จับตา! 'เอฟทีเอไทย-อียู' ทำยาแพง บังคับนำเข้า 'เครื่องมือแพทย์ใช้แล้ว'
ภาคประชาสังคม-เครือข่ายนักวิชาการ จับตา “เอฟทีเอไทย-อียู” หวั่นหายนะระบบ่สุขภาพ ทำยาแพง-เข้าถึงยาก กำหนด 4 เงื่อนไขผูกขาด-ขยายอายุสิทธิบัตร แถมบังคับนำเข้า “เครื่องมือแพทย์ที่ผ่านการใช้งาน” ย้ำหลักการเจรจาด้านสิทธิบัตร “ไม่ควรเกินกว่าทริปส์”
KEY
POINTS
- ติดตาม“เอฟทีเอไทย-อียู” รอบ 4 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 25 – 29 พ.ย.2567 ชี้ขัดแย้งเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน: ยาแพง เกษตรหนี้เพิ่ม บัตรทองพัง”
- ภาคประชาสังคม-เครือข่ายนักวิชาการ ชี้ “เอฟทีเอไทย-อียู” กระทบระบบสุขภาพ ทำยาแพง-เข้าถึงยายาก กำหนด 4 เงื่อนไขผูกขาด-ขยายอายุสิทธิบัตรยา แถมบังคับนำเข้า “เครื่องมือแพทย์ที่ผ่านการใช้งาน”
- “เอฟทีเอ ไทย-อียู” ทีมเจรจาไทย ต้องยึดผลประโยชน์ประเทศ หลักการสำคัญของการเจรจา ในด้านสิทธิยา ไม่ควรเกินกว่า “ทริปส์” หวั่น หายนะจะเกิดขึ้นกับระบบสุขภาพ
เมื่อวันที่ 25 พ.ย.2567 ที่สำนักงานมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) ภาคประชาสังคมไทย เช่น FTAWatch (เอฟทีเอ ว็อทช์) ,เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ,ครือข่ายเกษตรทางเลือก และเครือข่ายนักวิชาการที่ติดตามการเจรจาเอฟทีเอของไทย แถลงข่าว “เอฟทีเอไทย-อียู ขัดแย้งเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน: ยาแพง เกษตรหนี้เพิ่ม บัตรทองพัง” เนื่องจากการเจรจาเอฟทีเอไทย –อียู(สหภาพยุโรป) รอบ 4 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 25 – 29 พ.ย. 2567
ผูกขาดข้อมูลทางยา
เฉลิมศักดิ์ กิตติตระกูล FTA Watch กล่าวว่า การเจรจาเอฟทีเอไทย-อียูครั้งนี้เป็นรอบที่ 4 หลังก่อนหน้านี้มีการเจรจาเมื่อปลายปี 2566 ซึ่งเนื้อหามีหลายข้อที่น่ากังวลน่าห่วงใย ล้วนแล้วแต่สร้างผลกระทบต่อระบบสุขภาพของประเทศไทย และการเข้าถึงยาของประชาชน
เรื่องยาจะเกี่ยวข้องในบททรัพย์สินทางปัญญา ที่มีความซับซ้อนและเงื่อนไขหลายประการที่อยู่ในเนื้อหาการเจรจาจะเข้มงวดเกินกว่าความตกลงทริปส์ หรือ TRIPs Agreement (Agreement on Trade-Related Aspects of Intellectual Property Rights) ที่เป็นความตกลงว่าด้วยสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับการค้า ซส่วนหนึ่งของข้อตกลงขององค์การการค้าโลก (WTO)
สิ่งที่กังวลในเงื่อนไขที่จะกระทบเรื่องยา คือ 1.มาตรการการผูกขาดข้อมูลทางยา โดยเงื่อนไขที่อียูยื่นมาจะมีข้อห้าม ไม่ให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)รับขึ้นทะเบียนยาถ้ายานั้นกำลังขอจดสิทธิบัตรหรือมีสิทธิบัตรอยู่
หากบริษัทยาอื่นต้องการขึ้นทะเบียนยาต้องมีการวิจัยใหม่ตั้งแต่แรกอาจต้องใช้เวลาหลายปี ขณะที่ปัจจุบันไม่จำเป็นต้องทำ เพียงแต่เทียบให้เห็นว่ายานั้นมีประสิทธิภาพประสิทธิผลเทียบได้กับยาต้นแบบ เมื่อสิทธิบัตริยาหมด บริษัทอื่นก็เอายานั้นออกสู่ตลาดได้
“เนื้อหาการเจรจายังไม่ได้ระบุว่าจะผูกขาดไว้กี่ปี อยู่ที่การเจรจา แต่จะทำให้การผูกขาดยานานขึ้นกว่าอายุสิทธิบัตร โดยใช้เรื่องการขึ้นทะเบียนยามาเป็นเงื่อนไข และเนื้อหาเจรจายังระบุหากมีข้อบ่งใช้ใหม่ เช่น ยามะเร็ง ต่อมาพบว่า รักษาเอชไอวีได้ จะสามารถขอเพิ่มอายุสิทธิบัตรได้อีก 1 ปี เป็นการยืดอายุผูกขาดยาออกไปอีก”เฉลิมศักดิ์กล่าว
ขยายอายุสิทธิบัตรยา
2.ขอให้มีการขยายอายุสิทธิบัตร ซึ่งกฎหมายไทยและสากลจะคุ้มครอง 20 ปีตั้งแต่วันขอจดสิทธิบัตร แต่อียูอ้างเหตุผลอย.พิจารณาขึ้นทะเบียนยาล่าช้า จึงเพิ่มอายุสิทธิบัตรด้วยการลบ 5 ปี เช่น จดสิทธิบัตรปี 2000 ได้ขึ้นทะเบียนยาปี 2010 ก็ให้เริ่มนับอายุการคุ้มครองสิทธิบัตรจากปี 2010-5 คือปี 2005 ซึ่งไม่ควรเป็นเช่นนี้เพราะการคุ้มครองสิทธิบัตรเริ่มตั้งแต่การจดสิทธิบัตรไม่ใช่วันขึ้นทะเบียนยา 3.สูตรยา ที่รักษาในเด็กได้ด้วย ให้ขยายอายุสิทธิบัตรได้
4.การทำซีแอลจะทำไม่ได้ ซึ่งซีแอลเป็นการให้สิทธิกับรัฐบาลระงับการคุ้มครองสิทธิบัตรชั่วคราวแล้วนำเข้าหรือผลิตยานั้นเองในราคาที่ถูกกว่าได้ เพราะยาที่จะทำซีแอลต้องมาขึ้นทะเบียนกับอย.ด้วย แต่เงื่อนไขที่ผูกขาดทางยาจะไม่สามารถขึ้นทะเบียนยาที่ทำซีแอลได้
“โดยเบ็ดเสร็จแล้วเป็นการขยายอายุสิทธิบัตรยา หมายความว่าคนไทยไม่สามารถใช้ยาถูกลง ล่าสุดคุยกับเจ้าหน้าที่กรมทรัพย์สินทางปัญหา แจ้งว่าอียูว่าการขยายสิทธิบัตร ขอเฉพาะวัตถุดิบที่ผลิตยาแค่นั้น แต่ตรงนี้เป็นหัวใจสำคัญจะผลิตยาได้หรือไม่ได้ ถ้าผูกขาดวัตถุดิบผลิตยาและยืดอายุสิทธิบัตรยาด้วย ทำให้ยาของบริษัทยาอื่นจะขายไม่ได้เลย”เฉลิมศักดิ์กล่าว
ต้องไม่ตัดรัฐจัดซื้อจัดจ้างบัญชีนวัตกรรม
นิมิตร์ เทียนอุดม คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(บอร์ดสปสช.) สัดส่วนภาคประชาชน กล่าวว่า ไทยมีกฎหมายในการการจัดซื้อจัดจ้างภาคัรฐ ถ้าผลิตภัณฑ์อยู่ในบัญชีนวัตกรรมไทยที่มีการปรับทุกปี การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐต้องพิจารณาบัญชีนวัตกรรมอย่างน้อย 20-30 % ต้องใช้จากบัญชีนี้ เพื่อให้เกิดการพัฒนา สนับสนุนวิจัยในไทย และต่อยอดได้ แต่การเจรจาเอฟทีเอไทย-อียู บอกว่า ห้ามไม่ให้ดำเนินการเรื่องนี้ ที่เป็นเหมือนแต้มต่อการจัดจัดซื้อจัดจ้างของนักวิจัยในไทย
“ถือเป็นเรื่องใหญ่และไม่สมควรอย่างยิ่ง เพราะช่วงชั้นการพัฒนาของไทยยังต่างจากอียู ไทยจำเป็นต้องมีมาตรการในการส่งเสริมนักวิจัย สถาบันวิจัยคิดค้นให้สามารถพึ่งตัวเองในเรื่องยา อุปกรณ์การแพทย์ วัคซีน เพื่อให้เกิดความมั่นคง และทีมเจรจาไทยต้องเจรจาว่า ถ้าบริษัทข้ามชาติมีการจัดซื้อจัดจ้างนำเข้ามาเมืองไทยจะขาย ต้องมีเรื่องการถ่ายทอดเทคโนโลยีด้วย”นิมิตร์กล่าว
บังคับนำเข้าเครื่องมือแพทย์ใช้แล้ว
มลฤดี โพธิ์อินทร์ นักวิชาการด้านอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ สภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า ไทยจะถูกบังคับให้นำเข้าเครื่องมือแพทย์ใช้แล้วที่ผ่านกระบวนการผลิตซ้ำหรือผลิตใหม่ แต่ประเทศไทยยังไม่มีระบบตรวจสอบคุณภาพมาตรฐานความปลอดภัยของเครื่องมือแพทย์ที่ผ่านการใช้งานแล้ว
นอกจากนี้ เรื่องการนำเข้าอาหารนั้น ไทยยังไม่มีระบบที่รัดกุมเรื่องตรวจสอบการขึ้นทะยีนหรือฉลากภาษาไทย ไม่มีระบบตรวจสอบย้อนกลับคุณภาพอาหาร ณ ด่านนำเข้า ,ไม่แจ้งผลให้ผู้บริโภคทราบ และถ้าเจอไม่มีระบบเรียกคืน
รวมถึง การค้าออนไลน์ ต้องมีระบบให้ผู้ค้าต่างประเทศจะแสดงยืนยันตัวตนทางออนไลน์และอยู่ในระบบระเบียบกติกาของประเทศไทยมองว่าถ้าเปิดการค้าและนำเข้าต้องมีระบบเหล่านี้ก่อน
ต้องไม่ยอมรับเกินกว่าทริปส์
อภิวัฒน์ กวางแก้ว รองประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย กล่าวว่า เราไม่เห็นด้วยกับการเจรจาเอฟทีเอไทย-อียูในครั้งนี้ เนื่องจากมีข้อตกลง ที่เป็นอุปสรรคมากของผ็ป่วยในประเทศทุกโรค โดยช่วงโควิด 19 ระบาด อียูมีปัญหาการเข้าถึงยา ซึ่งอียูพยายามแก้กฎหมาย ปรับปรุงลดอุปสรรคให้ประชากรตัวเองเข้าถึงยาและวัคซีน ด้วยการแก้ปฎหมายให้ประกาศซีแอลง่ายขึ้น แต่การเจรจากับประเทศไทย กลับเสนอข้อตกลงเกินทริปส์เต็มไปหมด เป็นการกระทำที่ 2 มาตรฐานและเลือกปฏิบัติกับบางประเทศคู่เจรจา
“เจรจาต้องระมัดระวัง เพราะมีจุดอ่อนไหวหลายจุด ทีมเจรจาต้องเจรจาภายใต้จุดยืนประโยชน์ของประเทศไทย หากยอมรับข้อตกลงที่เกินกว่าทริปส์ หายนะจะเกิดขึ้นกับระบบสุขภาพและเป็นอันตรายกับประชาชนที่จะเข้าถึงยา หรือการรักษา อุปสรรคจะเกิดขึ้นกับคนในประเทศไทย”อภิวัฒน์กล่าว
ด้านนันทวัน หาญดี เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก (ประเทศไทย)กล่าวว่า เครือข่ายเกษตรกรรมฯขอยืนยันไม่เห็นด้วยและคัดค้านการเข้าร่วมการเจรจาการค้า เอฟทีเอไทย – อียูที่ต้องยอมรับ เงื่อนไขของการเข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญา UPOV (ยูปอฟ) 1991 ซึ่งเป็นอนุสัญญาระหว่าง ประเทศ ที่มุ่งเน้นเรื่องการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ โดยให้สิทธิเด็ดขาดในพันธุ์พืชใหม่แก่นักปรับปรุงพันธุ์ เป็นการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา ด้านพืช ภายใต้ข้อบททรัพย์สินทางปัญญา
“ผลการศึกษาของทีดีอาร์ไอระบุว่า ไทยขาด ความเหมาะสมหรือไม่ควรที่จะเข้าเป็นสมาชิก UPOV 1991โดยสิ้นเชิง เพราะไทยถือเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ ค่อนข้างมาก เช่นเดียวกับรายงานคณะกรรมาธิการ วิสามัญผลกระทบการเข้าร่วม CPTPP ที่ชี้ว่าเป็นประเด็นที่อ่อนไหวมากและผลกระทบรุนแรง”นันทวันกล่าว
ศ.ดร.นิทัศน์ ศิริโชติรัตน์ สถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ เห็นว่า การค้าระหว่างประเทศควรส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืน ดังนั้นกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์และทีมเจรจาฝ่ายไทย มีบทบาทสำคัญ ในการขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืน
และป้องกันไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ สังคม และสุขภาพ จาก ตัวกำหนดพาณิชย์ที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ (Commercial Determinants of Health) โดย ผลิตภัณฑ์ 4 ประเภท คือ สุรา ยาสูบ อาหารแปรรูป พลังงานจากฟอสซิล จึงจะต้องไม่ยอมให้เกิดการแทรกแซงนโยบายและการครอบงำเพื่อโน้มน้าวผู้กำหนดนโยบายให้เอื้อต่อภาคธุรกิจมากกว่าประโยชน์สาธารณะ