.สุพัฒนุช สอนดำริห์ ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักสื่อสารการตลาดเพื่อสังคม สสส. กล่าวว่า  ปัจจัยที่เป็นตัวแปรสำคัญส่งผลให้การดำเนินการลดโรคNCDsทำได้ยาก คือ 1.นวัตกรรม ที่เข้ามาสร้างการเปลี่ยนแปลงสังคม และสร้างการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของคนด้วย เช่น  การสั่งอาหารมารับประทานได้ เป็นต้น 2.การตลาดที่มีการกระตุ้นการบริโภคมากขึ้น

3.บุหรี่ไฟฟ้าและกัญชา คนเข้าถึงได้ง่ายแม้แต่การซื้อผ่านออนไลน์  4.ปัญหาสังคม เช่น PM2.5 ทำให้ไม่สามารถออกกำลังกายนอกอาคารได้ 5.ปัญหาสุขภาพจิต และ6.รางวัลที่ให้ตัวเองเมื่อทำเรื่องใดเรื่องหนึ่งสำเร็จ ส่วนใหญ่มักจะเป็นเรื่องของการกินทุกอย่างที่อยาก เหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่ทำให้อัตราป่วยโรคNCDsสูงขึ้น และเป็นโรคจากพฤติกรรมที่เราสร้างเอง

  3 ข้อช่วยปรับความเสี่ยงโรคNCDs
 สิ่งสำคัญที่ช่วยป้องกันและลดอัตราป่วยด้วยโรคNCDs เริ่มจาก 1.การตั้งเป้าหมายที่สามารถทำได้ง่าย  ทำได้จริงก่อน เพื่อให้สามารถทำได้สำเร็จแล้วเป้าหมายจะค่อยๆขยับเพิ่มมากขึ้น

2.กระแสสังคมเป็นสิ่งที่จะทำให้คนเปลี่ยนพฤติกรรมเสี่ยงๆต่างๆ ดังเช่นที่ได้ดำเนินการเรื่องงดเหล้าเข้าพรรษา ที่กลุ่มเป้าหมายหลักเป็นชายและผู้ใหญ่ แต่ปรากฏว่าเมื่อเกิดเป็นกระแสสังคม ส่งผลให้เด็กและเยาวชนเข้ามาร่วมในเรื่องนี้อย่างมาก เห็นได้ว่าสังคมสร้างทัศนคติให้กับเด็กในการเติบโตได้  หรือ การวิ่ง ที่อดีตคนที่วิ่งจะเป็นผู้สูงอายุ แต่ปัจจุบัน  คนรุ่นใหม่มีการวิ่งจำนวนมาก

 และ3.การให้ความรู้  ถ้าคนเห็นว่าเกิดประโยชน์ก็จะตระหนัก ลุกขึ้นมาเปลี่ยนพฤติกรรม ความรู้จะเป็นตัวจุดประกายการเปลี่ยนแปลงได้  

“ทุกคนในสังคมสามารถมีส่วนร่วมในการลดโรคNCDs และปัญหาสุขภาพอื่นๆได้ในทุกบทบาท  โดยเริ่มต้นจากความคิดของแต่ละคน ที่อยากจะเห็นสังคมดี สุขภาพดีขึ้น ก็เป็น 1 คนที่เริ่มลุกขึ้นมากช่วยและปรับเปลี่ยนความเสี่ยงต่างๆได้”น.ส.สุพัฒนุชกล่าว  

เปิด  7 ทิศทางสุขภาพคนไทย ต้องจับตาในปี 2568 

สุขภาพจิต จะสูญเสียอันดับ 1
ขณะที่ เจนนิเฟอร์ ชวโนวานิช รองคณบดี คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ปี 2566 คนไทยมีอัตราการฆ่าตัวตาย 7.9 คนต่อประชากรแสนคน และยังมีแนวโน้มมากขึ้นทุกปี แต่บุคลากรด้านสุขภาพจิตกลับเป็นสาขาที่มีจำนวนจำกัด มีจิตแพทย์ 1,000 คน นักจิตวิทยา 1,000 คน ซึ่งการจะเพิ่มบุคลากรด้านสุขภาพจิตให้เพียงพอต้องใช้เวลาถึง 5-10 ปี กระทรวงสาธารณสุขคาดการณ์ว่า 10 ปีข้างหน้า สุขภาพจิตจะกลายเป็นปัญหาด้านสุขภาพที่ทำให้เกิดการสูญเสียเป็นอันดับ 1 ของโรคไม่ติดต่อทั้งหมด ซึ่งกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง คือ กลุ่มวัยทำงาน พบมีความเครียดในการทำงาน 42.7% ในจำนวนนี้มีภาวการณ์ฝืนทำงานแม้มีปัญหาสุขภาพจิต 27.5% การรักษาในโรงพยาบาลจึงอาจไม่ตอบโจทย์การแก้ไขปัญหาสุขภาพจิต 

        แนวทางการสร้างนโยบายการส่งเสริมสุขภาวะทางจิตที่ดีในการทำงาน 6 เรื่อง 1.เพิ่มสวัสดิการด้านการรักษาสุขภาพกายและใจ 2.อบรมให้ความรู้และจัดกิจกรรมที่ส่งเสริมสุขภาพกายและจิตใจ 3.เพิ่มสวัสดิการการลา 4.ส่งเสริมการพูดคุยสื่อสารและรับฟังปัญหา 5.สร้างบรรยากาศและวัฒนธรรมที่ดีในองค์กร และ6.เพิ่มสวัสดิการทางการเงิน ช่วยให้พนักงานเข้าถึงการได้รับบริการหรือการส่งเสริมสุขภาพจิตและสุขภาพใจ