'มะเร็งรักษาทุกที่'สิทธิบัตรทอง 30 บาท ชะลอหลักเกณฑ์เบิกจ่ายใหม่ 3 เดือน
สปสช.แจงมะเร็งรักษาทุกที่ ชะลอหลักเกณฑ์เบิกจ่ายใหม่ออกไป 3 เดือน ย้ำประชาชนยังรับบริการได้โดยไม่ต้องใช้ใบส่งตัว
KEY
POINTS
จากกรณีโรงพยาบาลโรงเรียนแพทย์ อาทิ รพ.รามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์รามาธิบดี ,รพ.ศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และรพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นต้น ออกประกาศว่า เนื่องจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มีการปรับเกณฑ์การจ่ายเงินค่ารักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งจากกองทุนมะเร็งรักษาทุกที่(cancer anywhere )ใหม่ จึงขอให้ผู้ป่วยโรคมะเร็งในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง 30 บาท) เมื่อเข้ามารับการรักษาในโรงเรียนแพทย์ ต้องมีใบส่งตัวรับรองค่ารักษาพยาบาลจากหน่วยบริการต้นสังกัดตามสิทธิ นับตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2568 เป็นต้นไปนั้น
เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 16 ธ.ค.2567 ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) แถลงข่าวด่วนชี้แจงการปรับหลักเกณฑ์การเบิกจ่าย "โรคมะเร็งรักษาทุกที่" ว่า นโยบายเรื่องมะเร็งรักษาทุกที่ไม่มีการยกเลิกมีการดำเนินการต่อ เพียงแต่ที่ผ่านมา สปสช.มีการกำหนดหลักเกณฑ์อยู่เสมอกับหน่วยบริการซึ่งมะเร็งรักษาทุกที่ยืนยันว่าผู้วินิจฉัยมะเร็งสามารถไปรับบริการเกี่ยวข้องมะเร็ง ทั้งรังสีรักษา เคมีบำบัด ผ่าตัด และฮอร์โมนได้ทุกที่ โดยไม่ต้องมีใบส่งตัว
แต่เหตุที่ผ่านมาเกิดเพราะสปสช.พยายามปรับหลักเกณฑ์ให้ชัดเจน โดยเฉพาะส่วนของโรคร่วมต่างๆ จึงเกิดความไม่ชัดเจนขึ้น ดังนั้น เมื่อวันที่ 15 ธ.ค.2567 จงึได้มีการหารือร่วมกับผู้บริหารรพ.หลายแห่งที่เผยแพร่ว่าตั้งแต่ 1 ม.ค.2568 จะขอใบส่งตัว เช่น รพ.จุฬาลงกรณ์ รพ.ศิริราช รพ.รามาธิบดี รพ.จุฬาภรณ และรพ.ศรีนครินทร์ มีข้อสรุปร่วมกันที่สำคัญ คือ สปสช.ชะลอการใช้หลักเกณฑ์ใหม่ออกไปก่อนเป็นระยะเวลา 3 เดือน ยังจะใช้หลักเกณฑ์เดิม โดยที่ประชาชนที่เป็นมะเร็งสามารถรักษาที่หน่วยบริการที่ใดก็ได้ ไม่จำเป็นต้องมีใบส่งตัว หมายรวมถึงการรักษาโรคร่วม ภาวะแทรกซ้อน และการรักษาต่อเนื่องด้วย
ช่วงการผ่อนผันระะเวลา 3 เดือนที่ชะลอหลักเกณฑ์ใหม่ออกไปก่อน ระหว่างนั้นจะมีการทำงานร่วมกัน โดยสปสช.จะมีการตั้งคณะรทำงาน 1 ชุดโดยมีผศ.นพ.สนั่น วิสุทธิศักดิ์ชัย รองผอ.รพ.ศิริราช เป็นประธาน เพื่อร่วมกันดำเนินการให้มะเร็งรักษาทุกที่ดีขึ้น โดยจะมีการทบทวนข้อมูลลปัญหาในอดีตและปัจจุบันแล้วร่วมกันวางแผน ตอบสนองความต้องการของรพ.และประชาชนในอนาคตให้ดีขึ้น
“ที่พูดคุยกันต่างเห็นว่ามะเร็งรักษาทุกที่เป็นโครงการที่ดี แต่มีหลายประเด็นที่ท้าทาย เช่น มียาใหม่ๆที่เกิดขึ้น อาจารย์อยากให้มีระบบการดูเรื่องยา การตรวจห้องแลป และงบประมาณต่างๆ ซึ่งมะเร็งใช้งบประมาณมาก ต้องหารือร่วมกันว่าจะขับเคลื่อนอย่างไร รวมทั้ง หลายรพ.รับบริการมาก ภาระงานก็มากขึ้น และเรื่องระบบเบิกจ่ายต่างๆ แต่ช่วงที่ชะลอหลักเกณฑ์เบิกจ่ายใหม่ไป 3 เดือนนี้ ผู้ป่วยมะเร็งที่ไปรับบริการมะเร็งรักษาทุกที่ ไม่ต้องมีใบส่งตัว โดยเฉพาะใบส่งตัวที่ให้ยืนยันว่าสปสช.จะตามไปปจ่ายเงินไม่ต้องมี”นพ.จเด็จกล่าว
นพ.จเด็จ กล่าวด้วยว่า ที่หารือร่วมกันกรณีคนไข้มะเร็ง อยากให้มีประวัติการรักษาไปยังหน่วยบริการที่ให้บริการด้วย ซึ่งมีการใช้ระบบที่เชื่อมข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ของสถาบันมะเร็งแห่งชาติร่วมกันเพื่อที่ดูประวัติผู้ป่วยได้ รวมถึง ระบบเฮลท์ลิงค์เชื่อมข้อมูลต่างๆ จึงขอให้ความมั่นใจ ประชาชนว่าโครงการ มะเร็งรักษาทุกที่ไม่ยกเลิกและอนาคตทำให้ดีขึ้น
"ส่วนนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว ขยายเฟสสุดท้าย รวม 31 จังหวัด ซึ่งจะครบทั่วทุกประเทศ 77 จังหวัด จะมีการคิกออฟในวันที่ 25 ธ.ค.ที่ทำเนียบรัฐบาล โดยมี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีเป็นประธานเปิดงานฯ ยืนยันว่าภายในสิ้นปี 2567 ทุกจังหวัดจะดำเนินโครงการ 30 บาทรักษาทุกที่ได้อย่างแน่นอน"นพ.จเด็จกล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ สปสช. ได้มีการกำหนดเงื่อนไขการเบิกจ่ายกองทุนมะเร็งรักษาทุกที่ใหม่ โดยให้เฉพาะรายการให้เคมีบำบัด ฮอร์โมน หรือรังสีรักษาสำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็ง ทั้งบริการผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน ทั้งนี้ รวมบริการผู้ป่วยนอกสำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็งกรณีที่มีเหตุสมควร โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568
ระบุสาเหตุที่ต้องมีการเปลี่ยนแปลงการเบิกจ่าย เนื่องจากพบว่า การจ่ายเงินจากกองทุน Cancer Anywhere ที่ผ่านมานั้น พบว่าไม่ได้จ่ายเฉพาะการรักษามะเร็งอย่างเดียว แต่จ่ายเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายเรื่อง investigation (สอบสวนโรค )โรคอื่นที่ไม่สัมพันธ์กับการรักษามะเร็งในครั้งนั้นมากกว่า 50 %
จากการปรับหลักเกณฑ์นี้จึงส่งผลให้รพ.โรงเรียนแพทย์ต่างๆ ต้องออกมาแจ้งให้ผู้ป่วยที่จะเข้ารับการรักษามะเร็งรักษาทุกที่ จะต้องมีใบส่งตัวที่รับรองการจ่ายค่ารักษาจากหน่วยบริการต้นสังกัดในกรณีที่จะมีการส่งต่อผู้ป่วยมะเร็งมาเข้ารับการรักษาด้วย เพื่อเป็นการยืนยันว่าหน่วยบริการต้นสังกัดของผู้ป่วยจะตามจ่ายค่ารักษาส่วนที่ไม่สามารถเบิกจ่ายจากสปสช.ได้ตามหลักเกณฑ์ใหม่ดังกล่าว