ปี 68 'รพ.สธ.'ปรับรูปแบบ 'ส่งต่อผู้ป่วย' ทั้งหมด เดินหน้าสู่ รพ.หนึ่งเดียว

ปี 68 'รพ.สธ.'ปรับรูปแบบ 'ส่งต่อผู้ป่วย' ทั้งหมด  เดินหน้าสู่ รพ.หนึ่งเดียว

30 บาทรักษาทุกที่ ครบ 77 จังหวัดปี 67 ส่วนปี 68 ปรับระบบส่งต่อผู้ป่วยใหม่ทั้งหมด  ไม่ใช้กระดาษ เปลี่ยนเป็นแบบดิจิทัลออนไลน์ เชื่อมทุกระดับรพ.สธ. พร้อมเชื่อมกับรพ.ศิริราช ก่อนเข้ารพ.โรงเรียนแพทย์อื่น เร่งยุทธศาสตร์ป้องกันโรค หวั่นงบฯไม่พอ

KEY

POINTS

  • 30 บาทรักษาทุกที่ อีก 31 จังหวัดที่เหลือ คิกออฟก่อนสิ้นปี 2567 ปี 2568 รพ.สธ.เลิกใช้กระดาษส่งตัวผู้ป่วย ปรับเป็นระบบดิจิทัลออนไลน์ทั้งหมด  
  • ผู้ป่วยนอกเข้ารักษา 304 ล้านคน/ครั้งต่อปี  หากมีการใช้เงินอย่างเดียวก็มีโอกาสที่เงินไม่พอ  สธ.มุ่งเน้นยุทธศาสตร์ป้องกัน ลดคนป่วย
  • รพ.สธ.เดินหน้าสู่ “รพ.หนึ่งเดียว” ทุกแห่งเชื่อมข้อมูลถึงกัน ประชาชนถือบัตรประชาชนใบเดียวไปรักษาได้ทุกที่ ส่งตัวได้ทุกที่  เป็น รพ.ของประเทศไทย(one country one hospital) เพราะมีส่วนแบ่งการตลาดเกือบ 70% หน่วยบริการที่ใหญ่ที่สุด  

 

 

ตามที่รัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ขับเคลื่อน นโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว โดยได้ดำเนินการมาแล้วตั้งแต่เดือนมกราคม 2566 รวมแล้ว 3 ระยะครอบคลุม 46 จังหวัด ส่วนอีก 31 จังหวัดที่เหลือดำเนินการระยะที่ 4 ซึ่งตามเป้าหมายภายในปี 2567

เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2567 ที่ โรงแรมเอเชีย แอร์พอร์ท ดอนเมือง กรุงเทพมหานคร นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข มอบนโยบายการขับเคลื่อนนโยบาย 30 บาท รักษาทุกที่ ระยะที่ 4 ว่า การยกระดับ 30 บาทรักษาทุกโรค เป็น 30 บาทรักษาทุกที่ เป็นนโยบายเรือธงของรัฐบาล โดยมีการจัดบริการต่างๆอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน เช่น เทเลเมดิซีน เอไอทางการแพทย์ เป็นต้น  

ระบบส่งต่อผู้ป่วยดิจิทัลทั้งหมด

ในปี 2568 ระบบการส่งต่อผู้ป่วยที่เป็นกระดาษจะเปลี่ยนระบบดิจิทัลออนไลน์ทั้งหมด รวมถึง คนไข้ที่รักษาหลายแห่งในแต่ละปี  ก็จะมีระบบกลางรวบรวมข้อมูลและส่งต่อข้อมูลยังรพ.ปลายทางได้อย่างรวดเร็ว  ส่วนการเชื่อมข้อมูลกับรพ.นอกสังกัดสธ. ขณะนี้กำลังดำเนินการร่วมกับรพ.ศิริราช 

“ที่ผ่านมาดำเนินการไปแล้ว 3 เฟส ครอบคลุม 46 จังหวัด ประชาชนพึงพอใจ 90 % ลดค่าใช้จ่าย 23% และไม่พบความแออัดเพิ่มขึ้นในรพ.ใหญ่ได้ ขณะนี้กำลังจะเข้าสู่ระยะที่ 4 อีก 31 จังหวัด คาดว่าจะดำเนินการได้ครบทั้งประเทศภายในปี 2567”นายสมศักดิ์กล่าว 

มีโอกาสงบฯรักษาไม่พอ

นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า 5 เดือนที่ตนเข้ามารับตำแหน่งได้เห็นในสิ่งที่ดำเนินการ ทั้งการให้บริการผู้ป่วย และการบริหารในระบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งต้องมีการบริหารงบประมาณโดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ปีละราว 1.5 แสนล้านบาท  ผู้ป่วยนอก 304 ล้านคน/ครั้งต่อปี เข้ารักษาหน่วยบริการปฐมภูมิ เช่น โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.) คลินิก 154 ล้านคน/ครั้ง ระดับทุติยภูมิ รพ.ชุมชน  โรงพยาบาลทั่วไป 125 ล้านคน/ครั้ง และตติยภูมิ โรงพยาบาลศูนย์ 25 ล้านคน/ครั้ง ค่ารักษาแต่ละครั้งในหน่วยบริการแต่ละระดับก็แตกต่างกัน

“หากมีการใช้เงินอย่างเดียวก็มีโอกาสที่เงินไม่พอ ขณะเดียวกันจะปล่อยปละละเลยให้มีการใช้จ่ายฟุ่มเฟือยไม่ได้ซึ่งการบริหารการเงินมีทั้งในลักษณะปลายปิด ปลายเปิด อย่างปลายปิดมีการกำหนดวงเงินเท่านี้สำหรับโรคนี้ แต่บางโรคก็มีปลายเปิด หากเงินไม่พอก็ของบฯกลางเพิ่มได้ แต่หากงบฯปลายเปิดยาวนานขึ้น ระบบสปสช.จะกำกับไม่อยู่และ ในฐานะหน่วยบริการรักษาคนไข้ ก็จะเดือดร้อนได้”นายสมศักดิ์กล่าว

เน้นยุทธศาสตร์ป้องกันโรค ลดคนป่วย

นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า การทำให้บริการดีและเงินเพียงพอ ก็ต้องมาช่วยกันดูเรื่องการให้บริการของ 30 บาทรักษาทุกที่ ขณะนี้ที่มีระบบดิจิทัลที่ดี สามารถดูแลรักษารวดเร็ว ส่งผ่านข้อมูลรวดเร็ว ไม่ว่าคนไข้จะไปกี่รพ. สามารถรวบรวมข้อมูลไปปลายทางได้รวดเร็วที่สุด  โดยสธ.มีนโยบายที่ไม่ให้จำนวนผู้ป่วยนอกเกิน 304 ล้านคน/ครั้งต่อปี  เน้นยุทธศาสตร์การป้องกันโรค เช่น การลดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ซึ่งใช้งบประมาณค่ารักษาในกลุ่มโรคนี้ถึง  52% ของ งบฯหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ทั้งที่เป็นโรคป้องกันได้

รพ.สธ.หนึ่งเดียว ใช้บัตรประชาชนใบเดียว

ก่อนหน้านั้น นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดสธ. ให้สัมภาษณ์ภายหลังเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการการขับเคลื่อนนโยบายยกระดับ 30 บาทรักษาทุกที่ระยะที่ 4ว่า จากการสอบถามรพ.ในสังกัดสธ. มีความพร้อม ซึ่งมี 2 ส่วน คือ 1. เมื่อประชาชนถือบัตรประชาชนใบเดียว ไปรพ.สธ.แห่งใด ข้อมูลจะเชื่อมโยงถึงกันหมด และ2.  ประชาชนที่มีLine หรือแอปพลิเคชัน “หมอพร้อม” ประวัติการรักษา สามารถเปิดประวัติของตนได้ หาหมอที่ไหนก็ได้

ส่วนการส่งต่อผู้ป่วย ที่ผ่านมาสธ.มีระบบ One Province One Hospital หรือ 1 จังหวัด 1 รพ. คือ รพ.ภายในจังหวัดเดียวกันสามารถเชื่อมข้อมูล ส่งต่อผู้ป่วยไปรักษาได้ที่ไหนก็ได้  แต่อาจจะติดขัดบ้าง เช่น รพ.บางแห่งอาจเตียงเต็ม จึงต้องมีการสอบทานว่าที่ไหนมีเตียงว่างบ้าง แต่ก็เกิดน้อยลงมาก และเมื่อรพ.จังหวัดเดียวกันพร้อม ต่อไปจะใช้ระบบเขตสุขภาพ คือ เป็นการส่งต่อผู้ป่วยในเขตสุขภาพ สามารถส่งต่อผู้ป่วยภายในเขตเดียวกันได้ทั้งหมด

ในเชิงนโยบายประกาศเป็น รพ.ของประเทศไทย ของกระทรวงสาธารณสุข one country one hospital เพราะมีส่วนแบ่งการตลาดเกือบ 70% เรียกว่าเป็นหน่วยบริการที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ  และหากพร้อมวันข้างหน้าอาจร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ อย่างประกันสังคม เช่น ผู้ประกันตนมีสิทธิที่รพ.บ้างโป่ง จ.ราชบุรี สามารถรักษาที่รพ.ราชวิถีได้ นี่คือความท้าทายว่าเราพร้อม

“จากระดับจังหวัด สู่ระดับเขตสุขภาพ และในอนาคตรพ.ในสังกัดสธ.จะเป็นหนึ่งเดียวทั้งประเทศกว่า 1 พันแห่ง ซึ่งไปรักษาที่ไหนถือเป็นหนึ่งเดียวกันทั้งหมด ประชาชนถือบัตรประชาชนใบเดียวไปรักษาได้ทุกที่ ส่งตัวได้ทุกที่ ดูข้อมูลได้ทุกที่”นพ.โอภาสกล่าว